โคเปนเฮเกนเมืองรักของนักปั่น(จักรยาน)

"แม้ว่าเมืองโคเปนเฮเกนประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยคาร์บอนมากกว่า 20% ในเวลาที่ผ่านมา แต่เมืองก็ยังตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้นกว่าเดิมในการมีส่วนรวมในเรื่องภาวะโลก"

โคเปนเฮเกนเป็นเมืองหลวงของประเทศเดนมาร์ก โดยจัดเป็นศูนย์กลางในหลายๆ ด้านทั้งด้านวัฒนธรรม, ธุรกิจ, สื่อต่างๆ รวมไปถึงการศึกษา มีประชากรประมาณ 1 ล้านแปดแสนคน มีพื้นที่เมืองและชานเมืองทั้งหมดประมาณ 3 พันตารางกิโลเมตร โดยมีพื้นที่เทศบาลที่มีชื่อว่าเฟเดอริกเบิร์กอยู่ใจกลางเมือง เดิมเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและพื้นที่สำหรับขุนนาง แต่ในปัจจุบันได้พัฒนาและรักษาให้เป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง

ปัจจุบันโคเปนเฮเกนจัดเป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จทางด้านการวางสาธารณูปโภคที่ส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมดั้งเดิมในเมืองรวมทั้งยังเปิดโอกาสให้นักออกแบบ และสถาปนิกหน้าใหม่ ที่มาเปิดพื้นที่เมืองเพื่อสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในเมืองโดยอาศัยการมีส่วนรวมในการออกแบบ

เวบไซต์โครงการ Copenhagen X ที่จัดแสดงพื้นที่เมือง และพื้นที่เทศบาลเฟเดอริกเบิร์ก

เมืองโคเปนเฮเกนมีชื่อเสียงในเรื่องของทางจักรยาน, การจัดการด้านพลังงานและของเสียในเมือง รวมถึงเป็นเมืองต้นแบบด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้ว่าเมืองโคเปนเฮเกนประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยคาร์บอนมากกว่า 20% ในเวลาสิบปีที่ผ่านมา แต่เมืองก็ยังตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้นกว่าเดิมในการมีส่วนรวมในเรื่องภาวะโลกร้อน

วิสัยทัศน์ของเมืองโคเปนเฮเกนคือเป็นเมืองที่สามารถเป็นกลางทางด้านการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน (Carbon Neutral ไม่เพิ่มคาร์บอนให้กับสิ่งแวดล้อม)โดยมีเป้าหมายคือลดการปลดปล่อยคาร์บอนให้ได้ 20% ในปี 2005 ถึงปี 2015 ซึ่งวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้มีการประชาสัมพันธ์และปฏิบัติในหลายๆ ระดับแต่จะเน้นไปในทางด้านการใช้พลังงาน, ระบบขนส่งสีเขียว, การออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน, พฤติกรรมการใช้พลังงานของชาวโคเปนเฮเกนรวมไปถึงการพัฒนาและปรับปรุงเมืองเพื่อเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของโลก

เมืองแห่งนักปั่น(จักรยาน)

ความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการสัญจรที่มีจักรยานเป็นศูนย์กลาง

เส้นทางและเลนจักรยาน

เมืองโคเปนเฮเกนได้พัฒนาเส้นทางจักรยานที่มีความยาวประมาณ 340 กิโลเมตร ที่มีเส้นทางยาว 41 กิโลเมตรเป็นเส้นทางสีเขียว และยังคงมีการพัฒนาเส้นทางสีเขียวเพิ่มมากขึ้นโดยอาศัยความร่วมมือทั้งเมืองโคเปนเฮเกนและเทศบาลเฟเดอริคเบิร์กในการจัดตั้งเส้นทางอีก 110 กิโลเมตรโดยเส้นทางจะผ่านสวน และพื้นที่ริมน้ำและหลีกเลี่ยงเส้นทางรถยนต์ให้มากที่สุดซึ่งหากมีการตัดผ่านเส้นทางรถยนต์ก็จะมีการสร้างสะพาน หรือไฟจราจรสำหรับจักรยานในจุดดังกล่าว

เครื่องนับนักขี่จักรยาน (นักขี่ที่ได้อันดับทุกๆ 500,000 จะได้รางวัลเป็นจักรยานคันใหม่ เป็นนโยบายที่ชักจูงให้ผู้คนในเมืองหันมาขี่จักรยานอย่างจริงจัง) และเครื่องเติมลมยาง

ถังขยะสำหรับนักปั่นจักรยาน

ไฟจราจร

หลายๆ เมืองในเดนมาร์กได้มีการนำไฟจราจรสำหรับจักรยานมาใช้ ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวก่อนรถยนต์หลายวินาที เพื่อให้นักขี่ขี่นำไปก่อนรถยนต์รวมไปถึงการร่นระยะหยุดรถยนต์ให้มากขึ้นจากสี่แยกเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับจักรยานในการจอดบนแถวหน้าๆ และยังสามารถทำให้รถยนต์นั้นมองเห็นจักรยานได้กว้างมากขึ้นในกรณีที่จะหักเลี้ยวตัดเลนจักรยาน

กรีนเวฟ(คลื่นแห่งไฟเขียว)

แต่ก่อนนั้นความต่อเนื่องของสัญญาณไฟเขียวมีไว้เพื่อให้รถยนต์สามารถเดินทางได้ต่อเนื่องเพื่อลดการติดขัดของรถยนต์แต่ในเมืองโคเปนเฮเกนมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ความต่อเนื่องดังกล่าวให้ประโยชน์กับจักรยานแทน โดยการควบคุมนักขี่ให้ขับขี่ในความเร็วประมาณ 20 กม./ชม.ในช่วงเวลาเร่งด่วนในตอนเช้าทำให้สามารถหลีกเลี่ยงไฟแดง และเกาะกลุ่มกันเดินทางโดยไม่มีการติดขัดจากสัญญาณไฟเขียวนึงสู่อีกไฟเขียวในแยกถัดไปในเส้นทางที่เดินทางจากที่พักอาศัยสู่พื้นที่สำนักงานใจกลางเมือง และกลับกันในเวลาเลิกงาน

ย้อนมาดูเมืองเชียงใหม่บ้านเราหากมีการจัดการที่ดีที่ต่อเนื่องตั้งแต่วิสัยทัศน์ของเมืองที่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องลงมาสู่โครงการที่เป็นรูปธรรมทางด้านการสัญจรมากยิ่งขึ้นไม่ได้เป็นนโยบายฉาบฉวยที่มีเพียงการรณรงค์ ถือป้าย แล้วขี่จักรยานตามกันเป็นพรวนแล้วก็จบภายในหนึ่งวัน แม้ว่าจะต้องอาศัยเวลาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คน ในฐานะที่เป็นนักปั่นจักรยาน(ไปทำงาน) ก็หวังไว้ว่าเชียงใหม่จะได้ริ+เริ่มมีสัดส่วนพื้นที่เล็กๆ ในระบบการสัญจรของเมืองอันรวดเร็ว ซับซ้อนและวุ่นวายในปัจจุบันที่เว้นว่างสำหรับยานพาหนะที่ไม่ได้ใช้พลังงานที่จะหมดสิ้นไปในเร็ววัน ไม่ได้สร้างปัญหาฝุ่นละออง ทั้งยังส่งเสริมสุขภาพอันดีให้กับผู้คนในเมืองที่ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ มีทางสัญจรเล็กๆ ที่มีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับเด็ก และผู้คนในการสัญจรไปเรียน ทำงาน พักผ่อน ได้อย่างยั่งยืน


สงวนลิขสิทธิ์บทความทั้งหมด © ศูนย์อยู่ดี สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300