จุดประสงค์การเรียนรู้

๑. อธิบายการรักษาและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค

๒.จำแนกความหมายของผู้บริโภคที่ได้รับคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย

๓. เห็นความสำคัญในการรู้จักรักษาและป้องกันสิทธิการบริโภคตามที่กฎหมายกำหนด

สาระสำคัญ การคุ้มครองผู้บริโภค เป็นการรักษาและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งได้รับการรับรองสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ๕ ประการ โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อผู้บริโภคประสบปัญหาละเมิดสิทธิผู้บริโภค สามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานดังกล่าว เพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตน

บทเรียน

การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค

ความหมายของผู้บริโภค ผู้บริโภคเป็นผู้ซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งผู้บริโภคต้องวางแผนซื้อสินค้า

หลักการซื้อสินค้าและบริการ ผู้บริโภคควรพิจารณาก่อนซื้อสินค้าและบริการดังนี้

– ควรจะซื้ออะไร โดยทำบัญชีสิ่งของที่จะซื้อไว้ล่วงหน้า

– ควรจะซื้ออย่างไร โดยหากเป็นสินค้าเล็กน้อยจะจ่ายด้วยเงินสด แต่หากเป็นสินค้าราคาแพงจะซื้อด้วยระบบเงินผ่อน

– ควรจะซื้อเมื่อใด โดยซื้อของตามฤดูกาล ซื้อของลดราคา และ กำหนดเวลาซื้อ

ฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

กระทรวงสาธารณสุข มีกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้

– สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหน้าที่ดูแลในเรื่องอาหาร ยา และเครื่องสำอาง

– สำนักงานแพทย์สภา รับร้องเรียนเรื่องการรักษาพยาบาล การบริการของแพทย์

– กองประกอบโรคศิลป์ รับร้องเรียนเรื่องการบริการของสถานพยาบาลภาคเอกชน

กระทรวงพาณิชย์ มีกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ พระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.ศ. 2489 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นในภาวะคับขัน พ.ศ. 2488 พระราชบัญญัติราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และพระราชบัญญัติประกันภัย พ.ศ. 2535 โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้

– กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รับร้องเรียนเรื่องการชั่วตวงวัด

– กรมการค้าภายใน ดูแลด้านการกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด

– สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ดูแลเรื่องการประกันภัยอุบัติเหตุ เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนให้ผู้บริโภค

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าและการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้

– กรมปศุสัตว์ ดูแลคุ้มครองเรื่องควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ ควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ และควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์

– กรมวิชาการเกษตร ดูแลคุ้มครองเรื่องปุ๋ยและวัตถุอันตราย

กระทรวงอุตสาหกรรม มีกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคได้แก่ พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้

– สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำกับควบคุมคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าอุตสาหกรรม เป็นต้น