ประวัติศาลเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่อ่าวอุดม

ศาลเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่อ่าวอุดม หรือ ศาลเจ้าพ่อโกมินทร์ หรือ ศาลหน่าจาไท้จื้ออ่าวอุดม เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางย่านอ่าวอุดม ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และตลาดสดศรีอ่าวอุดม ตั้งอยู่เลขที่ 165/102 หมู่ที่ 7 ซอยสุขุมวิท 8 (ซอยศาลเจ้าพ่อโกมินทร์) ถนนสุขุมวิท ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ทั้งหมด 1 ไร่ 76 ตารางวา ถือเป็นศาลเจ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง มีชื่อเรียกตามภาษาจีนแต้จิ๋วว่า อ่าวอู๋หลงซำเทียนไก่หน่าจาซาไท้จื้อเบี่ย(歐嗚隆三天界哪吒三太子廟)

ศาลเจ้าพ่อโกมินทร์ สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.2496 ตามคำบอกเล่าของ นายนิพนธ์ เมธีกุล (ซื้อฮกเซี้ยง), นายหยกแช แซ่ตั๊ง(陳育青)และ นางจำไฉ่ แซ่ไหล(賴針菜)กรรมการอาวุโสฯ โดยการอัญเชิญผงธูปมาจากศาลเจ้าหลวงพ่อโอภาสีซำเทียนไกล่ (ซำเทียนไกล่ไท้จื้อเบี่ย) กรุงเทพมหานคร มายังบ้านอ่าวอุดม โดยมีนายกังวาล อุดมชัยประเสริฐกุล (เหล่าแปะลิ้มจื้อกัง/แปะกัง) ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นบุตรบุญธรรมของพระมหาชวน มะลิพันธ์ หรือ "หลวงพ่อโอภาสี" แห่งอาศรมบางมด (วัดหลวงพ่อโอภาสี) พร้อมคณะศิษยานุศิษย์ และได้นำมาบรรจุลงกระถางธูปแล้วประดิษฐานไว้ภายในอาคารไม้หลังเล็กๆ ในบริเวณปัจจุบันซึ่งเป็นที่ดินของ นายสิน แตงไทย นับเป็นก้าวแรกแห่งการก่อกำเนิดศาลเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่อ่าวอุดม โดยศาลเจ้าหลังแรกนั้นออกชื่อเรียกว่า "ศาลเจ้าซาไท้จื้อกง"

ต่อมาในปี พ.ศ.2516 นายยู่ชั้น แซ่ลิ้ม (แปะยู่ชั้น), นายกังวาล อุดมชัยประเสริฐกุล (แปะกัง) และนายไมตรี ถิระพุทธิชัย (แปะเหลียง) ได้เป็นผู้นำสาธุชนร่วมกันก่อสร้างศาลเจ้าหลังใหม่เพื่อทดแทนหลังแรก ให้สมกับบารมีแห่งองค์เจ้าพ่อโกมินทร์ (ซาก๋ง) โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก นายบุญปลูก พิริยภาพสกุล (กำนันปลูก) กำนันตำบลทุ่งศุขลาในขณะนั้น และ นายสิน แตงไทย บริจาคที่ดินผืนปัจจุบันให้เป็นที่ตั้งศาลเจ้า พร้อมได้จัดสร้างเทวรูป (กิมซิ้น) องค์เจ้าพ่อโกมินทร์ เจ้าพ่อโกเมศ และเจ้าพ่อโกมล หรือที่เรียกกันว่า ซาก๋ง ตั่วก๋ง หยี่ก๋ง เป็นมุขเทพประธานของศาลเจ้าแห่งนี้ โดยช่างชาวจีน และออกชื่อศาลเจ้าภาษาไทยอย่างเป็นทางการว่า "ศาลเจ้าพ่อโกมินทร์" และใช้ชื่อภาษาจีนว่า "ซำเทียนไกล่ซาไท้จื้อกงเบี่ย"(三天界三太子公廟)ซึ่งต่อมาก็ได้มีบรรดาสาธุชนมาพึ่งบารมีและกราบไหว้สักการบูชาเทพเจ้ากันมากมาย

ต่อมา คณะกรรมการศาลเจ้าในสมัยนั้น ได้เล็งเห็นว่า พื้นที่ศาลเจ้าคับแคบและไม่สามารถรองรับจำนวนผู้คนที่เดินทางมาสักการบูชา อีกทั้งโครงสร้างอาคารได้ชำรุดไปตามสภาพกาลเวลา ในปี พ.ศ.2535 ชาวอ่าวอุดมพร้อมศิษยานุศิษย์และสาธุชนทั่วไป ได้รวบรวมเงินกันก่อสร้างวิหารหลังใหม่ขึ้นทดแทนหลังที่สอง แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2536 และมีพิธีฉลองสมโภชศาลเจ้าขึ้นในวันที่ 8 ค่ำ เดือน 4 (สี่เหว่ยชิวโป่ยหยิก) ตามปฏิทินทางจันทรคติจีน ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2536 พร้อมสร้างเทวรูป (กิมซิ้น) องค์ใหม่ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเทวรูปชุดเดิม โดยนายเป๋งซ้ง แซ่โอ๊ว(胡秉松)ช่างประติมากรรมจีนผกซาฝีมือชั้นครูในประเทศไทย แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานร่วมกับองค์เทวรูปชุดเดิม ได้แก่ เจ้าพ่อโกมินทร์ เจ้าพ่อโกเมศ เจ้าพ่อโกมล พร้อมอัญเชิญเทวรูป (กิมซิ้น) เจ้าแม่กวนอิม และ ไท้อิกกิวโค่วเทียนจุน (หรืออาจารย์ไท้อิกจิงยิ้ง) มาประดิษฐานร่วมด้วย ซึ่งในวันนั้นได้มีพิธีเปิดป้ายวิหารซึ่งเป็นอาคารเอกของศาลเจ้ามีชื่อว่า "ซำเทียนไกล่"(三天界)โดยในปี พ.ศ.2538 นายบุญปลูก พิริยภาพสกุล (กำนันปลูก) พร้อมด้วยคณะกรรมการศาลเจ้าในสมัยนั้น ได้ร่วมกันสร้างรั้วและซุ้มประตูทางเข้าศาลเจ้า ขึ้น

ปี พ.ศ.2540 นายไชยยงค์ สุธรรมพงษ์ และ นายหยกแช แซ่ตั้ง ได้ร่วมกับคณะกรรมการศาลเจ้าในสมัยนั้น พร้อมด้วยคณะศิษย์เจ้าของห้างร้านในอ่าวอุดม ร่วมกันบริจาคสร้างอาคารห้องโถง (ชู้เปา) บริเวณด้านข้างซ้ายและด้านขวาของอาคารวิหารซำเทียนไกล่ ขึ้น

ในปี พ.ศ.2556 นายนพรัตน์ ก่อซื่อวานิช (อาจารย์ยุ่น) ได้รับเทวบัญชาให้ก่อสร้างศาลาเทพยดาฟ้าดิน (ทีตี่แป่บ้อ) หลังใหม่ขึ้นแทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม โดยได้จัดให้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ศาลาเทพยดาฟ้าดินหลังใหม่ ในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2556 จนสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2557 และมีพิธีเปิดศาลาเทพยดาฟ้าดิน (ทีตี่แป่บ้อ) หลังใหม่ ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ตามลำดับ

ปัจจุบัน ภายในวิหารซำเทียนไกล่ ศาลเจ้าพ่อโกมินทร์ฯ เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป เจ้าพ่อโกมินทร์ (หน่าจาซาไท้จื้อ) เป็นองค์ประธาน ร่วมกับ เจ้าพ่อโกเมศ (กิมจาตั่วไท้จื้อ) และ เจ้าพ่อโกมล (มู่จาหยี่ไท้จื้อ) ประทับอยู่ตั่วกลาง ทั้งนี้ภายในวิหารยังประดิษฐานเทวรูป อาจารย์ไท้อิกจิงยิ้ง (ไท้อิกกิวโค่วเทียนจุน) พระโพธิสัตว์กวนอิม (กวนสี่อิมเหล่าผ่อสัก) พระไตรรัตนพุทธเจ้า พระศรีอริยเมตไตรย โพธิสัตว์ หลวงพ่อโอภาสี และเทพสวรรค์ 12 พระองค์