เนื้อหาบทเรียน

อุทยานเมืองเก่าพิจิตร

อุทยานเมืองเก่าพิจิตร ตั้งอยู่ที่ ตำบลโรงช้าง อำเภอเมืองฯ จังหวัดพิจิตร ห่างจากตัวเมือง 7 กิโลเมตร เชื่อกันว่า ที่นี่คือที่ตั้งของ เมือง พิจิตรเก่า ซึ่งสร้างในสมัยพระยาโคตรบอง ประมาณปี พ.ศ.1601 สังเกตได้จากภายในบริเวณกำแพงเมืองมีพื้นที่ประมาณ 400 ไร่เศษนั้น มีลักษณะเป็นเมืองโบราณ ประกอบไปด้วย กำแพงเมือง คูเมือง เจดีย์เก่า ฯลฯ มีสวนรุกขชาติกาญจนกุมารซึ่งกรมป่าไม้ได้ จัดตั้ง ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2520 ทำให้พื้นที่ภายในความร่มรื่น เหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ



สิ่งที่น่าสนใจในอุทยานเมืองเก่า

ศาลหลักเมือง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2520 อาคารแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ด้านบนจะเป็นที่ตั้งของศาลหลักเมือง ส่วนด้านล่างจะเป็นที่ประดิษฐาน รูปปั้นของพระยาโคตรบองซึ่งชาวบ้านเรียกว่า พ่อปู่ สภาพโดยรอบศาลจะมีต้นไม้มากมายดูร่มรื่นเย็นตา ในบริเวณยังมีศาลาสำหรับ นักท่องเที่ยวพักผ่อนอีกด้วย


วัดมหาธาตุ

เป็นโบราณสถานก่อด้วยอิฐที่ตั้งอยู่กึ่งกลางเมืองพิจิตรเก่า ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านเก่า ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น โบราณสถาน สำคัญของชาติ ไม่ควรพลาดชม พระธาตุเจดีย์ เจดีย์ทรงลังกาซึ่งภายในมีพระเครื่องชนิดต่างๆ ซึ่งได้ถูกลักลอบขุดค้นไป ด้านหน้า พระเจดีย์คือวิหารเก้าห้อง ด้านหลังพระเจดีย์เป็นพระอุโบสถ มีใบเสมา 2 ชั้น ดูขรึมขลังจากรากไทรที่เกาะอยู่หน้าบัน บริเวณใต้เนิน ดินส่วนวิหารยังพบสิ่งก่อสร้าง 2 ยุคสมัยคือสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา รวมทั้งเจดีย์รายจำนวนมากและ แนวกำแพง ขนาดใหญ่


ถ้ำชาละวัน

อยู่ข้างวัดมหาธาตุ สัมผัสวรรณคดีชื่อดังเรื่องไกรทอง บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 2 ได้ที่นี่ โดยมีลักษณะเป็นถ้ำลึกลงไปในดิน ด้านหน้ามีรูปปั้นไกรทองและชาละวันที่ทางจังหวัดได้สร้างไว้ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อประมาณ 65 ปีมาแล้ว พระภิกษุวัดนครชุมรูปหนึ่ง จุดเทียนไขเดินเข้าไปในถ้ำจนหมดเทียนเล่มหนึ่งก็ยังไม่ถึงก้นถ้ำจึงไม่ทราบว่าภายในถ้ำชาละวันจะสวยงามวิจิตรพิสดารเพียงใด ปัจจุบันดินพังทลายทับถมจนตื้นเขิน


เกาะศรีมาลา

เป็นมูลดินคล้ายเกาะเล็กๆ กลางคูเมืองนอกกำแพงเก่า มีคูล้อมรอบเกาะแต่ตื้นเขิน สันนิษฐานว่าแต่เดิมน่าจะเป็นป้อม หรือหอคอย รักษาการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกาะศรีมาลา เป็นมูลดินคล้ายเกาะเล็กๆ กลางคูเมืองนอกกำแพงเก่า มีคูล้อมรอบเกาะแต่ตื้นเขิน สันนิษฐานว่าแต่เดิมน่าจะเป็นป้อม หรือหอคอยรักษาการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง




การเดินทางใช้เส้นทางสายพิจิตร-สามง่าม-วังจิก ทางหลวงหมายเลข 115 และ ทางหลวงหมายเลข 1068 ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 6