ประวัติความเป็นมา

อุทยานเมืองเก่าพิจิตร

ที่ตั้ง หมู่ที่ ๔ บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร

ผู้รับผิดชอบ องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองเก่า เบอร์โทรศัพท์

หน่วยงานสนับสนุน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ๐-๕๖๖๑-๒๖๗๕-๖

เชื่อว่าเป็นเมืองพิจิตรเก่าสร้างในสมัยพระยาโคตรบอง ประมาณปี พ.ศ. ๑๖๐๑ ภายในบริเวณกำแพงเมืองมีพื้นที่ประมาณ ๔๐๐ ไร่เศษ มีลักษณะเป็นเมืองโบราณประกอบด้วยกำแพงเมือง คูเมือง เจดีย์เก่าฯลฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๗ กิโลเมตร ตามเส้นทางสายพิจิตร-วังจิก(ทางหลวงหมายเลข ๑๐๖๘) ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ กรมป่าไม้ ได้ดำเนินการจัดตั้ง เป็นสวน รุกขชาติและได้ตั้งชื่อว่า “สวนรุกขชาติกาญจนกุมาร” ทำให้ภายในบริเวณอุทยานแห่งนี้มีต้นไม้ที่ให้ความร่มรื่น หลายชนิดเหมาะแก่การไปเที่ยวพักผ่อนหย่อยใจยิ่งนัก ภายในอุทยานมีสถานที่น่าสนใจ คือ

ศาลหลักเมือง อาคารแบ่งออกเป็น ๒ ชั้น คือ ด้านบนจะเป็นที่ตั้งของศาลหลักเมืองส่วนด้านล่างจะเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของพระยาโคตรบอง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “พ่อปู่” สภาพโดยรอบศาลจะมีต้นไม้มากมายดูร่มรื่นเย็นตา และมีศาลสำหรับให้นักท่องเที่ยวพักผ่อนอีกด้วย

ถ้ำชาลวัน มีที่มาจากพระราชนิพนธ์ บทละครนอก เรื่อง“ไกรทอง” ของรัชการที่ ๒ มีเรื่องเล่าว่าเมื่อประมาณ ๖๕ ปี มาแล้ว พระภิกษุวัดนครชุมรูปหนึ่ง จุดเทียนไขเดินเข้าไปในถ้ำจนเทียนหมดเล่มหนึ่ง ก็ยังไปไม่ถึงก้นถ้ำ แต่ปัจจุบันลักษณะถ้ำกว้างเพียง ๑ เมตร ยาว ๑.๕ เมตร ลึก ๔ เมตร อันเนื่องมาจากความชุดโทรมตามกาลเวลา ทางจังหวัดได้สร้างรูปปั้นไกรทอง และชาลวัน ไว้ที่บริเวณปากถ้ำด้วย

เกาะศรีมาลา มีลักษณะเป็นมูลดินคล้ายเกาะเล็ก ๆ อยู่กลางคูเมืองนอกกำแพงเก่า มีคูล้อมรอบเกาะ แต่ตื้นเขิน สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะเป็นป้อมหรือหอคอยรักษาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะตั้งอยู่นอกเมือง และอยู่กลางคูเมือง

วัดมหาธาตุ โบราณสถานที่เห็นได้ชัดของวัดมหาธาตุ คือ เจดีย์ทรงลังกา ซึ่งเรียกกันว่า “พระธาตุเจดีย์” ส่วนพระอุโบสถ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระมหาธาตุเจดีย์นั้นมีรากไทรเกาะอยู่ที่หน้าบัน หลังคาถูกต้นไม้ล้มทับ หักลงมาองค์พระก็พลอยโค่นลงมาด้วย บัดนี้เหลือแต่ฐานอิฐสูง เมื่อครั้งกรมศิลปากร ขุดแต่โบราณสถานได้พบซากกำแพงและวิหาร ๙ ห้อง

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ศาลากลางจังหวัดพิจิตรหลังเดิม

ศาลหลักเมือง

วัดมหาธาตุ

ถ้ำชาละวัล

เกาะศรีมาลา