แนะนำของฝากสมุทรปราการ
ปลาสลิดบางบ่อ
"นึกถึงสมุทรปราการต้องนึกถึงปลาสลิดบางบ่อ"
เดิมชาวบ้านแถบ อ. บางบ่อ มีอาชีพทำนาข้าว ต่อมามีโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้นและรุกพื้นที่นา ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง น้ำจืดที่ใช้ในการทำนาจึงกลายเป็นน้ำกร่อยค่อนข้างเค็ม ส่งผลให้ได้ผลผลิตข้าวไม่ดี ชาวบ้านจึงหันมาขุดบ่อเลี้ยงปลาสลิด โดยใช้น้ำกร่อยนั้นเองเลี้ยงปลา น้ำกร่อยเป็นแหล่งที่ไรแดงซึ่งเป็นอาหารชั้นยอดของปลาสลิดเจริญเติบโตได้ดี ปลาสลิดจึงมีความสมบูรณ์ เมื่อชาวบ้านนำมาแปรรูปโดยการหมักเกลือแล้วตากแดดจึงได้ปลาสลิดแห้งเนื้อนุ่มเหนียวอร่อย เกษตรกรจะทำการวิดบ่อปลาสลิดปีละครั้งในช่วงเดือน ม.ค. ซึ่งจะได้ปลามาตากแห้งขายตลอดทั้งปี ปลาสลิดบางบ่อมี ๒ ชนิด คือ ปลาหอม มีราคาแพงถึงกิโลกรัมละเกือบ ๓๐๐ บาท ด้วยกรรมวิธีค่อนข้างพิถีพิถัน ต้องนำปลาสลิดที่ขอดเกล็ดและผ่าไส้ออกแล้วล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นใส่ลงในกะละมังและโรยเกลือ แล้วค่อยๆ ฝัดเกลือคลุกเคล้าให้ทั่วตัวปลา ทิ้งไว้ให้เกลือซึมเข้าเนื้อปลาก่อนนำใส่เข่งให้เลือดปลาไหลออกจนแห้ง เนื้อปลาจะพอง ท้ายสุดจึงนำปลาไปตากแดดสองแดด ได้ปลาสลิดแห้งที่มีกลิ่นหอม เนื้อปลาแน่นแต่นุ่ม ส่วนอีกชนิดเป็นปลาน้ำแข็ง ใช้น้ำแข็งกับเกลืออัดลงไปบนปลาสลิดที่เคล้าเกลือแล้วสลับกันเป็นชั้นๆ ให้ความเย็นทำให้เนื้อปลาแข็ง จากนั้นนำมาตากแดดครึ่งวันแล้วนำออกขาย ปลาน้ำแข็งจึงมีน้ำหนักมากกว่าปลาหอม แต่ราคาก็ถูกกว่า
ที่มา : https://sites.google.com/site/travelsamutprakan10477/khxngdi-praca-canghwad
กุ้งเหยียด
กุ้งสดต้มให้สุกเพื่อรับประทานกับข้าวต้ม หรือข้าวสวย เป็นอาหารประจำของคนทั่วไป โดยเฉพาะชาวบ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัด สมุทรปราการ เป็นภูมิปัญญา หรือนวัตกรรมในแนวความคิด จากการรับประทานอาหารประเภทกุ้ง เรียกว่ากุ้งน้ำเค็ม ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ อาศัยอยู่ตามน้ำชายฝั่งทะเล แหล่งน้ำคูคลอง ลำธาร เพื่อทำนาเกลือ ต่อมาชาวบ้านปรับเปลี่ยนอาชีพทำนาเกลือ มาทำนากุ้ง หรือเรียกว่าวังกุ้ง ด้วยการเลี้ยงกุ้งตามธรรมชาติ กับเลี้ยงกุ้งโดยการนำพันธุ์กุ้งมาเลี้ยงในวัง
เป็นอาหารรับประทานได้ระยะเวลานานวัน ด้วยวิธีการถนอมอาหาร ชาวบ้านนิยมต้มกุ้งแล้วตากแดดให้แห้งสนิท กะเทาะเปลือกออกเหลือแต่เนื้อกุ้งเรียกว่า“กุ้งแห้ง “ ถ้าต้มกุ้งให้มีรสเค็ม เรียกว่า “กุ้งเค็ม“ ถ้าต้มกุ้งให้มีรสหวาน เรียกว่า “กุ้งหวาน“ แต่ถ้าต้มกุ้งนอกจากที่กล่าวมามาแล้วข้างต้น เรียกว่า “กุ้งเหยียด“ ใช้ปรุงแบบผสมผสาน เกลือ น้ำตาล น้ำพอประมาณ ให้มีรสออกเค็ม ออกหวานกลมกลืนพอดี กับการเน้นที่ต้มกุ้ง ต้องตัวเหยียดตรงตัวเนื้อเป็นพิเศษ จึงชื่อว่า “กุ้งเหยียด“ บรรจุใส่กล่อง ใส่ถุงทันสมัยเป็นของฝาก ของที่ระลึก จากแหล่งท่องเที่ยวบ้านสาขลา ตลาดโบราณ, วัดสาขลา อันมีหลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ และพระปรางค์เอียง อันเป็นสัญลักษณ์ความโดดเด่นของบ้านสาขลา - นาเกลือ สืบทอดยาวนานมาเกือบ 200 ปี
ที่มา : https://sites.google.com/site/travelsamutprakan10477/khxngdi-praca-canghwad
ขนมจาก
เดิมเป็นของฝากขึ้นชื่อมีขายอยู่ทุกแห่งในปากน้ำ แม้เป็นเพียงขนมที่มีราคาเพียงบาท สองบาท โดยเฉพาะ ขนมจาก ของร้านลิ้มดำรงค์ที่ดำเนินการสืบทอดกันมาเป็นเวลากว่า 100 ปี ที่ถนนศรีสมุทร เยื้องทางเข้าท่าเรือข้ามฟากไปพระสมุทรเจดีย์ ซึ่งในปัจจุบันเหลืออยู่เพียงร้านเดียวในจังหวัด แต่ก่อนถึงกับมีคนพูดกันเล่นๆ ว่ามาปากน้ำถ้าไม่ได้ซื้อขนมจาก ถือว่ายังมาไม่ถึง จากประโยคข้างต้นกลับสามารถพิสูจน์ความโด่งดังของขนมจาก เมืองปากน้ำได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อกาลเวลาได้ล่วงเลยไป พร้อม ๆ กับความเจริญทำให้มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางสัญจร มีการตัดถนนขึ้นใหม่เพื่อขจัดปัญหาจราจรแออัด ซึ่งส่งผลให้อาชีพที่ขึ้นชื่อของเมืองนี้ คือร้านค้าขนมจาก พลอยมีผลกระทบตามไปด้วย อีกสาเหตุหนึ่ง คือร้านค้าต่างๆ ต้องปิดตัวเองลงเนื่องมาจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ได้นำสูตรขนมจากที่เลื่องลือชื่อนี้ไปดัดแปลง และทำเป็นรูปแบบขนมของฝากนักท่องเที่ยวในสถานที่นั้นๆ ดังนั้นขนมจากเมืองปากน้ำจึงไม่ใช่ของฝากที่หาซื้อได้ง่ายๆ อีกต่อไปแล้ว
ที่มา : https://sites.google.com/site/travelsamutprakan10477/khxngdi-praca-canghwad