บรรยากาศภายใน

ศาลเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่อ่าวอุดม

ศาลเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่อ่าวอุดม

ศาลเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่อ่าวอุดม สามารถแบ่งพื้นที่ภายในออกเป็นบริเวณได้ 3 ส่วน คือ อาคารหมู่วิหาร โรงครัว และลานกว้างเอนกประสงค์ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

อาคารหมู่วิหาร

อาคารหมู่วิหาร เป็นอาคารประธานของศาลเจ้า แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วยตัวอาคารวิหาร 1 ส่วน ซึ่งมีพื้นที่มากที่สุดอยู่ตรงกลาง และห้องโถงขนาบตัวอาคารวิหารทั้งสองข้าง โดยระหว่างตัวอาคารวิหารกับห้องโถงทั้งสองฝั่งนั้น มีทางเดินตัดผ่านทั้ง 2 ด้าน

วิหารซำเทียนไกล่

วิหารซำเทียนไกล่ เป็นอาคารที่ใหญ่ที่สุดในอาคารหมู่วิหาร ภายในวิหารแบ่งเป็นตำหนักหรือแท่นประทับเทวรูป จำนวน 5 แท่น ได้แก่

        • ไท้จื้อตั๊ว(太子壇)เป็นแท่นประธานภายในวิหาร ประดิษฐานเทวรูปเทพเจ้าซึ่งเป็นประธานของศาลเจ้า ได้แก่

            • เจ้าพ่อโกมินทร์ หรือ หน่าจาซาไท้จื้อ(哪吒三太子;中壇元帥)

            • เจ้าพ่อโกเมศ หรือ กิมจาตั่วไท้จื้อ(金吒大太子)

            • เจ้าพ่อโกมล หรือ มู่จาหยี่ไท้จื้อ(木吒二太子)

        • ผ่อสักตั๊ว(菩薩壇)เป็นแท่นบูชาซึ่งประดิษฐานเทวรูปพระโพธิสัตว์กวนอิม(觀世音老菩薩;觀音娘娘)

        • เทียนจุนตั๊ว(天尊壇)เป็นแท่นบูชาซึ่งประดิษฐานเทวรูปพระอาจารย์ไท้อิกจิงยิ้ง(太乙救苦天尊;太乙真人)

        • ฮุกตั๊ว(佛壇)เป็นแท่นบูชาพระพุทธเจ้า ประดิษฐานพุทธรูปและเทวรูปดังต่อไปนี้

            • พระไตรรัตนพุทธเจ้า(横山世佛 หรือ 三聖佛)เป็นประธานแท่นประทับ ประกอบด้วย

                • พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า(釋迦牟尼佛)พระพุทธเจ้าองค์กลาง หรือพระมหาสมณโคดมพุทธเจ้า ทรงเป็นพระพุทธเจ้าในยุคปัจจุบัน ซึ่งบรรลุธรรมที่ชมพูทวีป ประทับอยู่ในพุทธเกษตรส่วนกลาง เรียกว่า ดินแดนอภิรดี(娑婆世界)

                • พระอมิตาภพุทธเจ้า(阿彌陀佛)พระพุทธเจ้าองค์ซ้ายมือ หรือเบื้องขวาขององค์พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า ทรงครองดินแดนพุทธเกษตรด้านตะวันตก เรียกว่า ดินแดนสุขาวดี(極樂世界)ซึ่งเป็นดินแดนหลังความตายที่ทุกคนปรารถนา

                • พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า(藥師佛)พระพุทธเจ้าองค์ขวามือ หรือเบื้องขวาขององค์พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าแห่งยาและการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ครองดินแดนพุทธเกษตรด้านตะวันออก เรียกว่า ศุทธิไวฑูรยะ(淨琉璃世界)

            • พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า หรือ พระมหาสมณโคดมพุทธเจ้า(釋迦牟尼佛)อันเป็นพระพุทธรูปแบบนิกายเถรวาทปางปฐมเทศนา

            • บรมครูหลวงปู่โอภาสี หรือ พระมหาชวน มะลิพันธ์(天帕氏)

            • เจ้าพ่อโกมินทร์ หรือ หน่าจาซาไท้จื้อ(哪吒三太子)

            • พระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์(彌勒菩薩)

        • เทียนล้อตั๊ว(天羅壇)แท่นบูชาเทพสวรรค์ 12 พระองค์ ซึ่งภายใต้แท่นประทับนี้ เป็นที่สำหรับบรรจุดวงชะตาของสาธุชนที่ได้ทำการลงชื่อเพื่อทำการฝากดวงชะตาประจำปีของปีนั้นๆ โดยประกอบด้วยเทพเจ้าจำนวน 12 องค์ ดังต่อไปนี้

            • หน่ำซิ้งแชกุน(南辰星君)เทพเจ้าผู้ถือบัญชีเกิดของมนุษย์

            • ปักเต้าแชกุน(北斗星君)เทพเจ้าผู้ถือบัญชีตายของมนุษย์

            • ไท้เอี้ยงแชกุน(太陽星君)เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ หรือ พระสุริยเทพ

            • ไท้อิมแชกุน(太陰星君)เทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ หรือ พระจันทราเทวี

            • ตี่บ้อเนี่ยเนี้ย(地母娘娘)เทพเจ้าแห่งผืนแผ่นดิน หรือ พระธรณี

            • เทียนโหวเซียะบ้อ(天后聖母)เทวานารีแห่งพื้นน้ำมหาสมุทร หรือ พระแม่สวรรค์ หรือ หม่าโจ้ว

            • เง็กอ้วงเสี่ยงตี่(玉皇上帝)มหาเทพผู้ปกครองทั้งสามโลก หรือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเทวราชาธิราช

            • พระโพธิสัตว์กวนอิม(觀世音老普薩)พระโพธิสัตว์ผู้มีเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งสามโลก หรือ พระแม่กวนอิม

            • ไฉ่ซิ้งแชกุน(財神星君)เทพเจ้าแห่งโชคลาภและเงินทอง หรือ ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ

            • หน่าจาไท้จื้อ(哪吒太子)เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ หรือ พระจตุรพิธพรชัย หรือ เจ้าพ่อโกมินทร์

            • ไท้ส่วยแชกุน(太歲星君)เทพเจ้าผู้คุ้มครองดวงชะตา หรือ ไท่ส่วยเอี๊ยะ

            • ฮั่วท้อเซียนซือ(華陀仙師)เทพเจ้าแห่งการแพทย์ หรือ หมอเทวดา

ห้องโถงฝั่งทิศเหนือ

ห้องโถงฝั่งทิศเหนือ เมื่อหันหน้าเข้าหาศาลเจ้า ห้องโถงนี้จะตั้งอยู่ด้านขวาหรือด้านทิศเหนือของตัววิหารซำเทียนไกล่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

        • โซยโจ้วตั๊ว(先祖壇)เป็นแท่นบูชาซึ่งประดิษฐานป้ายบูชาโซยโจ้วเหล่งฮุ้ง(先祖靈位)หรือป้ายบรรพชน ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นอาจาริยบูชาแก่ดวงวิญญาณร่างทรงคนแรกของศาลเจ้านี้ ซึ่งถือเป็นผู้ให้กำเนิดศาลเจ้านี้ก็คือ นายกังวาน อุดมชัยประเสริฐกุล หรือ แปะลิ้มจื้อกัง(林子剛)และเพื่อบูชาดวงวิญญาณของเหล่าบรรดาอดีตคณะกรรมการศาลเจ้าและผู้มีคุณูปการต่อศาลเจ้าที่เสียชีวิตไปแล้ว

        • ห้องอเนกประสงค์

ห้องโถงฝั่งทิศใต้

ห้องโถงฝั่งทิศใต้ เมื่อหันหน้าเข้าหาศาลเจ้า ห้องโถงนี้จะตั้งอยู่ด้านซ้ายหรือด้านทิศใต้ของตัววิหารซำเทียนไกล่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

        • ห้องประชุมมูลนิธิเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่ เป็นห้องเอนกประสงค์สำหรับใช้เป็นสถานที่จัดการประชุม รองรับคนได้ประมาณ 15 คน และยังใช้เป็นสำนักงานประสานงานมูลนิธิเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่ อีกด้วย

        • ห้องอเนกประสงค์

ลานกว้างเอนกประสงค์

ลานกว้างเอนกประสงค์ เป็นพื้นที่โล่งกว้างบริเวณด้านหน้าวิหารซำเทียนไกล่ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนคือ ลานปูน และ ลานทรายล้าง ซึ่งบนลานดังกล่าวมีศาลาและแท่นบูชาจำนวน 2 แท่น และอาคารอีก 1 หลัง คือ ศาลาเทพยดาฟ้าดิน ศาลาพ่อปู่ชีวกโกมารภัจจ์ และเตาเผากระดาษ

ศาลาเทพยดาฟ้าดิน (ทีกง)

ศาลาเทพยดาฟ้าดิน (ทีตี่แป่บ้อ) หรือ ทีกงตั่ว(天公壇)เป็นศาลาทรงสี่เหลี่ยม มีบ่อบัวเป็นรูปครึ่งวงกลมประดับปูนปั้นรูปกลีบบัวตลอดแนวเส้นโค้ง ด้านข้างศาลาทั้งสองข้างขนาบด้วยเสาทีกงและเสาตี่กัวเต้า ภายในศาลามีแท่นบูชาเทพยดาฟ้าดินหรือที่เรียกกันว่าทีตี่แป่บ้อ(天地父母)โดยหลังปัจจุบันได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์และสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 โดยได้รับพระเมตตาจากพระโพธิสัตว์กวนอิม ตำหนักพระโพธิสัตว์กวนอิมตั้งเลี่ยงสุนศรีราชา และ องค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้ว ตำหนักไต่เสี่ยฮุกโจ้วเมืองใหม่ชลบุรี เป็นประธานอุปถัมภ์พิธีดังกล่าว สร้างแล้วเสร็จเมื่อช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 และมีพิธีเปิดศาลาเทพยดาฟ้าดินหลังใหม่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยมี นายปรีชา ตันบู๊ ประธานกรรมการศาลเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่อ่าวอุดมในขณะนั้นเป็นประธานในพิธี

อนึ่ง ศาลาเทพยดาฟ้าดินในอดีตนั้น เป็นศาลาทรงสี่เหลี่ยม มีขนาดเล็กกว่าหลังปัจจุบันนี้มาก ตั้งอยู่บริเวณลานทรายล้างด้านห้องโถงฝั่งทิศเหนือศาลาพ่อปู่ชีวกโกมารภัจจ์

ศาลาพ่อปู่ชีวกโกมารภัจจ์

ศาลาพ่อปู่ชีวกโกมารภัจจ์(時縛迦壇)เป็นศาลาทรงหกเหลี่ยม ตั้งอยู่บนลานทรายล้างด้านห้องโถงฝั่งทิศใต้ อันเป็นที่ประดิษฐานแท่นบูชาพ่อปู่ชีวกโกมารภัจจ์(時縛迦大醫)ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์และสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา และ นางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง เป็นประธานในพิธี สร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2560 และมีพิธีเปิดศาลาพ่อปู่ชีวกโกมารภัจจ์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา เป็นประธานในพิธี

อาคารเผากระดาษ (เตาเผากระดาษ)

อาคารเผากระดาษ เป็นอาคารก่ออิฐเสริมคอนกรีต มีลักษณะอย่างเจดีย์สูงทรงแปดเหลี่ยมจำนวน 9 ชั้น หลังคาแต่ละชั้นที่มุมประดับด้วยช่อบ๊วยสีทองรวม 72 ช่อ ผนังอาคารแต่ละด้านมีภาพจิตรกรรมอาวุธวิเศษของแปดเซียน (อ่ำโป๊ยเซียน) และสัตว์มงคล บนยอดอาคารเป็นปล่องระบายควันมีลักษณะเป็นรูปทรงน้ำเต้าสีทอง เป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ทดแทนเตาเผากระดาษเดิม สร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2559

เตาเผากระดาษหลังเดิมนั้น สร้างขึ้นพร้อมกับวิหารหลังปัจจุบัน ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งศาลาพ่อปู่ชีวกโกมารภัจจ์ในปัจจุบัน เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมขนาดสูงประมาณ 2.5 เมตร มีปล่องระบายควันลักษณะคล้ายทรงเจดีย์แปดเหลี่ยมขนาดเล็ก ซึ่งได้ทำการรื้อถอนออกไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2559

โรงครัว / อาคารเอนกประสงค์

โรงครัว หรือ โรงทานอาหาร มีลักษณะเป็นอาคารอเนกประสงค์แบบโปร่ง ไม่มีผนังกั้นทึบ ใช้เป็นสถานที่ประกอบอาหารและรับประทานอาหารในเวลามีกิจกรรมหรืองานพิธีต่างๆ อีกทั้งยังเป็นโรงทานอาหารเจ ในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจอีกด้วย และบริเวณด้านทิศใต้ของโรงครัว ยังมีอาคารขนาดเล็กซึ่งก่อสร้างเป็นห้องน้ำและห้องสุขา จำนวน 3 ห้อง

ห้องเก็บของ

ห้องเก็บของ เป็นอาคารอเนกประสงค์ซึ่งต่อเติมโครงสร้างบนพื้นที่ว่างเปล่าระหว่างกำแพงห้องโถง (ชู้เปา) ฝั่งทิศเหนือและกำแพงศาลเจ้าฯ เป็นห้องเก็บของทดแทนห้องเก็บของเดิมที่มีขนาดเล็ก ปูกระเบื้องพื้นทางเดินระหว่างอาคารวิหารและห้องโถง (ชู้เปา) ฝั่งทิศเหนือและทิศใต้ทั้งสองข้าง มีประตูเข้า-ออกทั้งด้านหน้าและหลัง ใช้สำหรับเป็นห้องเก็บของ 1 ส่วน และเก็บโลงศพสำหรับบริจาคอีก 2 ส่วน