บทบาท กศน.ตำบล


การดำเนินงาน กศน.ตำบล

1. การบริหารจัดการ

มีแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้

1) ด้านอาคารสถานที่ ปรับปรุงอาคารสถานที่ทั้งภายในและภายนอกให้มีความพร้อมในการให้บริการให้มีความสะอาด ร่มรื่น สวยงาม ปลอดภัย เหมาะสมและมีบรรยากาศเอื้อต่อการส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

2) ด้านวัสดุ ครุภัณฑ์ จัดหา วัสดุ และครุภัณฑ์ พื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย เพียงพอกับความต้องการ เช่น คอมพิวเตอร์สำหรับบริการสืบค้นข้อมูล โปรเจ๊คเตอร์ เครื่องเล่นดีวีดี อุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม วิทยุ ฯลฯ และดูแล บำรุงรักษาวัสดุ และครุภัณฑ์ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน

3) จัดหาสื่อการเรียนรู้ประเภทต่าง ๆ ทั้งสื่อเอกสารสิ่งพิมพ์ และ สื่ออิเล็กทรอนิกส์

4) ด้านบุคลากร

ครู กศน. ตำบล ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุน และประสานการทำงานกับครู ศรช. ชุมชนและภาคีเครือข่าย ปฏิบัติหน้าที่ประจำ ในพื้นที่ กศน. ตำบล ที่รับผิดชอบได้รับการอบรมพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องตามแผนที่ อำเภอหรือจังหวัด กำหนด

ครู กศน. จัดกิจกรรม กศน. ในหมู่บ้าน/ชุมชน ที่รับผิดชอบ ประสานการทำงานร่วมกับหัวหน้า กศน.ตำบล ชุมชนและภาคีเครือข่าย

คณะกรรมการ กศน. ตำบล ดำเนินการสรรหา คณะกรรมการ กศนตำบล ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน กศน. กำหนด สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่คณะกรรมการ กศน. ตำบล เกี่ยวกับการดำเนินงาน กศน. ตำบล เสริมสร้างแรงจูงใจและความพร้อมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม กศน. ตำบลทำหน้าที่เป็นเลขานุการ ในการจัดประชุมคณะกรรมการ กศน. ตำบล

อาสาสมัคร กศน. ตำบล ดำเนินการสรรหาและ เสริมสร้างแรงจูงใจ ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม กศน. ตำบล

ภาคีเครือข่าย แสวงหา รวบรวมและจัดทำทำเนียบภาคีเครือข่ายในระดับตำบล สร้างความเข้าใจให้แก่ภาคีเครือข่ายเกี่ยวกับการดำเนินงาน กศน.ตำบล เสริมสร้างแรงจูงใจและความพร้อมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม กศน.ตำบล

2. กิจกรรมหลักของ กศน. ตำบล

กศน.ตำบลจะมีการปรับบทบาทภารกิจให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและบริบทของพื้นที่ ตลอดจนรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนมากขึ้น ภายใต้การขับเคลื่อนการดำเนินงาน 4 ศูนย์การเรียนรู้ ได้แก่

1) ศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่

เป็นศูนย์กลางการส่งเสริม จัดกระบวนการการเรียนรู้ และหน่วยประสานงานแหล่งเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายในชุมชน ดำเนินงานร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

(กอ.รมน.)

2) ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาระบอบประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.)

เพื่อสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข โดยเฉพาะสิทธิและหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตยบูรณาการความร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

3) ศูนย์ดิจิทัลชุมชน

ซึ่งบริหารจัดการฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับ กศน. และชุมชน เพื่อให้มีความรู้และรับรู้ที่เท่าทันปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกยุคดิจิทัล

4) ศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตชุมชน

เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาในระบบการศึกษา นอกระบบการศึกษา และการศึกษาตามอัธยาศัย ให้มีคุณภาพที่สอดคล้องกับนโยบายทางการศึกษา โดยยึดชุมชนเป็นฐานในการดำเนินงาน โดย กศน.ตำบลมีบทบาทเป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวก

3. การมีส่วนร่วมของชุมชน

การมีส่วนร่วมของชุมชน มีแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้

1) ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนและทุกภาคส่วนของชุมชนเห็นความสำคัญและเข้าร่วมในการดำเนินกิจกรรม กศน. ตำบล และจัดให้มีการยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นต้น

2) ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและพัฒนางาน กศน.ตำบล อย่างต่อเนื่องและมีส่วนร่วมในการนิเทศ ติดตามประเมินผลและรายงานผลการดำเนินงาน กศน. ตำบล

3) เสริมสร้างและพัฒนาระบบเครือข่ายการเรียนรู้ ภายในตำบล และระหว่างตำบล เช่น แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น โรงเรียนดีประจำตำบลศูนย์ ICT ตำบล เป็นต้น

4. การนิเทศ ติดตามและรายงานผล

1) การนิเทศ ติดตามผลการจัดกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการประจำปี โดยจัดทำแผนการนิเทศ ติดตามผลการจัดกิจกรรมในพื้นที่ ประสานภาคีเครือข่ายร่วมนิเทศ ติดตามผล จัดให้มีประชานิเทศกิจกรรมในพื้นที่

2) การรายงานผลการจัดกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการประจำปี โดยจัดทำปฏิทินการรายงานผลการจัดกิจกรรมจัดเก็บข้อมูลและรวบรวมผลการจัดกิจกรรม จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน รายงานข้อมูล ที่เกี่ยวข้องตามแบบและระยะเวลาที่กำหนด และรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของ กศน. ตำบล

กลไกการขับเคลื่อน

ระดับตำบล

1. จัดทำแผนพัฒนา กศน.ตำบล ในรูปแบบ Micro Planning เพื่อขับเคลื่อนงานในระดับตำบล

2. ใช้ “ตำบล.แผนปฏิบัติการ กศน” เป็นแนวทางการขับเคลื่อนงานในสถานศึกษาและเป็นกรอบแนวทางในการติดตามประเมินผล

3. ใช้ชุมชนเป็นฐานในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ กศน. โดย กศน.ตำบล ศูนย์การเรียนชุมชน และแหล่งเรียนรู้ชุมชน เป็นหน่วยจัดและให้บริการ

4. ใช้วงจรคุณภาพเดมมิ่ง PDCA ในกระบวนการทำงาน