เทคโนโลยีเป็นการประยุกต์ใช้ทรัพยากรต่างๆ ทั้งความรู้ ทักษะ วัสดุอุปกรณ์ในการแก้ปัญหาหรือสร้างสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์โดยอาศัยความรู้หลากหลายวิชา เช่นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ความรู้ทางศิลปะ ความรู้ทางมนุษย์ศาสตร์ เป็นต้น
แผนภูมิความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับสาขาวิชา
1. ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีกับวิทยาศาสตร์มีความสัมพันธ์กันมาก โดยเรียกรวมๆ ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology) ซึ่งเป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ มาสมผสานประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ ประดิษฐ์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น
• การนำความรู้ทางฟิสิกส์มาผลิตเครื่องจักรกล
• การนำความรู้ทางเคมีมาผลิตยา
• การนำความรู้ทางชีววิทยามาใช้ในการผลิตอาหาร
2. ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับคณิตศาสตร์
เทคโนโลยีและคณิตศาสตร์ต่างใช้ทักษะการแก้ปัญหาเหมือนกัน และช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยเทคโนโลยีเข้าไปช่วยทำให้การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ง่ายและแม่นยำขึ้น เช่น การสร้างเครื่องคิดเลขเพื่อช่วยคำนวณตัวเลข ขณะเดียวกันการสร้างเครื่องคิดเลข ก็จำเป็นต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับ การดำเนินการทางคณิตศาสตร์พื้นฐาน คือ การบวก การลบ การคูณ การหาร มาออกแบบโปรแกรม ให้สามารถคำนวณได้ตามต้องการ และกำหนดขนาด รูปร่างพื้นที่การใช้งานของเครื่องคิดเลข อีกทั้งการแก้ปัญหา หรือสนองความต้องการทางเทคโนโลยี ยังจำเป็นต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับการดำเนินการทางคณิตศาสตร์ เพื่อให้ได้สารสนเทศที่ถูกต้องแม่นยำ
3. ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับมนุษย์ศาสตร์
การเรียนรู้การทำงานตามกระบวนการทางเทคโนโลยีต้องอาศัยทักษะทางภาษา ซึ่งเป็นศาสตร์หนึ่ง ของมนุษยศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการพูด อ่าน และเขียน ซึ่งมนุษยศาสตร์ในที่นี้ยังรวมถึงภาษาศาสตร์ วรรณคดี ปรัชญา พลศึกษา ฯลฯ ตัวอย่างความสัมพันธ์ เช่น
• ด้านภาษาศาสตร์ มีการใช้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาภาษา แก้ไขข้อบกพร่อง ด้านการฟัง การพูด การสื่อสาร
• ด้านวรรณคดี นำเทคโนโลยีมาใช้ในการถ่ายทอด วรรณคดี โดยนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งอาจเป็นละคร ภาพยนตร์ หรือละครวิทยุ
• ด้านร่างกาย นำเทคโนโลยีมาพัฒนาทั้งด้านร่างกาย ด้านกีฬา ทำให้เกิดผลดีอย่างกว้างขวาง
4. ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับสังคมศาสตร์
เทคโนโลยีช่วยให้มนุษย์เข้าใจประวัติความเป็นมาของตนเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งช่วยกำหนดอนาคตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ดังนั้นมนุษย์ควรตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม ตระหนักถึงการใช้เทคโนโลยีจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ศึกษาผลกระทบการใช้ เทคโนโลยีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ค่านิยมและวัฒนธรรมในสังคม
5. ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับการศึกษา
ในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในวงการศึกษาอย่างกว้างขวาง เช่น การใช้สื่ออิเล็กทอนิกส์ การใช้เครื่องมืออุปกรณ์วิทยาศาสตร์ หรือเครื่องมือที่ทันสมัย มาประยุกต์ใช้ในการศึกษา เป็นต้น ตลอดจนนำ เทคโนโลยีมาพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เช่น อินเทอร์เน็ต ศูนย์วิทยาศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ทำให้เกิดผลดีต่อการศึกษาอย่างมาก
6. ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับเกษตรกรรม
ในปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการเกษตร ทั้งการผลิตคิดค้นเครื่องจักรกลทางการเกษตร และพัฒนากระบวนการผลิตแทนการเกษตรแบบดั้งเดิมที่ใช้กำลังคน หรือสภาพแวดล้อมเป็นหลัก เช่น การคัดเลือกพันธุ์ การปรับปรุงพันธุ์ การเพิ่มผลผลิต เป็นต้น ส่งผลให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ระบบเกษตรกรรมมีความก้าวหน้า สร้างรายได้มหาศาลแก่ประเทศชาติ
7. ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมการผลิต
การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ผลิตได้ปริมาณมากขึ้น ประหยัดแรงงานลดต้นทุนการผลิต และลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน
8. ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับการสื่อสาร
การสื่อสารมีความสำคัญต่อมนุษย์ เราสามารถสื่อสารกับบุคคลอื่นได้หลากหลายรูปแบบ เช่นการสื่อสารด้วยภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง และการสื่อสารด้วยงานศิลปะ วิธีการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อสื่อกลางหรือช่องทางในการสื่อสารเช่น การสื่อสารผ่านสื่อวิทยุและโทรศัพท์ การสื่อสารผ่านตัวอักษรเบรลล์ (The Braille code) การสื่อสารผ่านภาษามือ การสื่อสารผ่านรูปภาพ
การสื่อสารผ่านตัวอักษรเบรลล์
การสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน การสื่อสารด้วยภาษามือ
9. เทคโนโลยีกับสาธารณสุขและการแพทย์
ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีการค้นพบสาเหตุของการเกิดโรค และคิดค้นวิธีการรักษาโรคที่รักษาได้ยากหรือไม่สามารถรักษาได้ในอดีตด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์อันทันสมัย เช่น การใช้กล้องจุลทรรศน์ในการผ่าตัด การใช้กล้องแคปซูลในการตรวจทางเดินอาหาร (Endoscopy) การคิดค้นยารักษาโรคที่ออกฤทธิ์เฉพาะจุดที่เกิดโรค ทำให้ประชากรมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น ในขณะเดียวกันการพัฒนาเทคโนโลยีบางด้านต้องอาศัยองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยด้านการแพทย์ เช่น การใช้ข้อมูลทางการแพทย์ในการออกแบบเข็มขัดนิรภัยและถุงลมนิรภัยในรถยนต์ เพื่อป้องกันหรือลดการบาดเจ็บของผู้โดยสาร เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีกับการแพทย์ต่างมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเพื่อประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์
เครื่องเอ็กเรย์ เป็นเทคโนโลยีที่เกิดจากการนำองค์ความรู้ด้าน
วิทยาศาสตร์มาพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับถ่ายภาพใน
ร่างกายที่มองไม่เห็น ด้วยรังสีเอกซ์เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว
โดยผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวด
10. เทคโนโลยีกับเศรษฐศาสตร์
เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาเกี่ยวกับการจัดสรรหรือแบ่งส่วนทรัพยากรไว้ใช้ประโยชน์เพื่อนำมาสนองความต้องการ ของมนุษย์ ให้เกิดประโยชน์ และประสิทธิภาพสูงสุดด้วยการผลิต การค้า การกระจายสินค้า และการบริโภค เพื่อความอยู่ดีกินดีของมนุษย์ ซึ่งการออกแบบ และสร้างหรือพัฒนา เพื่อการแก้ปัญหา หรือสนองความต้องการของมนุษย์ภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรเงื่อนไขหรือข้อกำหนด จำเป็นต้องอาศัยหลักการทางเศรษฐศาสตร์ มาช่วยจัดสรรหรือแบ่งส่วนทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะที่เทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนทำให้การจัดการด้านการผลิต การค้า การกระจายสินค้า และบริโภคในทางเศรษฐศาสตร์ทำได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น เช่น โลจิสติกส์ (Logistics) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการโซ่อุปทาน โดยทำการวางแผน เพื่อนำไปปฏิบัติและทำการควบคุมการไหลเวียนของสินค้า การบริการ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จากจุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดที่มีการบริโภคเพื่อให้บรรลุความต้องการของลูกค้า