แผนการจัดการการเรียนรู้เรื่อง......

1. เรื่อง: สมบัติของสารในสถานะของแข็งของเหลวและแก๊ส ระดับชั้น: ประถมศึกษาปีที่ 6

2.กิจกรรมการสอน (รูปแบบการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน)

  • ขั้นนำ

1.1 ครูตั้งคำถามนักเรียนต่อไปนี้

-นักเรียนเคยสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวเองหรือไม่ว่ามีอะไรบ้าง

-ให้นักเรียนยกตัวอย่างสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวนักเรียนอย่างน้อยคนละ 5 ชนิด

-นักเรียนทราบหรือไม่ว่า สิ่งต่างๆ ที่นักเรียนยกตัวอย่างมานั้นเรียกว่าอะไร และมีคุณสมบัติอย่างไร และแต่ละสิ่งมีความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร

1.2 สังเกตวัสดุสิ่งของเครื่องใช้ที่ทำด้วยวัสดุต่างๆ และอยู่ในสถานะต่างๆ เช่น น้ำ ปากกา ยาสีฟัน สบู่ แป้ง น้ำปลา น้ำอัดลม ลูกโป่ง แล้วช่วยกันคิดและวิเคราะห์ด้วยคำถามต่อไปนี้

-สิ่งที่นักเรียนสังเกตเห็นเป็นสารหรือไม่

-สารมีสมบัติอย่างไร

-สารมีกี่สถานะ อะไรบ้าง

-ถ้านักเรียนต้องการจัดกลุ่มของสารต่างๆ จากวัสดุสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน จะจัดได้เป็นกี่กลุ่ม และใช้เกณฑ์อะไรในการจัดกลุ่ม

1.3 นักเรียนดูVDO Clip เกี่ยวกับสถานะของแข็ง ของเหลว และแก๊ส และร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับสมบัติของของแข็ง ของเหลว และแก๊ส และฝึกตั้งคำถามจาก Clip เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การทำกิจกรรมการทดลองเพื่อหาคำตอบ

  • ขั้นสอน

2.1 นักเรียนแต่ละกลุ่มศึกษาใบความรู้เรื่อง สมบัติของสารในสถานะของแข็ง ของเหลว และแก๊ส

2.2 นักเรียนแต่ละกลุ่มศึกษาใบงานที่ 1 สมบัติของสารในสถานะของแข็ง ของเหลว และแก๊ส

2.3 นักเรียนแต่ละกลุ่มออกแบบการทดลอง ตรวจสอบอุปกรณ์การทดลอง และร่วมทำการทดลองและสรุปผล


  • ขั้นสรุป

3.1 ตัวแทนนักเรียนแต่ละกลุ่มรายงานผลการทดลอง จากนั้นครูและนักเรียนร่วมกันสรุปผลการทดลอง ดังนี้ “สารในแต่ละสถานะมีสมบัติแตกต่างกัน คือ รูปร่าง ปริมาตร และแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลของสาร” และเรียกลักษณะเฉพาะนี้ว่า “สมบัติของสาร”

3.2 นักเรียนและครูร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับสมบัติของสารในสถานะของแข็ง ของเหลว และแก๊ส ดังนี้

-ของแข็ง อนุภาคในของแข็งอยู่ชิดกันมาก และมีการจัดเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบทำให้เคลื่อนไหวได้น้อยมาก ของแข็งจึงสามารถรักษารูปร่างและปริมาตรให้คงที่ได้

-ของเหลว อนุภาคในของเหลวมีการจัดเรียงตัวอยู่ห่างกันกว่าในของแข็ง และไม่เป็นระเบียบเหมือนในของแข็ง ทำให้อนุภาคเคลื่อนไหวได้มากกว่าในของแข็ง ของเหลวจึงไม่สามารถรักษารูปร่างให้คงที่ได้ โดยรูปร่างจะเปลี่ยนแปลงไปตามภาชนะบรรจุ

-แก๊ส ส่วนในแก๊สจะมีที่ว่างระหว่างอนุภาคมากกว่าในของเหลวและของแข็งจึงทำให้อนุภาคเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระทุกทิศทาง แก๊สจึงไม่สามารถรักษารูปร่างและปริมาตรให้คงที่ได้โดยรูปร่างและปริมาตรของแก๊สจะเปลี่ยนแปลงไปตามรูปร่างและปริมาตรของภาชนะที่บรรจุ

3.3 นักเรียนและครูช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องจากกิจกรรมในแบบบันทึกกิจกรรมการทดลอง

โดยเลือกแนวคิดที่ 3 ในการจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน ที่ปรับจากการศึกษาการจัดการเรียนรู้แบบ PBL ที่ได้จากโครงการสร้างชุดความรู้เพื่อสร้างเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของเด็กและเยาวชน: จากประสบการณ์ความสำเร็จของโรงเรียนไทย ของ ดุษฎี โยเหลาและคณะ (2557) โดยมีทั้งหมด 6 ขั้นตอน ดังนี้

1. ขั้นให้ความรู้พื้นฐาน ครูให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำโครงงานก่อนการเรียนรู้ เนื่องจากการทำโครงงานมีรูปแบบและขั้นตอนที่ชัดเจนและรัดกลุม ดังนั้นนักเรียนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับโครงงานไว้เป็นพื้นฐาน เพื่อใช้ในการปฏิบัติขณะทำงานโครงงานจริง ในขั้นแสวงหาความรู้

2. ขั้นกระตุ้นความสนใจ ครูเตรียมกิจกรรมที่จะกระตุ้นความสนใจของนักเรียน โดยต้องคิดหรือเตรียมกิจกรรมที่ดึงดูดให้นักเรียนสนใจ ใคร่รู้ ถึงความสนุกสนานในการทำโครงงานหรือกิจกรรมร่วมกัน โดยกิจกรรมนั้นอาจเป็นกิจกรรมที่ครูกำหนดขึ้น หรืออาจเป็นกิจกรรมที่นักเรียนมีความสนใจต้องการจะทำอยู่แล้ว ทั้งนี้ในการกระตุ้นของครูจะต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนเสนอจากกิจกรรมที่ได้เรียนรู้ผ่านการจัดการเรียนรู้ของครูที่เกี่ยวข้องกับชุมชนที่นักเรียนอาศัยอยู่หรือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

3. ขั้นจัดกลุ่มร่วมมือ ครูให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกันแสวงหาความรู้ ใช้กระบวนการกลุ่มในการวางแผนดำเนินกิจกรรม โดยนักเรียนเป็นผู้ร่วมกันวางแผนกิจกรรมการเรียนของตนเอง โดยระดมความคิดและหารือ แบ่งหน้าที่เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน หลังจากที่ได้ทราบหัวข้อสิ่งที่ตนเองต้องเรียนรู้ในภาคเรียนนั้นๆเรียบร้อยแล้ว

4. ขั้นแสวงหาความรู้ ในขั้นแสวงหาความรู้มีแนวทางปฏิบัติสำหรับนักเรียนในการทำกิจกรรม ดังนี้

นักเรียนลงมือปฏิบัติกิจกรรมโครงงาน ตามหัวข้อที่กลุ่มสนใจ

นักเรียนปฏิบัติหน้าที่ของตนตามข้อตกลงของกลุ่ม พร้อมทั้งร่วมมือกันปฏิบัติกิจกรรม โดยขอคำปรึกษาจากครูเป็นระยะเมื่อมีข้อสงสัยหรือปัญหาเกิดขึ้น

นักเรียนร่วมกันเขียนรูปเล่ม สรุปรายงานจากโครงงานที่ตนปฏิบัติ

5. ขั้นสรุปสิ่งที่เรียนรู้ ครูให้นักเรียนสรุปสิ่งที่เรียนรู้จากการทำกิจกรรม โดยครูใช้คำถาม ถามนักเรียนนำไปสู่การสรุปสิ่งที่เรียนรู้

6. ขั้นนำเสนอผลงาน ครูให้นักเรียนนำเสนอผลการเรียนรู้ โดยครูออกแบบกิจกรรมหรือจัดเวลาให้นักเรียนได้เสนอสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้ เพื่อให้เพื่อนร่วมชั้น และนักเรียนอื่นๆในโรงเรียนได้ชมผลงานและเรียนรู้กิจกรรมที่นักเรียนปฏิบัติในการทำโครงงาน