2.ประโยชน์ของแมลง

ประโยชน์ที่ได้รับจากแมลง

- ช่วยในการผสมละอองเกสรให้พืช ทั้งพืชไร่ พืชสวน พืชผัก ตลอดจนหญ้าแมลงที่ช่วยผสมละอองเกสร และแมลงที่มีสำคัญในการผสมละอองเกสรคือ ผึ้ง และแมลงอื่นๆ เช่น ผีเสื้อ แมลงภู่ และแมลงวัน เป็นต้น

- เป็นอาหารของคนและสัตว์อื่นๆ เช่น ตัวอ่อนของแมลงชีปะขาว ตัวอ่อนของแมลงปอ ลูกน้ำยุง เป็นอาหารของปลา ตัวหนอนเป็นอาหารของนก ส่วนที่นำมาเป็นอาหารของคนมีหลายชนิด ได้แก่ แมลงดานา ตัวอ่อนของผึ้ง ตัวอ่อนและไข่มด หนอนของด้วง หนอนของผีเสื้อ และตั๊กแตนปาทังก้า เป็นต้น

- ผลผลิตจากแมลงนำมาทำประโยชน์ในทางการค้า ตัวอย่างเช่น ผ้าไหม เส้นไหม ได้มาจากผีเสื้อหนอนไหม ผีเสื้อยักษ์ ครั่งได้มาจากแมลงครั่งซึ่งเป็นเพลี้ยหอยชนิดหนึ่ง น้ำผึ้ง ไขผึ้ง นมผึ้ง (Royal jelly) เกสรผึ้ง (Pollen grain) ได้จากผึ้ง และโคซิเนลดาย (Chocineal dye) ได้มาจากเพลี้ยหอย (Cochineal insect) เป็นต้น

- ช่วยในการกำจัดแมลงศัตรูพืชและวัชพืช โดยการเป็นแมลงห้ำ (Predator) และแมลงเบียน (Parasite) ตัวอย่างแมลงตัวห้ำ ได้แก่ แมลงปอ แมลงช้าง แมลงวันหัวบุบ ตั๊กแตนตำข้าว เป็นแมลงห้ำคอยจับสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น ยุง แมลงหวี่ และเพลี้ย ส่วนแมลงตัวเบียน เช่น ต่อเบียน แตนเบียน แมลงวันก้นขน แตนหางธง และต่อขุดรู จะทำลายผีเสื้อ ด้วง และอื่นๆ ได้ทั้งในระยะไข่ ระยะหนอน ระยะดักแด้ ทั้งนี้แล้วแต่ว่าแมลงนั้นๆ เป็นตัวเบียนแบบใด แมลงตัวห้ำ แมลงตัวเบียน มีความสำคัญเพราะช่วยลดประชากรของแมลงศัตรูพืช อาจกล่าวได้ว่าไม่มีวิธีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ดีเท่ากับให้แมลงปราบกันเอง

- นำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาด้านพันธุกรรม และทางด้านการแพทย์ตัวอย่างเช่น แมลงหวี่ Drosophila melanogaster นำมาศึกษาการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม การเพิ่มลดของประชากร แมลงวันสเปน (Spanish flies) นำมาสกัดเอาสาร แคนทาริดิน (Cantharidin) ซึ่งเป็นสารกระตุ้นประสาทมีประโยชน์ทางด้านการแพทย์ ใช้ในการรักษาเกี่ยวกับระบบขับถ่ายปัสสาวะ หนอนแมลงวันหัวเขียวปล่อยสารอัลเทนตัน (Altanton) ออกมา ปัจจุบันสารนี้นำมาใช้รักษาออสทีมายอีลิทิส (Osteomyelitis) และแผลบาดเจ็บลึกๆ ที่มีเนื้อเน่า จากการศึกษาแมลงในด้านพฤติกรรม การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และแสงสว่าง จะช่วยให้การเพิ่มความเข้าใจในพฤติกรรมการตอบสนองของสัตว์อื่นๆ ด้วย และมักนิยมใช้จำนวนประชากรของแมลงเป็นตัวบ่งบอกสภาพของสิ่งแวดล้อมในการ ศึกษามลภาวะ

- ช่วยกำจัดอินทรีย์วัตถุ สิ่งเน่าเปื่อย ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสารง่ายๆ ซึ่งจะกลับไปสู่ดิน เป็นอาหารของพืชในที่สุด เช่น หนอนแมลงวันหัวเขียวกินอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อย ตัวอ่อนของหนอนปลอกน้ำกินอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อยในน้ำช่วยทำให้น้ำไม่เสีย เป็นการแก้ปัญหามลภาวทางน้ำ ด้วงมูลสัตว์ช่วยย่อยสลายมูลสัตว์ และยังช่วยลดจำนวนแมลงวันในบริเวณที่ เลี้ยงสัตว์โดยจะกินมูลของวัวอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งแมลงวันที่ขยายพันธุ์ในมูลสัตว์ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ แมลงกินไม้ เช่น ด้วงเจาะไม้ และปลวก จะช่วยเปลี่ยนต้นไม้ล้ม และท่อนไม้ให้ย่อยสลายกลายเป็นดินมีประโยชน์ มีคุณค่าต่อพืชและช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติ

- ช่วยในการบำรุงรักษาดิน และพื้นที่ต่างๆ ในการทำการเกษตร แมลงหลายชนิดใช้ชีวิตบางส่วน หรือตลอดชีวิตในดิน โดยดินจะเป็นรัง แหล่งป้องกันภัย และแหล่งอาหาร เพราะดินที่มีลักษณะเป็นช่องทำให้มีอากาศมาระบายของเสียจากการขับถ่าย และแมลงที่ตายช่วยในการปรับปรุงคุณภาพทางฟิสิกส์ของดินให้ดีขึ้น ตัวอย่างแมลงที่อาศัยอยู่ในดิน เช่น มด แมลงกระชอน ปลวก ผึ้ง ต่อ และแตน เป็นต้น

- ทำให้เกิดรายได้ ถ้านำแมลงตัวเต็มวัย หรือตัวอ่อนมาเลี้ยงให้เป็นตัวเต็มวัยแล้วนำมาทำเป็นแมลงแห้งอัดใส่กรอบขาย

- แมลงบางชนิดโดยเฉพาะ ผีเสื้อ และด้วง จะมีสีสันสวยงามทำให้ผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกเป็นสุข จิตใจเบิกบาน แจ่มใส และรู้สึกสดชื่น

- นักศิลปะ นักออกแบบเครื่องประดับ และนักออกแบบเครื่องแต่งกาย นิยมเอาความสวยงามในด้านโครงสร้างสีสันแมลงมาใช้เป็นแบบอย่างพื้นฐาน นอกจากนี้รังที่อยู่อาศัยของแมลงยังช่วยทำให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์แก่สถาปนิกด้วย