จักสานกระติบข้าวไม้ไผ่

ในปัจจุบัน การจักรสานในชุมชนท้องถิ่นมีมากมายแต่ที่เป็นจุดเด่นของหมู่บ้านคือการทอเสื่อกก และการจักสานไม้ไผ่ ชาวบ้านมีความสนใจในการสานกระติบข้าวไม้ไผ่่ ถ้านำมาใช้ทำเป็นกระติบข้าวจะได้กระติบข้าวที่มีคุณภาพซึ่งบางครอบครัวก็สามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ และการลงทุนก็มีค่าใช้จ่ายน้อย กระติบข้าวยังเป็นของใช้ประจำบ้านที่ใช้บรรจุข้าวเหนียวทุกๆ ครัวเรือน ไม้ไผ่ ซึ่งเป็นไม้ที่ปลูกแล้วโตเร็ว ดูแลง่าย ลงทุนไม่มาก แต่เมื่อทำเป็นกระติบข้าวแล้วราคาสู่ เมื่อเทียบกับขนาดเดียวกัน และเป็นวัสดุท้องถิ่นอีกด้วย และยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญา ท้องถิ่นของเราให้อยู่คงสืบไปและภูมิปัญญา ดีๆ แบบนี้เราควรนำไปเผยแผ่ใน weblog เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาการสานกระติบข้าวเพื่อนำไปปรับปรุงเปลี่ยน รูปแบบที่แปลกใหม่ สามารถประยุกต์ใช้ทำภาชนะอื่นๆได้ เช่น ที่ใส่กระดาษชำระ กระเป๋า กล่องใส่ดินสอ กระปุกออมสิน ฯลฯ



ภูมิปัญญา คือ แบบแผนการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า แสดงถึงความเฉลียวฉลาดของบุคคลและสังคมซึ่งได้สั่งสมปฏิบัติสืบต่อกันมา

กระติบข้าวของชาวอีสานเป็นภาชนะเก็บอาหารที่ทางคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญา เก็บความร้อนได้ดี ในขณะที่ยอมให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุภายในกระติบไม่แฉะด้วยไอน้ำ ต่างจากกระติกน้ำแข็ง ที่พ่อค้าแม่ค้าข้าวเหนียวส้มตำบางร้านนำมาใช้บรรจุข้าวเหนียวเพื่อรอขายซึ่งจำเป็นต้องใช้ผ้าขาวรองอีกทีก่อนบรรจุข้าวเหนียว แต่เม็ดข้าวที่อยู่รอบขอบกระติกก็ยังแฉะอยู่ดี



เคล็ดลับของการสารกระติบข้าวอยู่ที่การสานภาชนะเป็นสองชั้น ชั้นในสุดจะสานด้วยตอกไม้ให้มีความห่างเล็กน้อยเพื่อให้ไอน้ำระเหยออกจากข้าวไปสู่ช่องว่างภายในก่องหรือกระติบข้าวได้ ชั้นนอกสุดจะสานด้วยตอกที่มีความชิดแน่นกว่าเพื่อเก็บความร้อนเอาไว้ ไอน้ำที่มีความร้อนอยู่ภายในช่องว่างนี้จะช่วยทำให้ข้าวเหนียวที่อยู่ภายในกระติบยังคงความร้อนได้อีกนาน โดยเมล็ดข้าวจะไม่มีไอน้ำเกาะ

ฝากระติบและตัวกระติบจะมีลักษณะเหมือนกัน เพียงแต่มีขนาดที่ต่างกันเล็กน้อย สามารถสวมใส่กันได้พอดี ในส่วนตัวกระติบจะมีฐานรองทำจากก้านตาลขดเป็นวงกลม มีขนาดเล็กกว่าตัวกระติบเล็กน้อย ยึดด้วยหวายให้ติดกับตัวกระติบ

กระติบข้าวเป็นของใช้ประจำบ้านที่ใช้บรรจุข้าวเหนียว ทุกครัวเรือน ทุกพื้นที่ที่รับประทานข้าวเหนียว