ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น

  • ประเพณีรับบัว

ประเพณีรับบัวเป็นประเพณีเก่าแก่สิบทอดกันมาแต่โบราณ ของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยจัดงานทุกวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี โดยในสมัยก่อน อำเภอบางพลี มีประชาชนอาศัยอยู่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ คนไทย คนลาว และคนรามัญ (ชาวมอญพระประแดง) ทุกกลุ่มชนต่างทำมาหากินและอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่นเสมือนญาติมิตร

ประเพณีรับบัว เกิดขึ้นเพราะความมีน้ำใจที่ดีต่อกันระหว่างคนในท้องถิ่นกับคนมอญพระประแดงซึ่งทำนาอยู่ที่ตำบลบางแก้ว ในช่วงออกพรรษาจะกลับไปทำบุญที่อำเภอพระประแดง ได้เก็บดอกบัวเพื่อบูชาพระหรือถวายแด่พระสงฆ์และฝากเพื่อนบ้าน

ในปีต่อมา ชาวอำเภอเมือง และชาวอำเภอพระประแดง ต่างพร้อมใจกันพายเรือมาเก็บดอกบัวที่อำเภอบางพลีและถือเป็นโอกาสอันดีในการนมัสการองค์หลวงพ่อโต อีกทั้งระยะทางระหว่างที่อำเภอพระประแดงกับอำเภอบางพลีไกลกันมาก เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินเรือแต่ละลำจะร้องรำทำเพลงมาตลอดเส้นทาง

สำหรับการแห่หลวงพ่อโตทางน้ำในประเพณีรับบัวที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ สืบเนื่องจาก พ.ศ. 2467 นางจั่นกับพวกชาวบางพลี ได้ร่วมสร้างองค์ปฐมเจดีย์ ณ วัดบางพลีใหญ่ในและจัดงานเฉลิมฉลองโดยแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ และวิวัฒนการมาเป็นแห่องค์หลวงพ่อโตจำลองอัญเชิญไปตามลำคลองสำโรง เพื่อให้ประชาชนได้นมัสการ ดอกไม้ที่ใช้นมัสการคือ ดอกบัว

  • งานนมัสการหลวงพ่อปานและแข่งเรือพายประจำปี

งานนมัสการหลวงพ่อปาน เป็นงานประจำปีของอำเภอบางบ่อสืบต่อกันมาเป็นเวลาหลายสิบปี จนกลายเป็นประเพณีสำคัญของชาวอำเภอบางบ่อและประชาชนใกล้เคียง แม้ท่านได้มรณภาพมากกว่า 50 ปีแล้ว ความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนก็มิได้เสื่อมถอย ซึ่งจัด 2 ที่คือ ที่วัดมงคลโคธาวาส และที่ที่ว่าการอำเภอบางบ่อ ในเขตตำบลบางบ่อ

งานนมัสการหลวงพ่อปาน ได้มีการจัดงานที่ว่าการอำเภอบางบ่อ ในสมัยหลวงสกลผดุงเขต ซึ่งเป็นนายอำเภอบางบ่อในขณะนั้นเห็นควรที่จะให้จัดงานประเพณีสืบต่อเนื่องกันสำหรับชาวบางบ่อเช่นเดียวกับงานรับบัวของอำเภอบางพลี งานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์ จึงได้กำหนดให้มีงานนมัสการหลวงพ่อปานของชาวอำเภอบางบ่อขึ้นต่อจากงานที่ทางวัดมงคลโคธาวาสได้จัดมาแล้วอีก 3 วัน คือ วันขึ้น 8-10 ค่ำ เดือน 12 ในปี พ.ศ.2480 ทางอำเภอได้กำหนดให้มีการจัดขบวนแห่รูปของหลวงพ่อปานจากวัดมงคลโคธาวาสไปประดิษฐ์ที่ปะรำพิธีในบริเวณที่ว่าการอำเภอบางบ่อ แล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปปิดทองนมัสการ มีการละเล่นต่าง ๆ เช่น ลิเก รำวง ลำตัด เพลงฉ่อย ภาพยนตร์ เป็นต้น ต่อมาทางอำเภอเห็นว่าการแห่เทียนรูปหลวงพ่อปานจากวัดมงคลโคธาวาสมาที่ว่าการอำเภอไม่สะดวกหลายประการ จึงได้หล่อรูปจำลองไว้ที่ประจำที่อำเภอ โดยมณฑปสำหรับประดิษฐานไว้ที่ใกล้ ๆ โรงพยาบาลบางบ่อเพื่อให้ประชาชนที่ผ่านมาได้นมัสการ เป็นสถานที่ที่สำคัญของอำเภอบางบ่อจนปัจจุบันนี้

  • งานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์

งานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์ วันที่ 1 - 12 พฤศจิกายน 2558 เป็นงานสำคัญระดับจังหวัดที่จักสืบเนื่องมานับตั้งแต่สร้างองค์พระเจดีย์ งานนมัสการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันแรม 5 ค่ำ เดือน 11 บริเวณลานจอดรถรอบองค์พระและหน้าศาลากลางฝั่งจังหวัด ช่วงเช้ามีการแห่ผ้าห่มองค์พระเจดีย์ไปรอบเมือง ก่อนนำเรือแห่ไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นจึงทำพิธีเปลี่ยนผ้าผืนเก่าแล้วอัญเชิญผ้าสีแดงใหม่ขึ้นห่ม โดยคนในตระกูลรุ่งแจ้ง ซึ่งปฏิบัติมาสี่ชั่วอายุคนแล้ว ชาวปากน้ำเชื่อกันว่าต้องเป็นคนในตระกูลนี้เท่านั้นจึงจะขึ้นไปห่มผ้าองค์พระสมุทรเจดีย์ได้

ภายในงานมีการออกร้านของหน่วยงานราชการและเอกชน มีมหรสพเฉลิมฉลอง ภาพยนตร์ ดนตรี จับสลากการกุศล การออกร้านของกินของใช้ และเครื่องเล่นต่างๆ ถือได้ว่าเป็นงานวัดเก่าแก่เต็มรูปแบบใกล้กรุงเทพฯ ที่ยังหลงเหลืออยู่ ตลอดงานจะมีการประดับดวงไปรอบองค์พระสมุทรเจดีย์อย่างงดงาม

  • ประเพณีแห่เจ้าพ่อทัพ

ศาลเจ้าพ่อทัพ ตั้งอยู่บริเวณริมคลองสำโรง ใกล้วัดมหาวงษ์ ม.7 ตำบลสำโรงกลาง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยประวัติความเป็นมาขององค์เจ้าพ่อทัพนั้นเล่าสืบต่อกันมา ประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว-ว่าเมื่อครั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ ใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทางค้าขาย ในบริเวณที่ตั้งศาลเจ้าพ่อทัพก่อนนี้จะมีน้ำวน ชาวเรือได้พบแผ่นไม้ลักษณะคล้ายป้ายดวงวิญญาณลอยอยู่ เชื่อกันว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประทับอยู่ จึงได้อันเชิญขึ้นบนฝั่งและได้สร้างศาลไว้

ต่อมาจึงได้สร้างรูปองค์เจ้าพ่อทัพไว้ในศาล เพื่อปกป้องคุ้มกันภัยให้แก่ประชาชน และได้เคยมีการเสี่ยงทายเพื่อย้ายศาลเจ้าพ่อทัพหลายครั้ง แต่ผลการเสี่ยงทายมักปรากฎว่าองค์เจ้าพ่อทัพยินดีที่จะสถิต ณ ที่เดิม ศาลเจ้าพ่อทัพจึงตั้งอยู่ที่เดิมจนถึงปัจจุบัน ทว่า ได้มีการก่อสร้างศาลเจ้าพ่อทัพ ซึ่งประดิษฐานเจ้าพ่อทัพองค์จำลอง ริมคลองสำโรง อันเป็นเขตติดต่อระหว่างเทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพรายและเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ และเมื่อถึงเวลาจัดงานแห่องค์เจ้าพ่อทัพ อันถือเป็นงานประจำปีที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ในช่วงก่อนถึงวันตรุษจีน ประมาณ 1 อาทิตย์ในทุกๆปี จะมีการอันเชิญองค์เจ้าพ่อทัพองค์จริงมาประดิษฐาน ณ ศาลเจ้าแห่งใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้สักการะ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจึงแห่กลับมายังศาลเดิม