ประเพณีบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติ

วัดทุ่งสนุ่นรัตนาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ 27 ไร่ 2 งาน 36 ตารางวา ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งสนุ่น หมู่ที่ 4 ตำบลระหาน อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร เริ่มสร้างวัดเมื่อ พ.ศ. 2495 โดยเป็นชาวบ้านซึ่งมีเชื้อสายลาวเวียง ได้อพยพจากจังหวัดราชบุรี มาตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มแรก ตามด้วยลาวครั่งจากจังหวัดนครปฐม และชาวอีสาน จากจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น อพยพมาสมทบกันจับจองที่ดินเพื่อทำมาหากินที่บริเวณอำเภอขาณุวรลักษบุรี (บริเวณ อำเภอบึงสามัคคีในปัจจุบัน) ซึ่งในขณะนั้นบริเวณนี้ยังเป็นป่าดงดิบเต็มไปด้วยสัตว์ป่า อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำ และมีต้นสนุ่น (ใคร้นุ่น) เกิดอยู่เต็มท้องทุ่งนา ชาวบ้านจึงเรียกขานบ้านตนเองว่า “บ้านทุ่งสนุ่น”ปัจจุบันมีท่านพระมหาอภิชาติ กิตฺติวรญฺญู เจ้าอาวาสวัดทุ่งสนุ่นรัตนาราม อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร โดยท่าน เป็นผู้ มีจัดงานประเพณี บุญผะเหวดเทศน์มหาชาติเทศกาลบุญใหญ่ไทยอีสาน-ล้านช้างแห่งลุ่มน้ำปิงขึ้นทุกปีและที่ถือว่าจัดได้ยิ่งใหญ่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอำเภอบึงสามัคคี

คำว่า ผะเหวด""นั้นเป็นการออกเสียงตามสำเนียงอีสาน มาจากคำว่า"พระเวส"หมายถึงพระเวสสันดร งานบุญผะเหวดเป็นหนึ่งในประเพณี 12 เดือน หรือฮีตสิบสองของชาวอีสาน (การทำบุญประเพณี 12 เดือน) โดยประเพณีนี้จะจัดขึ้นในเดือนที่ 4 ของไทยหรือเดือนมีนาคม โดยกำหนดจัดงานในวันเสาร์และอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคมทุกปีประเพณีบุญผะเหวดหรือบุญเดือนสี่นั้น สะท้อนให้เห็นถึง ความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนาซึ่งชาวอีสานยึดถือและปฏิบัติกันมาช้านานและอย่างเคร่งครัด เพราะถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ที่สุดก็ว่าได้

ในการจัดงานบุญผะเหวดของวัดทุ่งสนุ่นรัตนรามนั้นมีการเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดกหรือเทศน์มหาชาติ มีจำนวนทั้งหมด 13 กัณฑ์ โดยชาวอีสานมีความเชื่อว่าถ้าหากว่าฟังเทศน์ครบทั้งหมดวันเดียว และจัดเตรียมเครื่องคาย (บูชา) ได้ถูกต้อง ก็จะได้เกิดในศาสนาพระอริยเมตไตรย ภายในงานยังจัดให้มีงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ ก่อเจดีย์ข้าวเปลือก สู่ขวัญข้าว เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวนา ซึ่งงานบุญผะเหวดวัดทุ่งสนุ่นรัตนาราม สร้างเจดีย์ข้าวเปลือก แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อพระแม่โพสพ บุญนี้จะส่งผลให้ผลผลิตในปีต่อๆไป ข้าวจะงอกงามดียิ่งขึ้น จะมีความสมบูรณ์มาสู่หมู่บ้านของตนมีกับถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันเป็นจำนวนมากโดยภายในงานนี้มีขบวนแห่นางรำยาวจากทุกหมู่บ้าน พร้อมทั้งอำเภอใกล้เคียง ร่วมขบวนยาวเกือบกิโลเมตร ที่ชาวได้ประดิษฐ์ท่ารำฟ้อนพวงมาลัยขึ้นมาใหม่ จะต้องอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรม และจะเผยแพร่ต่อไปจนสู่ลูกหลาน อีกทั้งยังมีขบวนแห่แม่โพสพ ที่ตบแต่งด้วยรวงข้าวอย่างสวยงาม และขบวนช้างที่สวยงาม มีพระเจ้าสัญชัยและพระเวสสันดร นั่งบนหลังช้างมาด้วย ซึ่งขบวนช้างที่ตบแต่งทาสีด้วยสีชมพูสดใสสวยงามเป็นที่ถูกอกถูกใจกับเด็กๆและนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมซึ่งถือได้ว่าเป็นการอนุรักษ์สืบสาน ศิลปะ วัฒนธรรมตามแบบโบราณอีสานล้านช้าง อีกทั้งจัดงานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนให้มีชีวิตชีวา โดยอาศัยหลักสามัคคีธรรม และความเสียสละช่วยกันจัดงานระหว่างบ้าน วัด ราชการ ตรงตามหลักของ บวร อย่างแท้จริง