วิชางานประดิษฐ์ภาคเรียนที่ 2

วิชางานประดิษฐ์

 ความรู้พื้นฐานงานประดิษฐ์

ความรู้พื้นฐานงานประดิษฐ์

ความหมายงานประดิษฐ์ 

          ประดิษฐ์ แปลว่า  คิดทำขึ้น   สร้างขึ้น   จัดทำขึ้นให้เหมือนของจริง

            งานประดิษฐ์ จึงหมายถึง การนำเอาวัสดุต่างๆ มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่  เพื่อประโยชน์ใช้สอยและอำนวยความสะดวกสบายด้านต่างๆ  เช่น เป็นของเล่น ของใช้ หรือเพื่อควมสวยงาม


ประโยชน์ของ งานประดิษฐ์

          1. เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

          2. มีความเพลิดเพลิน มีสมาธิ และมีความสุข

          3. มีความภูมิใจในผลงานของตน

        4. มีรายได้จากผลงาน สร้างอาชีพได้ในอนาคต

          5. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานแปลกใหม่

          6. เป็นการฝึกให้รู้จักสังเกตสิ่งรอบๆ ตัว และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์

        7. เพิ่มคุณค่าของวัสดุ ผลิตภัณฑ์

        8.  รู้จักวางแผนทำงานอย่างมีระบบและเป็นขั้นตอน

        9. รูัจักประหยัด และนำสิ่งของเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด


 งานประดิษฐ์ คืองานสร้างสรรค์ที่ไม่มีขอบเขต  

ลักษณะอาชีพ       สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ นวัตกรรมใหม่แบบไร้ขีดจำกัด สร้างสรรค์

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ

        1. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

        2. เป็นนักสังเกต

        3. ชอบการประดิษฐ์ 

        4. ชอบการทดลอง

        5. ชอบการออกแบบ

        6. มีความมุ่งมั่น

        7. มีความอดทนสูง


 หลักการสร้างสรรค์งานประดิษฐ์ 

        1. หมั่นศึกษาหาความรู้ในงานที่ตนเองสนใจ  โดยศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในชุมชน  ในโรงเรียน หรือจากตัวอย่างสิ่งประดิษฐ์ที่สนใจ

        2. ศึกษาหลักการ วิธีการ หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานในการประดิษฐ์ชิ้นงาน

        3. ทดลองปฏิบัติการประดิษฐ์  ผู้เรียนต้องศึกษาค้นคว้าทดลองปฏิบัติตามแนวที่ได้สร้างสรรค์ไว้



ลักษณะของงานประดิษฐ์ 

          1. งานประดิษฐ์ทั่วไป เป็นงานที่บุคคลสร้างขึ้นมาจากความคิดของตนเองโดยอาศัยการเรียนรู้จากสิ่งรอบๆ ตัว นำมาดัดแปลง หรือเรียนรู้จากตำรา เช่น การประดิษฐ์ของใช้จากเศษวัสดุ  งานปั้นจากวัสดุต่าง ๆ  งานประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติ งานประดิษฐ์จากกระดาษหรือผ้า  โดยมีจุดมุ่งหมายการประดิษฐ์เพื่อเป็นของเล่น ของใช้ และของตกแต่งบ้าน

          2. งานประดิษฐ์ที่เป็นเอกลักษณ์ไทย เป็นงานที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษในครอบครัวหรือในท้องถิ่น หรือทำขึ้นเพื่อใช้งานหรือเทศกาลเฉพาะอย่าง เช่น งานประดิษฐ์ด้วยดอกไม้สด (มาลัย)  งานประดิษฐ์ด้วยใบตอง(บายศรี)  งานแกะสลักพืชผัก ผลไม้ และ ไม้  งานจักสาน  งานปั้นจากดิน


ประเภทของงานประดิษฐ์

     งานประดิษฐ์ต่างๆ สามารถเลือกทำได้ตามความต้องการและประโยชน์ใช้สอย ซึ่งอาจแบ่งประเภทของงานประดิษฐ์ตามโอกาสใช้สอยดังนี้

                         1. ประเภทใช้เป็นของเล่น  เช่น งานปั้นดินเป็นสัตว์  งานจักสานใบลานเป็นโมบาย  งานพับกระดาษรูปต่าง ตุ๊กตา ว่าว รถลาก  

                         2. ประเภทของใช้  เช่น การสานกระบุง ตะกร้า กระด้ง กระจาด เข่ง การทำเครื่องใช้จากผ้า หรือเศษวัสดุต่างๆ 

                         3. ประเภทงานตกแต่ง เช่น งานแกะสลักไม้  กรอบรูป  โคมไฟ ดอกไม้ประดิษฐ์  

                         4. ประเภทเครื่องใช้ในงานพิธี  เพื่อใช้งานเทศกาล พิธีกรรมทางศาสนา หรือประเพณีต่างๆ เช่น  ทำกระทงลอย ทำพานพุ่ม มาลัยดอกไม้  บายศรี  เครื่องแขวน การจัดดอกไม้ในงานพิธีการต่าง ๆ  





วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานประดิษฐ์

          การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ในการประดิษฐ์ชิ้นงานต้องเลือกให้เหมาะสมจึงจะได้งานออกมามีคุณภาพ สวยงาม รวมทั้งต้องดูแลรักษา อุปกรณ์ เครื่องใช้เหล่านี้ให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตลอดเวลา และสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

          1. ประเภทของเล่น

      - วัสดุที่ใช้ เช่น กระดาษ ใบลาน ผ้า เชือก พลาสติก กระป๋อง

      - อุปกรณ์ที่ใช้ เช่น กรรไกร เข็ม ด้าย กาว มีด ตะปู ค้อน แปรงทาสี

          2. ประเภทของใช้

      - วัสดุที่ใช้ เช่น กระดาษ ไม้ โลหะ ดิน ผ้า

      - อุปกรณ์ที่ใช้ เช่น เลื่อย สี จักรเย็บผ้า กรรไกร เครื่องขัด เจาะ

          3. ประเภทของตกแต่ง 

      - วัสดุที่ใช้ เช่น เปลือกหอย ผ้า กระจก กระดาษ ดินเผา

      - อุปกรณ์ เช่น เลื่อย ค้อน มีด กรรไกร สี แปรงทาสี เครื่องตอก

          4. ประเภทเครื่องใช้ในงานพิธี

      - วัสดุที่ใช้ เช่น ใบตอง ดอกไม้สด ใบเตย ผ้า ริบบิ้น

      - อุปกรณ์ที่ใช้ เช่น เข็มเย็บผ้า เข็มร้อยมาลัย คีม ค้น เข็มหมุด


การเลือกใช้และบำรุงรักษาอุปกรณ์ มีหลักการดังนี้

          1. ควรเลือกใช้ให้ถูกประเภทของวัสดุและอุปกรณ์

          2. ควรศึกษาวิธีการใช้ก่อนลงมือใช้

          3. เมื่อใช้แล้วเก็บไว้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย

          4. ซ่อมแซมเครื่องมือที่ชำรุดให้พร้อมใช้เสมอ