สิมเก่าอายุเกือบร้อยปีที่
วัดราสิยาราม บ้านไก่คำ

วัดราสิยารามตั้งอยู่ที่บ้านไก่คำ ตำบลไก่คำ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นชุมชนที่ประชาชนย้ายถิ่นฐานมาจากเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ อุโบสถวัดราสิยาราม เป็นอุโบสถ (สิม) ขนาดเล็ก จากคำบอกเล่าว่า นายลา ได้บริจาคที่ดิน จำนวน 12 ไร่ เพื่อสร้างเป็นสถานที่สร้างวัด ต่อมานายลาและนายลิน ซึ่งเป็นพี่น้องกันได้อุปสมบทประจำอยู่ที่วัด จึงได้ตั้งชื่อวัดว่า "วัดราสิยาราม” และมีการจารึกไว้ว่า เจ้าคณะแขวง และอุปัชฌาพันเป็นผู้ชี้แจง ผู้เป็นหัวหน้าคือ ยาครูแดง ยาครูไตร พระสงฆ์และสามเณร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรพร้อมใจกันสร้างปฏิสังขรขึ้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2468 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2471

วัดราสิยาราม จ.อำนาจเจริญ มีสิมเก่าแก่สร้างในปี พ.ศ.2468 มีฮูปแต้ม พระพุทธรูปโบราณ เป็นสิมขนาดเล็ก ลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 4.20 เมตร ยาว 2.4 เมตร สูง 6.60 เมตร รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นอีสาน หันหน้าชนกันกับสิมใหม่ เข้าออกทางเดียว มีมุขด้านหน้า โดยแบ่งเป็นส่วนมุขและส่วนตัวสิม หลังคาเดียวกัน มีประตูไม้สองบานเป็นทางเข้าออก เหนือประตูมีการเขียนฮูปแต้มสี

สิมใหม่ที่ผ่านการบูรณะจากกรมศิลปากร

อุโบสถ (สิม) เป็นอาคารขนาดเล็กก่อด้วยอิฐถือปูน ที่ผนังกำแพงมีเสาไม้ด้านละ 4 ต้น รองรับส่วนหลังคา ที่ขื่อห้องแรกสลักลายรูปพญานาคเกี้ยวพันกันห้องที่สองสลักลายเถาวัลย์พันกัน ผนังภายในฉาบปูนเรียบ ภายในมีพระพุทธรูป 3 องค์ องค์กลางเป็นพระประธาน ผนังด้านหน้าภายนอกเขียนภาพจิตรกรรมระดับเหนือประตู 4 เรื่อง บนสุดเขียนเป็นภาพพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี ด้านล่างเขียนภาพพระพุทธเจ้าตอนมารผจญ ด้านล่างทางซ้ายมือเขียนภาพเรื่องพระมาลัยโปรดสัตว์นรก ขวามือเขียนเรื่องพระเวสสันดรชาดก อาคารอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ หลังคามุงด้วยสังกะสี เชิงชายมีร่องรอยของการแกะสลักเป็นลายหยักโค้ง คงได้รับการบูรณะมานานอุโบสถจึงไม่มีคันทวย จั่วมีลายประดับแถวบนแบ่งเป็น 3 ช่อง ประดับลายรูปพระอาทิตย์อัศดงคต 3 ดวง แถวกลางและแถวล่างสลักลายเส้นพื้นลายลูกฟักปลายแหลม ครีบใต้จั่วไปลายฉลุไม้โค้งลงไปจรดปลายเสา

จิตรกรรมฝาผนังวัดราสิยาราม บ้านไก่คำ อำนาจเจริญ

บันทึกประวัติศาสตร์ความคิดคนลาวอีสาน ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 6 เชื่อมต่อรัชกาลที่ 7 [ความรู้เพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่ามรดกจิตรกรรมฝาผนังดั้งเดิมอีสาน ตอนที่ 5

จิตรกรรมฝาผนังวัดราสิยาราม เป็นจิตรกรรมแบบพื้นบ้านลาวอีสาน ถูกกำกับการเขียนโดยพระเถระระดับเจ้าคณะแขวง ปรากฏเฉพาะผนังนอกด้านหน้าเพียงด้านเดียว นำเสนอเรื่องเมืองสวรรค์ พุทธประวัติตอนผจญพญามาร เมืองนรก และพระเวสสันดรชาดก โดยเลือกนำเสนอเพียงบางตอน จิตรกรรมทั้งหมดสะท้อนวิธีคิดของคนลาวอีสานในช่วงต้นการเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ของประเทศสยาม สื่อสารหลักจริยธรรมทางศาสนาต่อสังคมในระดับท้องถิ่นพื้นบ้าน แสดงออกแบบตรงไปตรงมา ให้ชาวบ้านรับรู้ได้โดยทันที ไม่ต้องตีความ นำเสนอ “หลักการทำดีได้ขึ้นสวรรค์ ทำชั่วตกนรก” และเป็นนรกในแบบฉบับของคนสมัยดังกล่าว จิตรกรรมจึงบ่งบอกถึงทัศนะเกี่ยวกับการมองโลกทั้งสาม คือ เมืองมนุษย์ เมืองนรก และเมืองสวรรค์ จิตรกรรมเสนอให้เห็นการมีอยู่ ของนรกกับสวรรค์ ที่สื่อสารอย่างง่าย บ่งชี้ให้เห็นการสอนหลักจริยธรรมของพุทธศาสนาท้องถิ่นลาวอีสาน รวมทั้งสร้าง พระเวสสันดรกับพระนางมัทรี รวมทั้งกัณหาและชาลี ให้ตัวละครหลักในอรรถกถาชาดกเรื่องพระเวสสันดร มีความใกล้ชิด ผูกพัน และเป็นเหมือนเจ้านายในหมู่บ้าน

จิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้ ยังเป็นกรณีตัวอย่างการทำงานร่วมกัน ระหว่างพระเถระระดับเจ้าคณะแขวงอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นผู้กำหนดเนื้อหา กับช่างท้องถิ่นในชุมชนกลุ่มเดียวกัน คือ ช่างพร จากบ้านบ่อบุ ชุมชนที่ขึ้นกับตำบลไก่คำนั่นเอง นอกจากการบันทึกในแผ่นไม้แล้ว กระบวนการเขียนภาพ ยังถูกบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า “ญาท่านเจ้าคณะแขวงอำนาจ” เป็นผู้กำหนดเนื้อหาให้กับช่างพรเขียนภาพลงบนผนังแต่ละส่วน รวมทั้งการให้ช่างพรเขียนจารึกการก่อสร้างประกอบแผ่นไม้ และติดตั้งไว้ข้างมุขดังกล่าวข้างต้น หลังจากช่างพรเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2471

ดังนั้น ป้ายบันทึก เรื่องเล่า และจิตรกรรมฝาผนังวัดราสิยาราม จึงเป็นประวัติศาสตร์ชุมชน ที่อธิบายว่า ชุมชนบ้านไก่คำ เป็นชุมชนสำคัญทั้งด้านการปกครอง และพุทธศาสนาท้องถิ่น ที่มีเจ้านายสำคัญระดับเจ้าแขวงเมืองอำนาจ กับพระเถระผู้ใหญ่ระดับเจ้าคณะแขวง คือ ญาท่านแดง รวมทั้งพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของท้องถิ่น คือ ญาท่านไต ญาท่านทัน สังกัดและดูแล การสร้างอุโบสถอยู่ในการกำกับดูแล ทั้งผู้นำฝ่ายสงฆ์และฝ่ายบ้านเมือง และการเขียนภาพก็อยู่ในการกำกับโดยตรงของเจ้าคณะแขวง จิตรกรรมฝาผนังวัดราสิยาราม จึงเป็นเสมือนจิตรกรรมที่ถูกเขียนร่วมกัน โดยพระเถระผู้ใหญ่กำหนดเนื้อหา และช่างเขียนชาวบ้านเป็นผู้สร้างสรรค์ด้านรูปแบบ

ชุมชนบ้านไก่คำ กำเนิดจากผลแห่งความขัดแย้งระหว่างพระวอ พระตา กับพระเจ้าสิริบุญสาร เจ้ามหาชีวิตลาวผู้ไร้ทศพิธราชธรรม พ่อหนูแก้ว บุญสุภาพ ผู้อาวุโสของหมู่บ้าน เล่าให้ผมฟังว่า บ้านไก่คำ เป็นชุมชนเก่าแก่ เกิดก่อนตัวอำเภอเมืองอำนาจเจริญ ในอดีตก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบเทศาภิบาล บ้านไก่คำเป็นหมู่บ้านที่เป็นศูนย์กลางการปกครอง เป็นที่อยู่ของ เจ้าเมืองอำนาจ เป็นที่น่าสังเกตว่า ประวัติศาสตร์บอกเล่าของพ่อหนูแก้ว ซึ่งเป็น ‘ความทรงจำสังคม’ มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับ ประวัติศาสตร์ลาว และ อุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช และช่วยเติมในรายละเอียดระดับหมู่บ้านเล็กบ้านน้อย ที่เป็นสะเก็ดไฟจากการขัดแย้งและวิธีเอาตัวรอดของคนโบราณเมื่อมีการขัดแย้งกับอำนาจศูนย์กลางรัฐจารีต

พ่อกล่าวว่า บรรพชนชาวบ้านไก่คำและชุมชนหมู่บ้านอีกหลายแห่งในเขตอำนาจเจริญ คือ กลุ่มของพระวอ ที่อพยพมาจากหนองบัวลุ่มภู คราวถูกไล่ล่าจากทัพหลวงเวียงจันทน์ของพระเจ้าสิริบุญสาร และได้แยกกันเป็นสองทาง คือ เขมราชกับยโสธร ต่างฝ่ายต่างตั้งชุมชนหลบลี้ข้าศึกอยู่คนละแห่งจึงจะรอดได้ ส่วนใหญ่จะตั้งชุมชนอยู่ตามริมฝั่งลำน้ำ แต่สำหรับชาวบ้านไก่คำ พากันหลบหนีมาตั้งหลักแหล่งซ่อนตัวอยู่บริเวณที่มีรูน้ำซับ ที่มีลักษณะเป็นน้ำคร่ำ ภาษาลาวอีสานเรียกว่า “น้ำคำ” บริเวณดังกล่าวมีไก่ป่ามาเขี่ยกินอาหารกันมาก จึงเรียกชุมชนของตนว่า “บ้านไก่เขี่ยคำ” ซึ่งหมายถึงไก่ป่ามาคุ้ยเขี่ยน้ำคร่ำหาอาหาร ต่อมาทางราชการให้ชื่อว่า “บ้านไก่คำ” จึงเรียกนามตามนี้มาโดยตลอด

บริเวณบ้านไก่คำในอดีตเป็นเขตป่ารกชัฏ หรือจะกล่าวว่า เป็น “ป่าช้างดงเสือ” ก็ได้ เพราะ มีช้าง เสือมากมาย พ่อหนูแก้ว บุญสุภาพ ได้ยืนยันว่า ครั้งที่พ่อยังเป็นเด็ก เคยเห็นเสือโคร่งเข้ามาในหมู่บ้านหลายครั้ง กระนั้น ก็ตาม ชุมชนบ้านไก่คำก็เป็นชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นชุมชนของเจ้าเมืองอำนาจเจริญในอดีต ขณะที่วัดบ้านไก่คำ ก็เป็นวัดประจำของพระเถรานุเถระสำคัญของชุมชน เขตอำนาจเจริญเช่นกัน ชุมชนและวัดบ้านไก่คำ ได้สร้างอุโบสถก่อผนังทึบมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นอุโบสถาคารทำหน้าที่รองรับการสังฆกรรมของพระสงฆ์ในเขตอำนาจเจริญมาช้านานร่วมร้อยปี ด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน อุโบสถได้ชำรุดทรุดโทรม เจ้าคณะแขวงขณะนั้น จึงนำพาประชาชนทำการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ระหว่าง พ.ศ.2468-2471 (ปลายรัชกาลที่ 6 เชื่อมต่อกับรัชกาลที่ 7) และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พร้อมกับเปลี่ยนนามวัดเป็น วัดราสิยาราม ในปี พ.ศ.2473

ป้ายดังกล่าวมีข้อความบันทึกว่า “เจ้าคณะแขวงและอุปัชฌาย์เป็นผู้ชี้แจง ผู้เป็นหัวหน้าคือยาคูแดง ยาคูไตรพาสงฆ์สามเณร พร้อมกันสร้างประฎีสังขรขึ้น มีกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ราษฎรได้พร้อมกันสร้างแต่เมื่อ พ.ศ.2468 จนถึง 2471 จึงสำเร็จแต่ส่วนทรัพย์นั่นหมดไป 121 บาท รูปแต้มนี้ขอหย่าให้เอามือบาย”

กล่าวสำหรับอุโบสถวัดราสิยาราม เป็นโบสถ์พื้นบ้านก่อผนังทึบขนาดเล็ก พอดีกับการใช้สอยของวัดและชุมชนในระยะดังกล่าว โบสถ์หลังนี้ สร้างอย่างง่าย ไม่พิถีพิถัน เช่นกันกับการเขียนภาพฝาผนัง สะท้อนถึงลักษณะอุโบสถพื้นบ้านดั้งเดิมอีกรูปแบบหนึ่ง สร้างด้วยอิฐก่อปูนโบราณผสมด้วยยางบง สร้างเป็นอาคารลดมุขหน้า หลังคาทรงจั่วซ้อนกันสองชั้น ลดระดับทั้งด้านหน้าและหลัง เพื่อระบายอากาศ ไม่มีเสารับปีกนก เช่นกันกับอุโบสถที่มีจิตรกรรมฝาผนังในกลุ่มอุบลราชธานีทุกแห่ง ด้านข้างมีช่องไม้มะหวดเปิดแสงและให้อากาศถ่ายเทไปพร้อมกัน มีลานระเบียงมุขด้านหน้า ส่วนฐาน ราวบันไดประดับด้วยประติมากรรมปูนปั้นรูปนาคทอดลำตัวลงสู่เบื้องล่าง ส่วนประกอบปลีกย่อยของโบสถ์ถูกประดับแต่งด้วยไม้สลัก จัดวางแผ่นไม้ดัดแปลงเป็นลวดลายอย่างง่าย ตั้งแต่ส่วนหน้าบันทำเป็นรูป “ตาเว็น” หรืออาทิตย์ส่องแสง ในส่วนป้านลมก็เป็นเครื่องไม้เช่นกัน และมีจิตรกรรมฝาผนัง ณ บริเวณผนังนอกด้านหน้า ในส่วนบนของประตูทางเข้าขึ้นไปจรดยอดจอมหน้าจั่ว

ความพิเศษของอุโบสถวัดราสิยาราม คือ มีการเขียนบันทึกบ่งบอกผู้ปฏิสังขรณ์ ช่วงเวลา จำนวนเงิน โดยจารึกบนแผ่นไม้ ติดไว้ด้านทิศใต้ของมุขหน้าด้านใน จากตัวอักษรที่ป้ายดังกล่าวบ่งชี้ถึงการเริ่มการศึกษาของรัฐชาติสยาม ตัวอักษรราชการไทยที่เขียนสะกดให้อ่านตามเสียงพูดอีสาน แบบอักษรลาวโบราณ ภายหลังการปฏิสังขรณ์และเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรียบร้อย โบสถ์วัดราสิยารามก็ได้รับการกล่าวขวัญ ชื่นชม ของผู้คนในท้องถิ่น ด้วยเป็นอุโบสถที่ถูกสร้างโดยพระระดับเจ้าคณะแขวง

ด้วยอุโบสถวัดยางช้า ถูกสร้างและใช้ทำพิธีกรรมสังฆกรรม เป็นเวลากว่า 70 ปี โบสถ์หลังนี้ก็ได้เริ่มคับแคบและทรุดโทรม ทางวัดราสิยาราม และชุมชนบ้านไก่คำ จึงดำริว่าจะรื้อสร้างใหม่ให้มีขนาดใหญ่ และมีรูปแบบทันสมัยมากกว่าเดิม ความทราบถึงสำนักศิลปากรที่ 8 อุบลราชธานีจึงได้มาห้ามรื้อถอน และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ พร้อมกับเข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์ ชาวบ้านไก่คำจึงสร้างอุโบสถหลังใหม่ไว้ใกล้กับโบสถ์หลังเดิม และเริ่มใช้ทำสังฆกรรมแทนโบสถ์หลังเดิม ตั้งแต่ พ.ศ.2549 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม คนบ้านยางช้า ยังให้ความสำคัญกับอดีตควบคู่กับปัจจุบัน เห็นได้จาก การเวียนเทียน พระสงฆ์และชาวบ้านไก่คำ ก็ได้เดินเวียนเทียนรอบอุโบสถทั้งสองหลังไปพร้อมกัน

ในส่วนของเขียนภาพ ช่างพร จิตรกรพื้นบ้านได้ใช้ผู้คนในท้องถิ่นเป็นตัวละครประกอบ หรือแสดงในเนื้อหา และเปลี่ยนผ่านตัวละครสำคัญในเนื้อหาหลักให้กลายเป็นคนท้องถิ่น เช่น พระเวสสันดร กับนางมัทรี ได้ถูกนำเสนอราวกับทั้งสองพระองค์เป็นคนท้องถิ่นบ้านไก่คำ ช่างพรได้นำเสนอด้วยรูปแบบที่เรียบง่าย ทอนเอาเฉพาะรูปทรงจำเป็นออกมานำเสนอ เหมือนกับการตัดภาพเป็นชิ้น ๆ มาแปะลงบนผนังสีขาว อย่างไรก็ตามจิตรกรรมดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นวิธีคิดชุมชนท้องถิ่นระดับพื้นบ้านในเขตอำนาจเจริญช่วงปี ทศวรรษ พ.ศ.2470 ไปพร้อมกัน

ภาพทั้งหมด ถูกเขียนอย่างง่าย ด้วยสีฝุ่น ใช้สีขาวของปูนฉาบเป็นสีพื้นไปในตัว ใช้สีวรรณะเย็นเป็นกลุ่มสีหลัก คือ สีดำ เขียว น้ำเงิน มีสีวรรณะร้อนบางสีมาสอดแทรกในบางส่วน ระบายสีแบบสีดิบ ๆ ระบายโดยมิได้เกลี่ย อย่างมีอิสระในการแทนค่าสีโดยไม่ได้กังวลถึงความถูกต้อง ตามสภาพความเป็นจริงของสิ่งนั้น อาทิ สีเนื้อมนุษย์ ใช้สีน้ำตาล ระบายสีช้างด้วยสีน้ำเงิน นอกจากนี้ ช่างมักจะเลือกใช้สีวรรณะร้อน ในส่วนต้องการเน้น อาทิ สีแดงแทนเลือดของสัตว์นรก ที่ถูกทิ่มแทงจากยมบาล รวมทั้ง การใช้สีส้ม สีแดง และสีส้มน้ำตาล ในส่วนอื่น ๆ ของผืนภาพที่ต้องการเน้นให้โดดเด่นสะดุดตา

การจัดภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดราสิยาราม ปรากฏเฉพาะผนังนอกด้านหน้า ตั้งแต่กึ่งกลางประตูขึ้นไปจรดปลายสุดยอดจอมจั่ว จิตรกรรมฝาผนังทั้งหมดจึงอยู่ในโครงสร้างรูปสามเหลี่ยม ช่างแบ่งผนังดังกล่าวตามแนวขวางเป็น 3 ชั้น บ่งบอกวิธีการมองโลกที่สัมพันธ์กับชีวิต สังคม เป็นสามส่วนสำคัญ คือ เมืองสวรรค์ เป็นที่อยู่ของเทวดาและผู้ทำความดี เมืองมนุษย์ เป็นที่อยู่ของผู้คนที่มีชีวิตในสังคม ซึ่งพร้อมจะไปอยู่ทั้งในเมืองสวรรค์และเมืองนรก แล้วแต่การกระทำกรรมดีหรือกรรมชั่วของแต่ละคน

ผนังส่วนหน้าจั่วถูกแบ่งภาพแนวขวาง ตามระดับความสูงเป็นสามแถว ส่วนบนสุดคือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นพื้นที่ประดิษฐานพระจุฬามณีเจดีย์ ช่างพรแทนค่าจุฬามณีเจดีย์ด้วยรูปทรงพระธาตุอีสาน แวดล้อมด้วยเทวดา เทพบุตร นางฟ้า ที่มากราบบูชา ผนังส่วนกลางเป็นภาพพุทธประวัติ ตอนผจญพญามาร ช่างพรนำเสนอพระสิทธัตถะกำลังบำเพ็ญเพียรเพื่อการตรัสรู้ และเผชิญกับการรังควาญจากพญามาร มีนางธรณีบีบมวยผม สลายพญามารและสมุน จนแตกพ่าย และเชื่อมโยงกับกลุ่มภาพแดนนรกภูมิเบื้อล่าง เน้นนำเสนอการลงทัณฑ์ผู้ประพฤติชั่วในโลกมนุษย์รูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากความคิดของคนพื้นถิ่นที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ โดยปราศจากอิทธิพลจิตรกรรมฝาผนังจากวัฒนธรรมอื่น

โครงสร้างการจัดวางเนื้อหาภาพวัดราสิยาราม มีลักษณะร่วมกับวัดบ้านยางช้า คือได้แบ่งพื้นที่สวรรค์ไว้ส่วนบนของผนังหน้าบัน จัดวางจุฬามณีเจดีย์ไว้ใต้ยอดจอมส่วนบนของจั่ว แต่ในส่วนของพื้นที่ถัดลงมาแตกต่างกัน กล่าวคือ เจ้าคณะแขวงได้กำหนดให้ช่างพร นำเสนอเรื่องพุทธประวัติตอนผจญพญามาร กับพระเวสสันดรชาดกไว้ฝ่ายละด้านของผนัง พื้นที่ส่วนกลาง นำเสนอภาพพระพุทธเจ้าประทับบนบัลลังก์ ที่ช่างเขียนได้ออกแบบมาจากกะแหย่งวางดอกไม้ในวัดอีสาน สะท้อนฐานคิดในการออกแบบ ถึงความสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้าหรือหลักคำสอนของพระองค์ในทุก ๆ ส่วนของเนื้อหา บนผนังหน้าบันโบสถ์ ต่างเพียงจิตรกรรมฝาผนังเป็นการย่อยหลักธรรมสู่แนวทางจริยธรรมของชุมชนเป็นที่เรียบร้อย

เนื้อหาจิตรกรรมที่อยู่ภายใต้โครงสร้างไตรภูมิแบบท้องถิ่น เมืองสวรรค์ เมืองมนุษย์ และเมืองนรก จำแนกตามระดับความสูงต่ำของผนัง ส่วนบนจึงเป็นเทวโลก สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ประดิษฐานพระจุฬามณีเจดีย์ และมีเนื้อหาจิตรกรรมส่วนอื่น ตามระดับความสูงลดหลั่นกันลงมา ประกอบด้วย พุทธประวัติตอนผจญพญามาร พระเวสสันดรชาดก และเมืองนรก

ลักษณะที่โดดเด่นของจิตรกรรมฝาผนัง ดังนี้


1. ภาพนรกซึ่งทำหน้าที่เสมือนกฎหมายท้องถิ่น ความโดดเด่นที่น่าสนใจในจิตรกรรมวัดราสิยาราม คือ ภาพกลุ่มนรกภูมิ อยู่ผนังด้านทิศใต้ หรือซีกพระหัตถ์ขวาพระประธาน เป็น นรกภูมิที่เรียบง่าย แต่สื่อได้ตรงกับเป้าหมายความต้องการของพุทธศาสนาท้องถิ่น ที่ต้องการจัดระเบียบจริยธรรมของชาวบ้าน โดยการนำเสนอภาพลงโทษผู้กระทำกรรมชั่วที่เกิดขึ้นในชุมชนกรณีต่าง ๆ แบบตาต่อตาฟันต่อฟันฉากเมืองนรก นำเสนอให้เห็นสำนักงานพญายมบาล หม้อนรก และการลงโทษสัตว์นรก ประกอบด้วย หม้อนรก รูปทรงเหมือนกับหม้อต้มดินเผา ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ 4 ชั้น พ่อหนูแก้ว บุญสุภาพ อธิบายว่า แต่ละชั้นหมายถึงหม้อนรกแต่ละขุม ภาพที่คนในชุมชนไก่คำรู้จักกันดี ในนาม “หม้อนาฮกสี่ขุม” วางซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เหมือนปิ่นโต แต่ละชั้นมีสัตว์นรกถูกยัดไว้เต็ม พวกสัตว์นรกที่ถูกต้มอยู่ในหม้อนรกนั้น มีหน้าตาเหมือนกับคนทั่วไป เพื่อให้เกิดความสมจริงในการเชื่อมโยงกับชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นหม้อนรกบนสุด มีต้นงิ้วหนามขนาดเขื่องตั้งตระหง่าน พร้อมกับเจ้าหน้าที่ยมบาลบังคับเปรตผู้ทำความผิดศีลข้อสามให้ป่ายปีนอย่างเจ็บปวดรวดร้าวความน่าสนใจอีกประการ คือ กลุ่มเปรตที่อยู่ด้านข้างหม้อนรก ซึ่งเขียนบรรยายเป็นภาษาอีสานว่า “หมู่เผ็ด 5 ประการ” สะท้อนให้เห็นการใช้ภาพเขียนจัดระเบียบสังคมในชุมชนโดยตรง เปรตเหล่านี้ ในภาพเขียนฝาผนังมีถึง 6 กลุ่ม ประกอบด้วย

“เผ็ดประโนมเข้าวัด” หมายถึงเปรตผู้หญิงที่เป็นเปรตเพราะชอบปล่อยนมหรือไม่ปกปิดเต้านมของตนเอง ขณะเข้าไปในเขตวัด ทั้งนี้ในอดีตผู้หญิงอีสานที่ผ่านการแต่งงาน และให้นมลูกแล้ว มักจะปล่อยตัว ไม่สนใจการปกปิดร่างกายส่วนบนตนเอง โดยเฉพาะชีวิตประจำวันที่บ้านหรือชุมชน ความคุ้นเคยดังกล่าวทำให้เผลอปล่อยกายท่อนบนเข้าไปในเขตวัด ซึ่งเป็นพื้นที่สงฆ์ เมื่อตายไปแล้วจึงตกนรกเป็นผู้หญิงนมยานถึงเอว

“เผ็ดโฮบไก่” เป็นเปรตจากการนำไก่ไปชนกัน ตายไปจะมีศีรษะเป็นไก่

“เผ็ดโซ่นงัว” เป็นเปรตเกิดจากการนำวัวขวิดกัน ตายไปกลายเป็นเปรตมีศีรษะเป็นวัว

“เผ็ดพ่อค้าควาย” เป็นเปรตที่เกิดจากการค้าขายควาย ตายไปเป็นเปรตตัวเป็นควายศีรษะเป็นคน

“เผ็ดจากการโตบมือเข้าวัด” เป็นเปรตที่เกิดจากการส่งเสียงดังอึกทึกครึกโครมในเขตวัด กลายเป็นเปรตที่มือใหญ่เท่าใบตาล

“เผ็ดปากเป็น” หมายถึงเปรตที่มาจากคนพูดจาไม่ตรงกับความเป็นจริง พูดส่อเสียด พูดไม่ดี ในภาษาอีสานเรียกกว่า “ปากเป็น” ก็จะถูกเจ้าหน้าที่ยมบาลใช้คีมหนีบลิ้นดึงออกมาและใช้มีดเฉือนอย่างน่ากลัวกล่าวสำหรับ ตัวละครในสำนักยมโลก ประกอบด้วยกลุ่มบริวารพญายมราช ถูกนำเสนอด้วยคนแขก โพกหัว มีหนวด ตัวใหญ่ ดูมีกำลังและอำนาจเหนือกว่าคนท้องถิ่น บริวารพญายมราชเหล่านี้คือคนบ้านไก่คำเรียกว่า “นายยมราช” มีอำนาจและหน้าที่นำเอาชีวิตหลังความตายของคนท้องถิ่น มาพิจารณาลงทัณฑ์ในแดนนรกภูมิตามระดับโทษ ซึ่งคนท้องถิ่นบ้านไก่คำ อำนาจเจริญเรียกว่า “เผ็ด” หรือ เปรต ภาพเขียนได้แสดงให้เห็นถึงจินตนาการตัวละครในเมืองนรก ที่ถูกแปรเป็นภาพเขียนพญายมราช ประทับในปราสาทถูกเขียนนามประกอบว่า “นายกุมพัน” กำลังกำกับดูแลบริวารประกอบด้วย “นายโยมมะลาด” กำลังนำเอาดวงวิญญาณหลังความตายมาส่งยังแดนนรก เพื่อรับการพิจารนาตัดสินโทษหลังความตาย

นายกุมพัน เป็นผู้บันทึก ผู้ควบคุม ล่ามโซ่ ตรวจสัตว์นรก และส่งไปยัง นายทำมโรง ผู้มีหน้าที่ลงโทษสัตว์นรกตามใบสั่งของผู้ตัดสิน ทำให้ชาวบ้านไก่คำได้เห็นภาพ ที่จะประสบหลังความตาย ซึ่งตนเองจะได้เลือกปฏิบัติชีวิต ให้เป็นไปตามครรลองของสังคมได้อย่างถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการกลายเป็น “เผ็ด” ถูกลงโทษหลังความตาย ดังกลุ่มเปรตในจิตรกรรมฝาผนังการแปรความ พญายมราชในจินตนาการกับการทาบกับผู้คนในสังคมตามทัศนะของชาวบ้าน ที่นำเอาภาพทหารรับจ้างชาวอินเดีย ซึ่งคนอีสานเรียกว่า “แขก” มาเขียนแทนกลุ่มพระยายมราช เป็นเพราะว่า ในอดีตบุคคลเหล่านี้ เป็นทหารรับจ้างของรัฐสยาม จึงถูกประทับรับรู้จากช่างเขียน การใช้เจ้านายจากระบบราชการหรือทหารรับจ้างมาทำหน้าที่เสมียนบัญชี ใช้สำนักงานราชการเป็นที่ว่าการนรก พิจารณาโทษผู้มารอรับการตัดสินลงทัณฑ์ ประกอบด้วยนายยมราช ผู้คุม ผู้ตัดสินกำกับการบนโต๊ะทำงาน ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ สุวิทย์ ธีรศาศวัต ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในประเทศสยามในกรุงเทพมหานคร สมัยรัชกาลที่ 5-6 ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยจ้างชาวลังกาชื่อ ติเลกี เป็นนักกฎหมายมาเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย และจ้าง ดร.มาซาโอะ ชาวญี่ปุ่น จ้างแจกเคอมินส์ ชาวเบลเยี่ยม และชาวอเมริกันอีกหลายคน แม้ชาวฝรั่งเศสเช่นนายปาดูซ์ มาช่วยร่างกฎหมายอาญา ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ประเทศสยามมีนักเรียนที่ส่งไปเรียนในสมัยรัชกาลที่ 5 กลับมามาก จึงจ้างชาวต่างประเทศน้อยลง อย่างไรก็ตาม ได้มีคนแขกเข้ามาทำงานในประเทศสยาม คือ พระภารตราชา มาเป็น ผอ.โรงเรียนวชิราวุธ อีกคนเป็นชาวอินเดีย พราหมศาสตรี เป็นอาจารย์สอนภาษาบาลีสันสกฤต ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนอกจากนี้อาจจะมีแขกที่เป็นพลตระเวนในกรุงเทพฯ อีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ เพื่อการสื่อสารได้ถูกต้องชัดเจน ช่างได้เขียนกำกับตัวละครแต่ละตัวด้วยอักษรไทย แต่เขียนตามเสียงอ่านแบบลาวกำกับแต่ละคน เช่น “นายโยมมะลาด” กำลังทำหน้าที่พิจารณาตัดสินความผิดให้กับสัตว์นรกที่ถูกจับมาส่งโดย “จ่าโยมพิบาน” ภาพนำเสนอ “จ่าโยมพิบาน” บางนายกำลังบังคับสัตว์นรกที่ได้รับการระบุโทษแล้ว ด้วยการถีบส่งลงไปในหม้อนรกหลุมหรือชั้นต่าง ๆ อย่างไม่ปราณี อย่างไรก็ตาม ส่วนบนของภาพแดนนรกที่น่าสะพรึงกลัวข้างต้น มีพระมาลัยเถระ ตัวแทนของพุทธศาสนาในโลกมนุษย์ กับพระอินทร์ภาพตัวแทนการมีอยู่ของเมืองสวรรค์ ตัวละครทั้งสองท่านได้เหาะลงมาเยือนนรกภูมิ แดนลงทัณฑ์สัตว์นรกทั้งหลาย ภาพทั้งหมด คือ จินตนาการของช่างเขียนซึ่งเป็นตัวแทนความคิดของคนท้องถิ่น ต่อจักรวาลทัศน์ หรือทัศนะที่มีต่อโลกทั้งสาม ซึ่งเป็นไตรภูมิของคนอีสาน ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว ในเรื่องของนรกภูมิใด ๆ จักไม่มีพระอินทร์ปรากฏในแดนนรก แต่สำหรับนรกภูมิของคนบ้านไก่คำ ช่างเขียนก็สามารถอัญเชิญพระอินทร์ให้เสด็จมายังเมืองนรก ร่วมกับพระมาลัยเถระได้ ซึ่งสะท้อนถึงวิถีคิดที่ยืดหยุ่นของคนท้องถิ่นอีสาน

ดังนั้นเมืองนรก แห่งนี้ จึงเป็น ขุมนรก ที่สะท้อนจินตภาพแห่งนรกภูมิของคนท้องถิ่นลาวอีสานที่น่าสนใจมากอีกแห่งหนึ่ง ฉากดังกล่าวมีโครงสร้างตัวละครสำคัญ คือ กลุ่มพระยายมราชกับ “จ่ายมพิบาล” ผู้มีอำนาจตัดสินและลงทัณฑ์ พวกเขานั่งอยู่ในสำนักงานตัดสิน ซึ่งเป็นเสมือนศาลและผู้กำกับแนวทางปฏิบัติของสังคม กับสัตว์นรกซึ่งเป็นดวงวิญญาณของคนที่ทำความผิดเมื่อครั้งอยู่ในมนุษยโลก หรือเมื่อครั้งยังเป็นคน และการรับโทษทัณฑ์แต่ละรูปแบบในเมืองนรก ดินแดนหลังความตายของคนทำความชั่ว ขัดกับหลักจริยธรรมของสังคมชุมชน ที่จิตรกรได้ทำให้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นกรณีการกระทำความผิดที่ถูกอธิบายใหม่ อย่างสอดคล้องกับชุมชน บนพื้นที่นรกของท้องถิ่น มีการเขียนภาพและอักษรกำกับไว้ในความผิดดังกล่าว อาทิ “เผ็ดควายโซนกัน” (เปรตควายชนกัน) เป็นเปรตที่สืบเนื่องจากครั้งที่มีชีวิตชอบนำเอาวัวควายมาขวิดกัน “ผิดขระโมยเข้าวัด” (เปรตขโมยข้าววัด) เป็นเปรตที่เกิดจากการไปขโมยข้าวและสิ่งของในวัด ฯลฯ

ดังนั้น นรกภูมิ จึงเป็นลักษณะร่วมของจินตนาการ ถึงตัวละครผู้ถูกลงโทษ คือผู้คนในชุมชน ส่วนผู้ดำเนินการ คือ เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการ การใช้เจ้านายจากระบบราชการหรือทหารรับจ้างมาทำหน้าที่เสมียนบัญชี เหมือนที่ว่าการเหมือนกับระบบภายในคุกเรือนจำ การลงโทษแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ให้ความสำคัญและการประพฤติ


2. พระเวสสันดรกับความเป็นคนท้องถิ่นอีสาน จากข้อจำกัดของขนาดพื้นที่จิตรกรรมฝาผนัง ที่ปรากฏเฉพาะผนังด้านหน้า กลุ่มภาพที่ปรากฏจึงสะท้อนให้เห็นถึงลำดับความสำคัญของเรื่องราวที่ถูกเลือกนำเสนอเป็นเนื้อหาจิตรกรรม ที่มีเรื่องพระเวสสันดรรวมอยู่ด้วย ภายใต้การอำนวยการเขียนของเจ้าคณะแขวง ช่างพรได้นำเสนอพระเวสสันดรไว้ในพื้นที่ระดับล่างฝั่งขวา ซีกตรงกันข้ามกับนรกภูมิ จากข้อจำกัดของพื้นที่ จึงคัดเนื้อหาเพียงบางกัณฑ์มานำเสนอ ประกอบด้วย กัณฑ์วนปเวสน์ กับกัณฑ์กุมาร ซึ่งทั้งสองกัณฑ์ เป็นกัณฑ์ที่มีความกินใจ อันเนื่องมาจากการให้ทานของพระเวสสันดร กล่าวคือ กัณฑ์วนประเวสน์ สืบเนื่องจากการบำเพ็ญทาน กระทั่งทานช้างปัจจัยนาค ที่มีความหมายต่อบ้านเมือง เป็นเหตุให้พระเวสสันดรและครอบครัว ต้องถูกประชาชนขับออกจากราชธานี จิตรกรรมฝาผนังได้นำเสนอพระเวสสันดรทรงพาพระนางมัทรีและกัณหา (ธิดา) ชาลี (โอรส) เสด็จพระราชดำเนินโดยพระบาท จากเมืองเข้าสู่เขตป่า ช่างเขียนแทนค่ารูปลักษณ์ของสองกษัตริย์ด้วยรูปแบบจิตรกรรมตัวพระ ตัวนาง แต่ได้ให้พระนางมัทรีฉลองพระวรกายด้วย ผ้าถุงอีสาน ทั้งสองกำลังอุ้มโอรส ธิดาไปยังผืนป่าหิมพานต์ และเขียนคำบรรยายฉากด้วยอักษรภาษาไทยและเขียนแทนเสียงภาษาลาวอีสานว่า “พระเว็ดกับมะทีออกจากเมืองไปอยู่ป่า”

ส่วนกัณฑ์กุมาร ช่างพรได้เขียนภาพตอนชูชกทูลขอสองกุมาร และเมื่อขอได้แล้ว จึงบังคับสองกุมารให้เดินทางกลับด้วย ครั้นเมื่อสองกุมารขัดขืน จึงทุบตีต่อพระพักตร์พระเวสสันดร และกล่าวหมิ่นพระเวสสันดรว่าไม่จริงใจ กระทั่งพระองค์ต้องปลอบประโลมให้สองกุมารไปกับพราหมณ์ชูชกแต่โดยดี แล้วชูชกก็พาสองกุมารออกเดินทาง เมื่อถึงเวลามืดค่ำ ชูชกมัดสองกุมารไว้กับต้นไม้ ส่วนตนเองขึ้นไปผูกเปลนอนบนคบไม้ ซึ่งช่างเขียนบรรยายสั้น ๆ ว่า “พามขอไดแล้วนอนเทิงต้นไม้” จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดร จึงสะท้อนถึงประเด็นการถูกทำให้กลายเป็นคนท้องถิ่นอีสาน ขณะที่กัณฑ์และฉาก ที่ถูกเลือกมานำเสนอเพียงสองกัณฑ์ข้างต้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความหมายสำคัญของชุมชนท้องถิ่นไปพร้อมกัน พ่อหนูแก้ว บุญสุภาพ อธิบายว่า ฉากย่อยที่ช่างหยิบมาจากเรื่องพระเวสสันดรชาดก ล้วนเป็นช่วงตอนที่มีความสะเทือนใจสูง เห็นได้ว่า การเทศน์ผะเหวดในงานบุญมหาชาติ เมื่อพระนักเทศน์ เทศน์ถึงกัณฑ์และฉากเหล่านี้ พุทธศาสนิกชนที่นั่งฟังเทศน์พร้อมสะอื้นไห้ และบริจาคเงินให้กับพระสงฆ์ที่กำลังเทศน์ ซึ่งเรียกว่า “แถมกัณฑ์เทศน์” มากเป็นพิเศษ การหยิบเอาฉากเหล่านี้ขึ้นมาเขียนภาพ จึงมีเป้าหมายทั้งเพื่อให้เห็นฉากการให้ทานที่สำคัญในชีวิตของพระเวสสันดร อันเป็นการผลิตซ้ำอุดมการณ์ให้ทานที่ต้องการปลูกฝังลงไปในจิตใจคนท้องถิ่น และขณะเดียวกันก็เป็นฉากสำคัญ ที่สร้างความสั่นสะเทือนใจพุทธศาสนิกชนในเชิงวรรณศิลป์ไปพร้อมกัน

กล่าวโดยสรุป จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดบ้านยางช้า กับวัดราสิยาราม มีลักษณะร่วมกัน คือ เป็นจิตรกรรมที่เขียนในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อเนื่องกับรัชกาลที่ 7 ซึ่งอิทธิพลด้านการสร้างความเป็นไทยได้แผ่ลงมาจนถึงแถบอีสานส่วนนี้ ผ่านบุคคลหลายกลุ่ม โดยเฉพาะในระยะแรกคือ พระภิกษุสงฆ์ ที่ได้บวชและศึกษาเล่าเรียนอักษรไทยจากกรุงเทพมหานคร ที่นำเข้ามาถ่ายทอดสู่ภิกษุสามเณรในพื้นที่ตามวัดต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งศึกษาในเมืองอุบลราชธานี ควบคู่ไปกับการอ่านเขียนด้วยอักษรตัวธรรม และ/หรืออักษรไทน้อย ที่สืบทอดมาจากบรรพชนกลุ่มเดียวกัน ขณะที่อุบลราชธานี ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเมือง การปกครอง และศาสนาวัฒนธรรมของอีสานตอนล่างด้านตะวันออกที่สัมพันธ์กับกรุงเทพมหานคร



สิมเก่าก่อนได้รับการบูรณะ

ข้อมูล เนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางอุกันดา พิมหล่อ

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางอุกันดา พิมหล่อ

อ้างอิงข้อมูลจาก : https://www.facebook.com/profile.php?id=100081787294236