เว็บไซต์บริหารจัดการวิชาปัญหาพิเศษ/โครงงานวิทยาการคอมพิวเตอร์

ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร

คำชี้แจง

เว็บไซต์นี้ จัดทำขึ้นสำหรับนิสิตภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาการเตรียมความพร้อมโครงงานหรือปัญหาพิเศษ และรายวิชาโครงงานหรือปัญหาพิเศษ โดยประกอบด้วยแนวทางปฏิบัติในการเตรียมความพร้อมโครงงานหรือปัญหาพิเศษและการจัดทำโครงงานหรือปัญหาพิเศษ แบบฟอร์มต่าง ๆ เทมเพลตเอกสารสำหรับจัดทำปริญญานิพนธ์ และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

การเตรียมความพร้อมโครงงาน ปัญหาพิเศษ หรือสหกิจศึกษา

ขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติในการเตรียมความพร้อมโครงงานหรือปัญหาพิเศษ

  1. พบอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชา เพื่อรับฟังการชี้แจงความเข้าใจ และข้อกำหนดต่างๆ ในการทำโครงงานฯ (นิสิตที่ลงทะเบียนเรียนวิชานี้ต้องเข้าร่วมรับฟังทุกคน)

  2. นิสิตติดต่ออาจารย์ในภาควิชาที่นิสิตต้องการขอให้เป็นที่ปรึกษา เพื่อเสนอหัวข้อโครงงาน และจะต้องมีอาจารย์รับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน

  3. ภายหลังจากที่อาจารย์รับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน นิสิตส่งเอกสาร "แบบขอเสนออนุมัติโครงงาน ปัญหาพิเศษ หรือสหกิจศึกษา" ที่มีลายเซ็นของอาจารย์ที่ปรึกษา

  4. อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาแจ้งตารางกำหนดการนำเสนอหัวข้อโครงงาน ปัญหาพิเศษ หรือสหกิจศึกษา (บทที่ 1 และ 2)

  5. นิสิตจัดทำเอกสารและจัดทำสไลด์ เพื่อการเตรียมตัวสอบบทที่ 1 และ 2 (ส่งเอกสารก่อนสอบ 3 วัน)

  6. นิสิตนำเสนอตามตารางกำหนดการ หากการนำเสนอบทที่ 1 และ 2 ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ และมีข้อเสนอแนะให้แก้ไข นิสิตจักต้องทำการแก้ไขเอกสารภายใน 2 สัปดาห์ นับจากวันนำเสนอ

  7. อาจารย์ผู้ประสานงานแจ้งตารางกำหนดการนำเสนอบทที่ 3 (หรือนำเสนอบทที่ 4 และ 5 สำหรับแผนสหกิจศึกษา)

  8. นิสิตส่งเอกสาร "แบบฟอร์มยืนยันการขอนำเสนอโครงงานวิทยาการคอมพิวเตอร์ ปัญหาพิเศษ หรือสหกิจศึกษา"

  9. นิสิตจัดทำเอกสารและจัดทำสไลด์ เพื่อการเตรียมตัวสอบบทที่ 3 (หรือบทที่ 4 และ 5 สำหรับแผนสหกิจศึกษา) โดยจะต้องส่งเอกสารก่อนสอบ 3 วัน

  10. นิสิตนำเสนอตามตารางกำหนดการ หากการนำเสนอบทที่ 3 (หรือบทที่ 4 และ 5 สำหรับแผนสหกิจศึกษา) ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ และมีข้อเสนอแนะให้แก้ไข นิสิตจักต้องทำการแก้ไขเอกสารภายใน 2 สัปดาห์ นับจากวันนำเสนอ

  11. นิสิตส่งบันทึกการเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานฯ เพื่อให้อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาประเมินคะแนน

  12. คณะกรรมการสอบส่งผลประเมินการนำเสนอโครงงานต่ออาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชา

หมายเหตุ: หากอาจารย์ที่ปรึกษาพิจารณาแล้วว่านิสิตไม่สามารถขึ้นนำเสนอบทที่ 3 ได้ทันตามตารางกำหนดการ นิสิตจักต้องทำการถอนรายวิชาก่อนวันกำหนดสิ้นสุดการถอนรายวิชาแบบติด W

การบันทึกข้อมูลการเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษา

  1. หลังจากที่เข้ารับคำปรึกษาและนำเสนอความก้าวหน้าแก่อาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว นิสิตต้องเป็นคนบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ด้วยตนเองให้ครบถ้วน

1.1 ครั้งที่

1.2 วันที่ เวลา

1.3 ตอนที่ 1 ส่วนของนิสิต โดยนิสิตต้องเขียนอธิบายรายละเอียดของงานที่นำเสนอแก่ อ.ที่ปรึกษา

ส่วนของ อ.ที่ปรึกษา

1.4 ตอนที่ 2 ส่วนของอาจารย์ที่ปรึกษา: เป็นส่วนที่อาจารย์ที่ปรึกษาจะเป็นคนบันทึกรายละเอียดเอง แต่ถ้าอาจารย์ที่ปรึกษาไม่สะดวกในการบันทึก นิสิตสามารถบันทึกเองได้

1.5 ส่วนคะแนนความก้าวหน้า: อ.ที่ปรึกษา จะเป็นผู้ประเมินคะแนนให้กับนิสิตเอง

2. นิสิตต้องนำสมุดบันทึกฯ นี้ให้ อ.ที่ปรึกษา ลงลายมือชื่อเพื่อรับรองการเข้ารับคำปรึกษาทุกครั้ง

3. หลังจากบันทึกข้อมูลการเข้าพบ อ.ที่ปรึกษา ในแต่ละครั้งเรียบร้อยแล้ว ให้นิสิตนำสมุดบันทึกฯ มาวางไว้ที่โต๊ะอาจารย์ผู้ดูแลวิชาโครงงานเพื่อลงลายมือชื่อรับทราบในแต่ละครั้ง

4. ในกรณีที่นิสิตไม่ส่งสมุดบันทึกฯ หลังจากเข้าพบ อ.ที่ปรึกษาในแต่ละครั้ง เช่น นิสิตเข้าพบ อ.ที่ปรึกษา แล้วรวบรวมมาให้อาจารย์ประจำรายวิชาโครงงาน ลงลายมือชื่อพร้อมกัน 2-4 ครั้งนั้่น อาจารย์ประจำรายวิชาโครงงานจะไม่ลงลายมือชื่อเพื่อรับทราบข้อมูลย้อนหลังให้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ

5. ในการบันทึกการเข้าพบ อ.ที่ปรึกษา ให้นิสิตบันทึกรายละเอียดการเข้าปรึกษา 1 ครั้งต่อ 1 หน้าเท่านั้น ห้ามบันทึกรวมกันในหน้าเดียว เช่นหากนิสิตบันทึกว่า ครั้งที่ 1-3 อาจารย์จะถือว่าเป็นการเข้าพบ อ.ที่ปรึกษาเพียง 1 ครั้งเท่านั้น

6. การบันทึกสมุดนี้ จะมีผลต่อการประเมินผลการทำโครงงานและการตัดคะแนนในรายวิชานี้ ขอให้นิสิตบันทึกข้อมูลให้ถูกต้อง และต้องรักษาสมุดบันทึกนี้ไว้อย่างดี เมื่อถึงช่วงการสอบปลายภาค อาจารย์ประจำวิชาจะเรียกเก็บสมุดบันทึกนี้เพื่อนำมาประเมินเกรดร่วมกับคะแนนสอบจากกรรมการ

7. ถ้าใน 1 สัปดาห์นั้น นิสิตเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษามากกว่า 1 ครั้ง ให้นิสิตนำสมุดบันทึกให้อาจารย์ที่ปรึกษาลงลายมือชื่อ และอาจารย์ประจำวิชาจะต้องลงลายมือชื่อรับทราบในแต่ละครั้ง ก่อนที่นิสิตจะนำสมุดบันทึกให้อาจารย์ที่ปรึกษาลงลายมือชื่อในครั้งถัดไป (หากนิสิตลืมนำสมุดบันทึกนี้มาให้อาจารย์ประจำวิชาลงชื่อ อาจารย์ประจำวิชาจะไม่รับทราบ และจะไม่ลงลายมือชื่อรับทราบย้อนหลังให้)

คำแนะนำในการขออาจารย์เป็นที่ปรึกษาโครงงานฯ

นิสิตควรติดต่อกับอาจารย์ที่นิสิตต้องการขอให้เป็นที่ปรึกษาโครงงานฯ แต่เนิ่น ๆ และนิสิตควรจะส่งรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ข้อมูลเกี่ยวกับตนเองและสมาชิกในกลุ่ม (ถ้ามี)

  • รายละเอียดโครงงานที่ต้องการจะทำ

  • เหตุผลในการเลือกอาจารย์ท่านนั้นเป็นที่ปรึกษา

โดยให้นิสิตขอนัดเข้าพบอาจารย์เพื่อให้อาจารย์มีโอกาสได้สอบถามรายละเอียดในเรื่องต่างๆ เพื่อใช้ในการพิจารณาการเป็นที่ปรึกษาให้กับนิสิต

ขอให้นิสิตตระหนักไว้ว่า ในแต่ละปีอาจารย์แต่ละท่านสามารถรับเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มนิสิตได้ในจำนวนที่จำกัด ดังนั้นนิสิตจึงควรติดต่อและเข้าพบอาจารย์บ่อยครั้งเพื่อให้อาจารย์ได้รับรู้ถึงความตั้งใจจริงของนิสิต รวมถึงวัตถุประสงค์เกี่ยวกับโครงงานที่นิสิตจะพัฒนาขึ้นมา