1. อ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์มาก
อารมณ์อ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษเมื่อได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบ เก็บคำวิจารณ์เหล่านั้นมาคิดทบทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่าและคิดมาก อาจมีการแสดงออกทางอารมณ์ เช่น จิตตกได้ง่าย เศร้า เสียใจง่าย น้อยใจง่าย หรือโกรธ โมโห หงุดหงิดง่ายเมื่อได้รับการวิพากษ์วิจารณ์
2. กลัวการเข้าสังคม
ไม่กล้าพูดคุยหรือแสดงความคิดเห็นเพราะกลัวถูกปฏิเสธ กลัวความผิดพลาด บางคนอาจเก็บตัว ไม่อยากพบเจอใคร หรือบางคนอาจตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับคนอื่น มีพฤติกรรมขวางโลกและมองผู้อื่นในแง่ลบ
3. มักเรียกร้องความสนใจ
การแสวงหาความยอมรับ ความสนใจ และความรักจากผู้อื่นเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม แต่ถ้าหมกมุ่นเกินไป อาจหมายความว่าเพื่อนๆ กำลังขาดความมั่นใจและไม่เห็นคุณค่าในตนเอง จึงต้องแสวงหาจากการยอมรับจากคนรอบข้างมาชดเชย
4. กังวลกับภาพลักษณ์ของตัวเองมากๆ
แคร์สายตาผู้อื่น ห่วงภาพลักษณ์ของตัวเองมาก วิตกกังวลว่าผู้อื่นจะมองเราอย่างไร บางคนอาจถึงขั้นประเมินว่าคนอื่นจะให้คะแนนเราเท่าไหร่ อย่างไร จริงๆ แล้วการแคร์ผู้อื่นบ้างเป็นเรื่องที่ดี เพราะแสดงถึงความใส่ใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แต่ถ้ามากเกินไปก็อาจทำให้เรารู้สึกขาดความมั่นคง หรือขาดความภูมิใจในตนเองได้
5. ลังเล ไม่ค่อยกล้าตัดสินใจ
บางครั้งเราอาจรู้สึกกลัว ลังเล ไม่เชื่อมั่นในการตัดสินใจของตัวเอง รวมไปถึงกังวลกับผลที่จะตามมาจนไม่กล้าตัดสินใจลงมือทำอะไร
6. รู้สึกโดดเดี่ยว
รู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่ยอมรับ เข้ากับผู้อื่นไม่ได้ ทำให้เหงาและโดดเดี่ยว บางครั้งแสดงออกผ่านการเก็บตัวหรือความต้องการอยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนตลอดเวลา เพราะไม่สามารถเป็นเพื่อนที่ดีให้กับตัวเองได้
7. กลัวความผิดพลาด ย้ำคิดย้ำทำ
กังวล ทบทวนและทำสิ่งเดิมอยู่ซ้ำๆ ตรวจสอบแล้วตรวจสอบอีกเพราะกลัวความผิดพลาด กลัวความไม่สมบูรณ์แบบ กลัวว่าความผิดพลาดจะทำให้ตนเองเสียความมั่นใจไปกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่การหลีกเลี่ยงปัญหา ทำให้ปัญหาพอกพูนไปเรื่อยๆ และนำไปสู่ความเครียดได้
8. พยายามเอาใจคนอื่นมากเกินไปและไม่กล้าปฏิเสธ
บางคนอาจยอมเป็นผู้ตามผู้อื่นมากเกินไป ไม่กล้าปฏิเสธคำขอ ไม่กล้าบอกความต้องการของตนเองตรงๆ จนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป สาเหตุเพราะกลัวว่าจะแปลกแยกและไม่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น จนนำไปสู่การขาดความภูมิใจตนเองและไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร
9. ยึดติดกับความสำเร็จมาก
ต้องการเป็นที่รู้จัก ต้องการชื่อเสียง เกียรติยศและความสำเร็จเพื่อให้ได้รับการยอมรับและรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในสายตาผู้อื่น ซึ่งเกิดจากการไม่เห็นคุณค่าภายในตนเอง จึงต้องเสริมความเชื่อมั่นโดยอาศัยความสำเร็จต่างๆ เป็นตัวการันตีคุณค่าของเรา
10. ไม่ยอมรับข้อบกพร่องของตนเอง
หลีกเลี่ยงและไม่ยอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง พยายามปลอบใจตัวเองด้วยข้อดีต่างๆ นานาจนบางครั้งอาจนำไปสู่อาการหลงตัวเองเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีอยู่ตลอด
จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติ ใครๆ ก็มีอาการเหล่านี้ได้ แต่ถ้าเพื่อนๆ รู้สึกว่าตนเองมีอาการเหล่านี้มากเกินไป อาจต้องกลับมาทบทวนตนเองว่าเราเห็นคุณค่าและพึงพอใจในตนเองมากน้อยแค่ไหน แล้วลองกลับมาดูแลตนเอง รักตนเองให้มากขึ้น
ดูเหมือนว่า Self-Esteem น่าจะอยู่ในตัวของคนทุกคน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย หลายคนแม้จะประสบความสำเร็จในชีวิต มีหน้าที่การงานดี มีความรักที่สมหวัง แต่กลับไม่ได้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า หรือไม่ได้รู้สึกมีความสุขอย่างที่คนอื่นเข้าใจ
การมี Self-Esteem เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเราคงจะอยู่อย่างทุกข์ทรมานกับร่างที่ใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไม่อาจสัมผัสถึงความสุข ความภาคภูมิใจ และพลังใจใดๆ จริงๆ แล้ว Self-Esteem เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาได้ ซึ่งบทความบนเว็บไซต์ Medium เรื่อง “4 Psychological Habits for Better Self-Esteem” ที่เขียนโดย Nick Wignall ได้พูดถึงการพัฒนา Self-Esteem ด้วยการสร้างนิสัยผ่านพฤติกรรมที่ดีของตัวเอง 4 ข้อ ดังนี้
1. รักษาสัญญากับตัวเอง
คนที่มี Self-Esteem ต่ำมักจะเก่งมากกับการรักษาสัญญาต่อคนอื่น แต่กลับไม่เคยรักษาสัญญาต่อตัวเองได้เลย ลองสังเกตตัวเองดูว่าคุณเป็นคนที่แคร์คนอื่นมากเกินไปหรือเปล่า คุณพยายามจะให้ในทุกสิ่งที่คนอื่นๆ ต้องการ จนมันเริ่มกัดกินพื้นที่ส่วนตัวและเวลาที่คุณมอบให้ตัวเองหรือไม่
สมมติว่า คุณมีเพื่อนคนหนึ่งที่ไม่สนใจฟังคำแนะนำของคุณ ผิดนัดบ่อย และไม่รักษาคำพูด คุณก็คงอยากตีตัวออกห่าง ไม่อยากคบต่อ จนถึงขั้นรู้สึกหมดศรัทธากับเพื่อนคนนั้น ซึ่งนี่คือสิ่งที่ตัวคุณต้องเจอทุกวัน คุณที่ผิดสัญญากับตัวเอง ไม่สนใจทำตามความต้องการของตัวเอง ตามใจคนอื่นมากกว่าตัวเอง จึงไม่แปลกใช่ไหมที่คุณจะรู้สึก “หมดคุณค่า” ในตัวเอง ดังนั้น ถ้าอยากเพิ่ม Self-Esteem คุณจึงควรเริ่มต้นด้วยการรักษาสัญญากับตัวเองเป็นอันดับแรก
2. อยู่กับคนที่ดีต่อใจ
คนที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยนั้นมีอิทธิพลต่อลักษณะนิสัยของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าคุณอยู่กับคนขี้เกียจเยอะๆ คุณก็มีแนวโน้มจะเป็นคนขี้เกียจไปด้วย เช่นเดียวกับเรื่องพฤติกรรมและ Self-Esteem ลองสังเกตดูว่า ในตอนที่คุณต้องอยู่ในวงสนทนาที่คุณเชื่อมต่อกับใครก็ไม่ติด คุณจะรู้สึกว่าตัวเองรู้น้อยหรือเปล่าที่คุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง หรือการต้องแฮ้งเอาต์กับคนที่ไม่ได้มีความสนใจตรงกัน คุณต้องพยายามอย่างมากที่เข้าไปในโลกของเขา อินไปเรื่องของเขา สุดท้ายคุณก็จะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า และไม่ชอบตัวเองขึ้นเรื่อยๆ แต่มันก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์แบบนั้น สิ่งที่คุณพอจะทำได้เมื่อต้องอยู่กับคนที่ ‘ไม่ดีต่อใจ’ ก็คือ คุณสามารถพิจารณาต่อได้ว่า ทำไมเราจึงรู้สึกเช่นนั้น เพื่อจะรับรู้ว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นความผิดของคุณ อย่าลืมหาคนที่ดีต่อใจ คนที่ทำให้คุณชอบตัวเองเวลาที่ได้อยู่กับคนคนนั้น และใช้เวลากับเขาเพื่อเพิ่ม Self-Esteem ให้ตัวเอง
3. พูดคุยกับตัวเองอย่างสุภาพ
ในทุกๆ ช่วงชีวิต เรามักจะมีใครบางคนที่ทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองอยู่ทุกวัน อาจเป็นเจ้านายที่ตำหนิเราแม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ คอยจับผิดในทุกการกระทำจนเราประสาทเสีย หรือแฟนเก่าที่บอกว่าเราเป็นแฟนที่แย่ นิสัยไม่ดี จนกลายเป็นแผลในใจที่ไม่อาจลบเลือน คำพูดที่เจอทุกๆ วันจะค่อยๆ กด Self-Esteem ให้ลดลง จนในที่สุดมันก็หมดสิ้น เมื่อถึงตอนนั้น คุณจะกลายเป็นคนที่เชื่อในทุกคำที่คนอื่นบอก และยอมรับว่าตัวเองไม่มีอะไรดีสักอย่าง
ลองใจดีกับตัวเองเยอะๆ พูดคุยและชื่นชมตัวเองบ่อยๆ ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน ทำทุกวันจนกลายเป็นนิสัย แล้ว Self-Esteem ของคุณจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น
4. เชื่อในคุณค่าของตัวเอง
ข้อสุดท้ายนี้ดูจะยากเหลือเกิน แต่เป็นสิ่งสำคัญมากที่จำเป็นต้องทำ นั่นคือการพยายามมองให้เห็นว่าตัวเองมีคุณค่า โดยเริ่มต้นจากการ “ทำตามนัด” ที่เราได้นัดหมายกับตัวเองไว้ เช่น การไปออกกำลังกายตอน 6 โมงเย็น ตามที่วางแผนไว้ถ้าคุณทำได้ตามที่คิด คุณจะไม่ผิดหวังกับตัวเอง เลิกกล่าวโทษและอยู่กับความผิดหวังนั้นนอกจากคำแนะนำจากบทความข้างต้นแล้ว เรายังอยากแนะนำให้คุณตรวจสอบ “สิ่งที่คุณให้ความสำคัญ” ในชีวิต ลองดูว่าสามอันดับแรกของคุณมีอะไรบ้าง งาน ครอบครัว เพื่อน คนรัก ตัวเอง
ถ้าหนึ่งในนั้นไม่มีคำตอบว่า “ตัวเอง” นั่นคงถึงเวลาที่คุณต้องกลับมามองคุณค่าของตนเองอย่างจริงจังแล้วละ
1. ไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จเหมือนใครๆ ก็มีคุณค่าได้
การแข่งขันในสังคมปัจจุบันอาจทำให้ทุกคนต้องเผชิญกับความกดดันที่มากขึ้น ความรู้สึกเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นอยู่เสมอจึงเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยที่บางครั้งเราก็ไม่รู้ตัว นอกจากนี้ยังมีค่านิยมและบรรทัดฐานของสังคมที่นิยามรูปร่างหน้าตาของความดีงามเอาไว้ให้เราเดินตามเป็นสูตรสำเร็จ แต่อย่าลืมว่าเราทุกคนล้วนมีความแตกต่างและมีความพิเศษในแบบของตนเองอยู่แล้ว และความแตกต่างนี้ก็ทำให้เราเป็นเราในแบบที่ไม่มีใครเหมือน ไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จเหมือนใครก็ได้ เพราะความแตกต่างและมีเส้นทางเป็นของตัวเองก็เป็นอะไรที่ดีไม่แพ้กันเลย อ่านมาถึงตรงนี้เพื่อนๆ เริ่มรู้สึกหรือยังว่าตัวเองพิเศษมากแค่ไหน?
2. หาจุดแข็งของตัวเอง ยอมรับจุดด้อย
ยอมรับว่าเรามีทั้งเรื่องที่เก่งและไม่เก่ง ลองค้นหาความเก่งของเรา สิ่งที่เราชอบทำและสามารถทำได้ดี อาจจะต้องใช้เวลานิดหน่อยแต่รับประกันเลยว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นคุ้มค่ามากๆ
3. เรื่องเล็กๆ ที่ฉันภูมิใจ ลองเล่าสิ่งนี้ให้คนอื่นฟังดูบ้าง
เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เรามองข้ามไปอาจพิเศษมากก็ได้ในสายตาคนอื่น ลองเล่าให้คนที่เราไว้ใจฟังดูบ้าง นอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ยังทำให้เรารู้จักผู้อื่นมากขึ้นแบบคาดไม่ถึง
4. ใจดีกับตัวเองขึ้นอีกนิด
อย่ากดดันตัวเองจนเกินไปว่าต้องประสบความสำเร็จ และอย่าลืมให้อภัยตัวเองหรือผู้อื่นเมื่อทำผิดพลาด การยอมรับและเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ ลองคิดว่าความผิดพลาดคือการเรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของเรา ลองคิดแบบนี้ก็จะทำให้รู้สึกดีขึ้นได้นิดหน่อยนะ
5. เคารพความต้องการของตัวเองด้วยการ ‘ฝึกปฏิเสธ’
การไม่ยอมรับข้อเสนอบางอย่างจากผู้อื่นบางครั้งก็เป็นสิ่งที่ควรทำและดีต่อตัวเราด้วย ไม่ต้องกลัวว่าปฏิเสธไปแล้วจะไม่เป็นที่รัก ฟังเสียงหัวใจตัวเองให้มากขึ้น เคารพความต้องการของตัวเองให้มากขึ้น แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้เลยเถิดถึงขั้นเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกเรื่องและกลายเป็นความเห็นแก่ตัวนะ ใช้หลักง่ายๆ ว่าถ้าไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ลองตามใจตัวเองดูบ้างก็ดี
6. เพิ่มคุณค่าในตัวเองด้วยการเป็นผู้ให้
บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าตัวเองไร้ประโยชน์และไม่มีค่า แต่เพื่อนๆ อาจไม่รู้ว่าการให้ความช่วยเหลือของเรามีความสำคัญต่อผู้อื่นมากแค่ไหน ลองเริ่มต้นจากสิ่งง่ายๆ เช่น บริจาคสิ่งของเหลือใช้ ไปบริจาคเลือด หรือทำกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ ไม่แน่การเสียสละเล็ก ๆ ของเราอาจต่อชีวิตให้ผู้อื่นก็ได้ ใครจะไปรู้
7. กล้าหาญ กล้าเผชิญกับปัญหาด้วยความเข้าใจ
อย่าเก็บปัญหาไว้จนเรื้อรัง ลองใช้ความกล้าหาทางแก้ปัญหาเหล่านั้นดูตั้งแต่เนิ่นๆ ถึงจะได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้างแต่ก็ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ และทำให้เราแก้ไขปัญหาครั้งต่อๆ ไปได้ดียิ่งขึ้น
8. รับฟังและเปิดใจเมื่อได้รับคำวิจารณ์
คำวิจารณ์จากผู้หวังดีนั้นมีค่ามากๆ ลองเก็บคำวิจารณ์นี้มาปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเป็นคำวิจารณ์ที่รุนแรงหรือความเห็นที่บั่นทอนจิตใจก็พยายามจับประเด็นสำคัญให้ได้ แต่อย่าเก็บอารมณ์หรือคำพูดรุนแรงไปคิดมากจนสูญเสียความมั่นใจในตนเอง ลองฟังหูไว้หูบ้างก็จะทำให้ไม่รู้สึกแย่จนเกินไปด้วย
9. เคารพตัวเองและเคารพผู้อื่น
นอกจากเชื่อมั่นและเคารพตัวเองแล้วก็ควรเคารพผู้อื่นด้วย ฝึกยอมรับว่าทุกคนมีความแตกต่างกันทั้งด้านความคิดและความรู้สึก รวมไปถึงความแตกต่างด้านรูปลักษณ์ภายนอก ไม่ดูถูกดูแคลนใคร ไม่ด่วนตัดสินตัวเองและผู้อื่น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเป็นที่รักและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
10. คำชมเล็กๆ น้อยๆ ทำให้โลกสดใสขึ้น
ถ้าการรอให้ผู้อื่นเอ่ยชมเรานั้นยากเกินไป ลองชมตัวเองเล็กๆ น้อยๆ บ้างก็ทำให้โลกดูสดใสขึ้นได้นะ และถ้าไม่ยากเกินไปก็ลองกล่าวชมผู้อื่นดูบ้าง คำพูดดีๆ เพียงเล็กน้อยของเราอาจเป็นเรื่องดีๆ ของเขาไปทั้งวันเลยก็ได้
เพราะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมเราอาจควบคุมสถานการณ์หลาย ๆ อย่างให้เป็นดั่งใจเราไม่ได้ทั้งหมด บางครั้งอาจมีการกระทำหรือคำพูดที่มากระทบจิตใจจนทำให้เรารู้สึกแย่ แต่ถ้าเราเห็นคุณค่าในตัวเองอยู่เสมอ มีความมั่นคงทางจิตใจที่มากพอ มีภูมิคุ้มกันทางใจที่ดี สิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบกับใจเราน้อยมากๆ มาเริ่มรักตัวเองให้มากขึ้นตั้งแต่วันนี้กันเถอะ!
พูดคุยปรึกษา
พี่แกนนำ
พี่อร
ประธานชมรม
TO BE NUMBER ONE
พูดคุยปรึกษา
พี่แกนนำ
พี่เทล
คณะศึกษาศาสตร์
สาขาจิตวิทยาและ
การแนะแนว
พูดคุยปรึกษา
ครูพรสุรีย์ พงษ์เศวต
หัวหน้างาน
อนามัยโรงเรียน
ครูที่ปรึกษาชมรม
TO BE NUMBER ONE