การออกแบบแนวทางการแก้ปัญหา

การออกแบบแนวทางการปัญหา


การออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาโดยถ่ายทอดความคิดออกมาให้เป็นรูปธรรมนั้น สามารถทำได้ในหลายรูปแบบ เช่น การร่างภาพ การเขียนผังงาน การเขียนแผนภาพ การเขียนอธิบายเป็นขั้นตอน ซึ่งมีจุดประสงค์เดียวกันคือเพื่อสรุปแนวคิดและสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ


1. การร่างภาพ

เป็นวิธีการถ่ายทอดความคิดของแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นชิ้นงาน  โดยภาพจะต้องแสดงรายละเอียดในแต่ละส่วน ซึ่งอาจแสดงรูปร่าง รูปทรง ลักษณะการทำงานหรือกลไกภายใน

ภาพที่ร่าง แบ่งเป็นภาพ 2 มิติ และ 3 มิติ โดยภาพ 2 มิติ คือภาพที่แสดงรายละเอียดของแนวคิดที่ประกอบด้วยด้านกว้างและด้านยาว  ส่วนภาพ 3 มิติ คือภาพที่แสดงรายละเอียดของแนวคิดที่ประกอบ ด้วย ด้านกว้าง ด้านยาว และด้านสูง


การร่างภาพของชิ้นงานควรระบุขนาดหรือสัดส่วนที่แท้จริง เพื่อสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจตรงกันและสามารถนำไปสร้างเป็นชิ้นงานตามที่ได้ออกแบบไว้ ภาพ 3 มิติ แบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ


1) ภาพออบลิค (Oblique)  เป็นภาพที่แสดงด้านหน้าของวัตถุด้านข้างทำมุม 45 องศากับเส้นแกนนอน เหมาะสำหรับนำเสนอวัตถุที่มีรายละเอียดด้านหน้ามาก


  

2) ภาพไอโซเมตริก (Isometric)  เป็นภาพที่เขียนทำมุมเอียง 30 องศากับเส้นแกนนอนทั้งสองด้านของวัตถุ 

3) ภาพเปอร์สเปคทีฟ (Perspective) เป็นภาพที่มองจากระยะไกลลักษณะของเส้นฉายจะไปรวมกันที่จุดรวมสายตา เป็นภาพที่เหมือนจริงมากที่สุด 

2. การเขียนแผนภาพ

เป็นการถ่ายทอดความคิดของแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นวิธีการ โดยการสร้างลำดับขั้นตอนของการทำงานในระบบงานหนึ่ง ๆ ในลักษณะของรูปภาพเพื่อแสดงให้เห็นว่าแนวทางการแก้ปัญหานั้นมีการทำงานหรือวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร เริ่มตั้งแต่ต้นไปจนถึงผลลัพธ์สุดท้าย เช่น การแก้ปัญหาการข้ามคลอง ด้วยการใช้ไม้ไผ่วางพาดระหว่าง 2 ฝั่งคลอง  การทำนาเกลือ


3. การเขียนผังงาน

เป็นการถ่ายทอดความคิดของแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นวิธีการ โดยการแสดงลำดับหรือขั้นตอนการทำงานเริ่มตั้งแต่ต้นไปจนถึงผลลัพธ์สุดท้าย โดยใช้สัญลักษณ์มาตรฐานในการเขียนผังงาน เช่น  วิธีการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน