Black hole

หลุมดำ คือเทหวัตถุ (Space Object)
ในอวกาศที่มีความหนาแน่นสูงจนเกิดเป็นบริเวณที่มีแรงดึงดูดมหาศาล

แรงโน้มถ่วงภายในหลุมนี้ทรงพลังจนแม้แต่แสงก็ไม่สามารถหลุดรอดออกมาได้ นอกจากนั้นเมื่อมีวัตถุใดที่เคลื่อนที่เข้าใกล้มากเกินไป ไม่ว่ายานอวกาศ ดาวฤกษ์ หรือดาวเคราะห์ก็จะถูกดูดกลืนเข้าสู่ หลุมดำ จากนั้นแรงโน้มถ่วงภายในหลุมจะยืดวัตถุนั้นออกและบีบอัดเข้าด้วยกันในกระบวนการสปาเก็ตตี (spaghettification) กล่าวคือวัตถุนั้นจะถูกแรงโน้มถ่วงยืดออกจากกันจนแตกกระจายในแนวนอนและบีบให้เศษวัตถุมีลักษณะยาวเหมือนเส้นสปาเก็ตตีด้วยแรงกดในแนวตั้ง

หลุมดำสามารถจำแนกออกตามขนาดได้สี่ประเภท คือหลุมดำเชิงควอนตัมหรือหลุมดำจิ๋ว หลุมดำดาวฤกษ์ หลุมดำขนาดกลาง และหลุมดำมวลยิ่งยวด รูปแบบของการเกิดหลุมดำที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือการสิ้นอายุขัยของดาวฤกษ์ โดยส่วนใหญ่แล้วดาวฤกษ์ที่สิ้นอายุขัยจะพองตัวออก ค่อย ๆ สูญเสียมวล และเย็นตัวลงจนกลายเป็นดาวแคระขาว ทว่าดาวฤกษ์สิ้นอายุขัยที่กลายเป็นดาวยักษ์แดงจะพองตัวออกจนมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 10-20 เท่า และมีโอกาสที่จะกลายเป็นดาวนิวตรอนที่มีความหนาแน่นสูงหรือหลุมดำจากการสลายตัวของมวลดาวฤกษ์


ในวาระสุดท้าย ดาวฤกษ์ที่พองตัวจนมีขนาดใหญ่มหึมาจะปล่อยพลังงานพร้อมการระเบิดครั้งใหญ่ที่เรียกว่าซุปเปอร์โนวา (supernovae) ความรุนแรงของการระเบิดจะทำให้สสารของดาวถูกพ่นออกไปในชั้นบรรยากาศ และเหลือไว้เพียงแกนกลางของดาวฤกษ์ ในขณะที่ดาวฤกษ์ยังมีชีวิตอยู่นั้น ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน (nuclear fusion) จะสร้างแรงผลักออกจากดาวเพื่อให้สมดุลกับแรงดึงเข้าภายในซึ่งเกิดจากแรงโน้มถ่วงตามมวลของดวงดาว อย่างไรก็ตามดาวฤกษ์ที่เหลือเพียงเศษซากจากซุปเปอร์โนวานั้นไม่สามารถที่จะต้านแรงโน้มถ่วงได้อีกต่อไปแกนกลางที่เหลืออยู่จึงเริ่มสลายและยุบตัวลง