ตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลกำหนดให้ การผลักดันภาครัฐไทยสู่ความเป็นเลิศ เป็นภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายตามวิสัยทัศน์ ประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นความ“มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”ของประเทศ จากบริบท ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในด้านเทคโนโลยี ด้านความต้องการของภาคประชาชน ด้านการแข่งขันในเวทีโลก และด้านภารกิจของรัฐบาลปัจจุบัน ทำให้มีความจำเป็นต้องผลักดันภาครัฐไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน มีการดำเนินงานแบบอัจฉริยะ ให้บริการโดยมีประชาชน เป็นศูนย์กลาง และขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยสถาบันการศึกษาทางไกลได้ตระหนักถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาจึงได้ทดลองนำร่องโครงการจัดการความรู้ชุมชนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Thailand Knowledge Portal : TKP) โดยใช้ Google Apps มาใช้ในการจัดการความรู้ชุมชน ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ โดยริเริ่มทดลองจัดเก็บข้อมูลองค์ความรู้ที่อยู่ในทุกตำบลของประเทศไทย ในหัวข้อต่างๆเช่น อาชีพชุมชน วัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญา แหล่งการเรียนรู้ ท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น

ในระยะแรกเก็บข้อมูลใน ๑๐ จังหวัดคือ น่าน ยะลา สมุทรปราการ ร้อยเอ็ด สิงห์บุรี อุดรธานี ลำพูน กาญจนบุรี สงขลา และได้ดำเนินการต่อเนื่องในปีงบประมาณถัดมา โดยมีความคาดหวังในการเก็บรวบรวมข้อมูลในระดับตำบล ทั้ง ๗,๔๘๐ ตำบล ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ชุมชนในทุกมิติ คลังความรู้ขนาดใหญ่นี้จะเป็น Big Data ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยการบริหารจัดการ Google accounts และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและขยายผลการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ออกเป็น ๓ ระยะคือ การจัดเก็บข้อมูลระดับตำบลทุกตำบล การนำข้อมูลมาใช้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาต่อเนื่อง การจัดองค์ความรู้ ไปสู่คลังความรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Knowledge Bank) ที่เกิดขึ้นจากการบูรณาการความร่วมมือขององค์กรในทุกระดับของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญในการจัดทำคลังความรู้ กศน. เพื่อเป็นพจนานุกรมสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนต่อไป ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอขุนหาญ จึงได้จัดทำคลังความรู้ชุมชน แหล่งเรียนรู้อำเภอขุนหาญ ขึ้น


วัตถุประสงค์:

๑. เพื่อพัฒนาบุคลากร กศน.ตำบลในการจัดทำคลังความรู้ กศน.เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยให้สถาบัน กศน.ภาค เป็นฐาน

๒. เพื่อจัดการระบบข้อมูลชุมชนมาพัฒนาเป็นคลังความรู้ กศน.เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน (Knowledge Bank)