Mine Closure Planning

By Panlop Hattagosol

คู่มือการวางแผนปิดเหมือง

(Mine Closure Planning Guideline)

ในปัจจุบันได้มีความตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทั้งระบบนิเวศและชุมชนมากขึ้น ทำให้การปิดเหมืองนั้นไม่ใช่เป็นเพียงการยุติการขุดแร่ รื้อถอนเครื่องจักร อาคารโรงงาน และปลูกพืชเพื่อฟื้นฟูสภาพที่ดินเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการพัฒนาพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้วให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์อื่นได้อย่างยั่งยืน มีการจัดสรรทรัพยากรในการจัดการ รวมทั้งให้เจ้าของพื้นที่ที่จะรับมอบดูแลพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนการปิดเหมืองด้วย

้การวางแผนการปิดเหมือง ครอบคลุมตั้งแต่

  • การรื้อถอน (Decommissioning)

  • การฟื้นฟูพื้นที่ (Rehabilitation) และ

  • การติดตามประเมินผล (Monitoring)

โดยมีการวางแผนดำเนินงานในรายละเอียดให้สอดคล้องกันทั้งสามด้าน และมีความจำเป็นจะต้องคาดการณ์และวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดผลกระทบขึ้นตามสภาพของแต่ละพื้นที่ย่อยที่ถูกใช้ในกิจกรรมทำเหมือง ทั้งนี้เพื่อกำหนดเป็นมาตรการลดผลกระทบภายหลังปิดเหมืองไว้ในแผน

วัตถุประสงค์ของแผนปิดเหมือง

วัตถุประสงค์หลัก คือการทำให้พื้นที่ภายหลังการทำเหมืองมีความปลอดภัยทางกายภาพต่อมนุษย์และสัตว์ มีความมั่นคงทางด้านธรณีเทคนิค มีความปลอดภัยทางด้านธรณีเคมี พื้นที่ไม่มีการปนเปื้อน และสามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืนของการใช้ประโยชน์พื้นที่ภายหลังการปิดเหมือง รวมทั้งลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจสังคมที่จะเกิดขึ้นกับคนงานและชุมชนในท้องถิ่น ดังนั้นการวางแผนและดำเนินการเพื่อปิดเหมือง มีวัตถุประสงค์ดังนี้

1. สร้างความมั่นใจว่าเหมืองที่ปิดตัวลงจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชุมชน ทั้งด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย

2. ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและชีวภาพในภายหลังจากการปิดเหมือง และพื้นที่มีความเสถียรทางกายภาพและทางเคมี

3. ทำให้สภาพพื้นที่กลับคืนสู่สถานะเดิมมากที่สุด หรืออยู่ในสภาพของทางเลือกที่เป็นที่ยอมรับของสังคม เพื่อให้เจ้าของพื้นที่สามารถรับมอบและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม ลดค่าใช้จ่ายและความต้องการในการบำรุงรักษาพื้นที่ และการติดตามประเมินผลในระยะยาว

4. ลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจสังคมต่อคนงานและชุมชนในท้องถิ่น

ในกรณีสภาพพื้นที่เอื้ออำนวย และสอดคล้องกับความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย พื้นที่ควรได้รับการพัฒนาให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจสังคมได้ดีขึ้นกว่าเดิม และมีความยั่งยืน



กระบวนการจัดทำแผนปิดเหมือง

กระบวนการจัดทำแผนปิดเหมืองกับการมีส่วนร่วมและประเมินความเสี่ยง

คู่มือการวางแผนปิดเหมืองอย่างยั่งยืน

การบูรณาการแผนปิดเหมืองไปพร้อมกับแผนทำเหมือง และการจัดการสิ่งแวดล้อมภายหลังปิดเหมือง

คู่มือการวางแผนปิดเหมืองอย่างยั่งยืน 2021-08-25.pdf