ประวัติความเป็นมา

จุดกำเนิดของสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มต้นในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งในเวลานั้นสภาอาจารย์ของสถาบันต่างๆ มีบทบาทสำคัญ และมีการดำเนินงานสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการประชุมอาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อชี้แจงเหตุการณ์ ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 อันมีผลให้ต้องเลื่อนการสอบประจำภาคของมหาวิทยาลัยออกไป คณาจารย์ได้มีการประชุมและถกเถียงกันถึงบทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งขาดองค์กรประสานงาน ยังผลให้คณาจารย์ นักศึกษา ขาดการเหลียวแล เอาใจใส่เท่าที่ควร ทั้งนี้ได้เคยมีผู้เสนอมหาวิทยาลัย เพื่อจัดตั้ง "สภาอาจารย์" ขึ้นมา แต่ในช่วงเวลานั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับของมหาวิทยาลัย จึงไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งได้ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ได้มีผู้เสนอให้จัดตั้งองค์กรชื่อว่า "สภาอาจารย์" ขึ้นมาอีกครั้ง

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ประชุมอาจารย์ขณะนั้นจึงเห็นชอบให้จัดตั้ง "สภาอาจารย์" ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์ ในมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารมหาวิทยาลัยทั้งในด้านวิชาการ และด้านบริหารตามระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย และในที่สุด ที่ประชุมอาจารย์ในครั้งนั้นได้มอบหมายให้อาจารย์ท่านหนึ่ง จากคณะนิติศาสตร์ ยกร่างหลักโครงสร้างสภาอาจารย์มาเสนอที่ประชุมคณาจารย์ 

เมื่อมีการเสนอหลักการโครงสร้างสภาอาจารย์ต่อที่ประชุม ก็ได้เกิดการอภิปรายแก้ไขหลักการโครงสร้างสภาอาจารย์กันอย่างกว้างขวาง ที่ประชุมให้อาจารย์คณะต่าง ๆ เลือกตั้งผู้แทน คณะละ 5 คน เพื่อให้เป็นกรรมการยกร่างข้อบังคับสภาอาจารย์ ซึ่งได้กำหนดคุณสมบัติของผู้แทนอาจารย์ ว่าจะต้องเป็นอาจารย์ประจำ และไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยในขณะที่มีการเลือกตั้ง

สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงถือกำเนิดขึ้นมา โดยมี "ข้อบังคับ มหาวิทยาลัยรามคำแหงว่าด้วยสภาอาจารย์" ประกาศใช้เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2517 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาจารย์มีบทบาทในสังคมยิ่งขึ้น เพื่อพิทักษ์สิทธิอันชอบธรรมของอาจารย์ และเพื่อให้อาจารย์มีส่วนร่วม และช่วยเหลือมหาวิทยาลัยในการบริหาร วางแผนการศึกษา และการพัฒนามหาวิทยาลัย 

ศ.รัญจวน อินทรกำแหง

ข้อบังคับฯ ที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2517 กำหนดให้เลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินงานจาก 7 คณะ 1 สำนักฯ คือ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ และสำนักบริการทางวิชาการและทดสอบประเมินผล โดยจะต้องมีกรรมการดำเนินงานซึ่งได้รับเลือกตั้งจากคณะและสำนักฯ 40 คน และกรรมการซึ่งได้รับการเลือกจากอาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัย อีก 9 คน รวมกรรมการทั้งหมด 49 คน ส่วนสมาชิกของสภาอาจารย์นั้น ได้แก่ อาจารย์และข้าราชการทุกคนที่มีคุณสมบัติตามข้อบังคับ 

 การเลือกตั้งสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงครั้งแรก จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2517 ณ ตึกสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง มี "นายปันโน สุขทรรศนีย์" เป็นประธานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ภายหลังการเลือกตั้งฯ ได้มีการจัดการประชุมสภาอาจารย์ครั้งแรก โดย "
ศาสตราจารย์รัญจวน อินทรกำแหง" ได้รับเลือกจากกรรมการสภาอาจารย์ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาอาจารย์คนแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ผลการเลือกตั้ง ปี 2517

หลังจากนั้น สภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง" หลังจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541 โดย ข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยสภาคณาจารย์ พ.ศ. 2544 ได้เริ่มใช้ตั้งแต่คณะกรรมการสภาคณาจารย์ รุ่นที่ 23 เป็นรุ่นแรก โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์วิรัตน์ แดนราช เป็นประธานสภาคณาจารย์ 

ปัจจุบัน สภาคณาจารย์ใช้ "ข้อบังคับ มหาวิทยาลัยรามคำแหงว่าด้วยสภาคณาจารย์ พ.ศ. 2557" ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 โดยสภาคณาจารย์สมัยปัจจุบัน คือ รุ่นที่ 33 (2565-2567) มี รศ.ดร.ปิยะ ศักดิ์เจริญ เป็นประธานสภาคณาจารย์ โดยมาจากกรรมการประเภททั่วไป 5 คน และกรรมการประเภทสังกัดคณะ คณะละไม่เกิน 3 คน

สภาคณาจารย์ใช้อาคารพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นอาคารสำนักงาน โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2549 

อาคารที่ทำการสภาอาจารย์ ปี 2517

อาคารที่ทำการสภาคณาจารย์ ปัจจุบัน