การเดินทางของภูมิปัญญาการทอผ้าสู่ชุมชนวังชะโอนน้อย

ภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอดีต เป็นดินแดนที่ถูกขนานนามว่าแห้งแล้งและยากแค้นขัดสนมากที่สุดพื้นที่หนึ่งในประเทศไทย ดังเนื้อร้องเพลงหนึ่งในอดีตที่ว่า “บนฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย”อาชีพหลักของคนในภูมิภาคนี้คือการทำนา ซึ่งต้องอาศัยฟ้าฝนและธรรมชาติ หากแต่ฤดูกาลไหนไม่เอื้ออำนวยผลผลิตทางการเกษตรไม่เป็นดังที่คาดหวังไว้ก็ต้องอาศัยการอพยพย้ายถิ่นฐานหรือไปขายแรงงานในต่างจังหวัดห่างไกลซึ่งจะพบได้มากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

นางหนูพิศ เครือเผื่อ อายุ65ปี ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าพื้นเมือง ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ หมู่ที่ 6 บ้านวังชะโอน ตำบลวังชะโอน อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร เล่าว่าในอดีตเคยอาศัยอยู่ที่ตำบลนิคม อำเภอสะตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ในปี พ.ศ.2503 เนื่องจากเกิดปัญหาความแห้งแร้งยากจน การทำนาข้าวก็ไม่ได้ผลผลิตที่ต้องการทำให้ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ตลอดจนเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องในพื้นที่ จำนวน 32 ครัวเรือน ชักชวนกันอพยพย้ายถิ่นฐานมายังจังหวัดกำแพงเพชร โดยอาศัยการขึ้นรถไฟมาลงที่จังหวัดนครสวรรค์และต่อรถและเดินเท้าเข้ามายังจังหวัดกำแพงเพชรผ่านเส้นทางการเดินรถลากไม้(การสัมปทานป่าไม้)ในสมัยก่อน จนมาพบพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ณ หมู่บ้านวังชะโอนน้อย (ในอดีตเล่าว่าเป็นพื้นที่ ที่มีปลาชะโอนหรือปลาเนื้ออ่อนอาศัยอยู่มากมายจึงนำมาตั้งชื่อเป็นหมู่บ้าน)ในปัจจุบัน

การทอผ้าในอดีต จะเป็นการทอผ้าฝ้ายไว้ใช้เองทุกครัวเรือน ฝ้ายจะถูกปลูกในที่นา แม่จะพาลูกสาวไปเก็บฝ้ายและนำมาสอนลูกสาวทอผ้า ต่อมาจึงเริ่มมีการทอผ้าไหมกันขึ้น โดยเริ่มจากการปลูกต้นหม่อนเพื่อนำมาเลี้ยงไหม และนำเส้นไหมมาย้อม สีธรรมชาติแล้วจึงนำมาทอเป็นผ้าไหม วัฒนธรรมการทอผ้าไหมเข้ามาแทนที่การทอผ้าฝ้าย เพื่อใช้ใส่ในเทศกาลงานบุญต่างๆแทน นอกจากทอผ้าไหมเพื่อใส่ในงานทำบุญแล้ว ผ้าไหมเป็นสิ่งของรับไหว้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายในพิธีแต่งงาน หญิงสาวทุกคนจึงต้องเรียนรู้ การทอผ้าไหม เพราะในอดีตผ้าไหมไม่มีขายต้องทอกันเอง จึงเป็นภูมิปัญญาที่ถูกสืบต่อมาจากรุ่นปู่ย่า ตายาย จนมาถึงตัวของนางหนูพิศ เครือเผื่อ ในปัจจุบัน ในช่วงแรกจะเป็นการทอผ้าใช้เองโดยถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการผลิตแบบพอยังชีพแต่ในปัจจุบันการทอผ้าถูกมุ่งเน้นสู่การผลิตเพื่อตอบสนองธุรกิจชุมชนตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จากการรวมตัวกลุ่มสตรีในชุมชนบ้านวังชะโอนน้อยและการสนับสนุนของ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบึงสามัคคี ได้ดำเนินการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพรูปแบบต่างๆโดยมี นางหนูพิศ เครือเผื่อ ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ที่ได้สืบทอดมาจากอดีตตามเส้นทางการอพยพย้ายถิ่นฐานมาจนถึงปัจจุบัน โดยคาดหวังว่าความรู้ที่ได้รับและสั่งสมมาจะสามารถถ่ายทอดให้คนรุ่นลูกหลานในปัจจุบัน สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพเสริมและรายได้ให้คนในชุมชนบ้านวังชะโอนน้อยได้สืบไป