🌪️ลมและมรสุม | Wind and Monsoon🌊🌫

ลมทะเล (Sea breeze)

ตามหลักการเคลื่อนที่ของลมนั้น จะมีการเคลื่อนที่ของอากาศบริเวณที่มีความกดอากาศสูง (อุณหภูมิต่ำ) ไปยังบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำกว่า (อุณหภูมิสูง) ซึ่งลมทะเลก็มีลักษณะของการเคลื่อนที่ตามหลักการดังกล่าวเช่นกัน โดยลมทะเลมักเกิดขึ้นในเวลาบ่ายหรือเย็น เนื่องจากตอนกลางวัน พื้นดินได้รับแสงแดด ทำให้มีการสะสมความร้อนเอาไว้ เมื่ออากาศร้อนเหนือพื้นดินมีอุณหภูมิสูง ความกดอากาศและความหนาแน่นต่ำ ทำให้อากาศเกิดการลอยตัวขึ้นสูง อากาศบริเวณทะเลเป็นอากาศเย็นจมตัวลงพัดเข้ามาแทนที่พื้นที่ที่บริเวณพื้นดินที่มีอุณหภูมิสูงและมีความกดอากาศต่ำกว่า ดังนั้น ลมทะเลจึงเป็นลมที่พัดมาจากทะเลเข้าสู่ฝั่งนั่นเอง 

ลมบก (Land breeze)

ลมบกเป็นลมที่เกิดขึ้นในตอนกลางคืน โดยลมบกนั้นจะมีการเกิดที่ตรงกันข้ามกับลมทะเล คือ ในตอนกลางคืนพื้นดินสามารถคายความร้อนได้ดีกว่าพื้นน้ำ ทำให้อากาศบริเวณพื้นดินมีอุณหภูมิต่ำกว่าพื้นน้ำทะเล ดังนั้น อากาศจึงเย็นกว่าและมีความกดอากาศสูงกว่า ขณะที่พื้นน้ำซึ่งคายความร้อนได้ช้ากว่าพื้นดินมีอุณหภูมิสูงกว่า อากาศมีความหนาแน่นน้อยกว่า จึงลอยตัวขึ้นสูง และอากาศเย็นจากพื้นดินเคลื่อนเข้าแทนที่ ทำให้เกิดลมบก ซึ่งเป็นลมที่เกิดจากการพัดจากชายฝั่งไปยังทะเลนั่นเอง 

มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (มรสุมฤดูหนาว)

เป็นลมพัดจากใจกลางทวีปที่มีความกดอากาศสูงไปสู่ทะเลหรือบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ เป็นลมที่นำความหนาวเย็นและความแห้งแล้ง เรียกว่า ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดอยู่นาน 6 เดือน คือ ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคม 

มรสุมฤดูตะวันตกเฉียงใต้ (มรสุมฤดูฝน)

ซึ่งเป็นลมพัดจากทะเลเข้าสู่พื้นดิน เกิดขึ้นในฤดูร้อน ลมมรสุมฤดูร้อนจะนำความชุ่มชื้นหรือฝนจากทะเลมาสู่แผ่นดิน  ในทวีปเอเชียและประเทศไทย เรียกว่า ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยจะพัดอยู่นาน 6 เดือน คือ ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน 

อ้างอิง : https://www.trueplookpanya.com/dhamma/content/72152