การแสดงดาระ

ประวัติความเป็นมา

ดาระเป็นศิลปะการแสดงที่นิยมกันเฉพาะหมู่ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดสตูล สภาวดี สุทธิสว่าง (๒๕๔๙:๓๖) ได้รวบรวมความหมายของคำว่า “ดาระ” จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านไว้หลายความหมาย เช่น หมายถึงเพลง หมายถึง จวนจะสิ้นใจ แต่จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับดาระในปัจจุบัน ไม่สามารถบอกความหมายได้

การก่อตั้งคณะดาระในอำเภอควนโดน

ปัจจุบันดาระในจังหวัดสตูล มีเพียงคณะเดียวคือที่ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน มีนางสมศรี ชอบกิจ ครูโรงเรียนควนโดนวิทยาเป็นผู้ดูแล ดาระคณะนี้สืบทอดต่อมาจากนายทอง มาลินี ซึ่งเคยเล่นดาระมาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ และมีคณะดาระเป็นของตนเอง ต่อมาเมื่อชราภาพลง ผู้ร่วมคณะได้แยกย้ายกันไป บ้างก็ตายจากกันไป เหลือเพียงนายทอง มาลินี เพียงคนเดียว

เมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว นายทอง มาลินี ได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรถ่ายทอดให้นักเรียนโรงเรียนควนโดนวิทยา ซึ่งสังกัดกรมสามัญศึกษาในสมัยนั้นในการถ่ายทอดการแสดงดาระที่โรงเรียนแห่งนี้ ผู้เรียนมีทั้งนักเรียนและครู จนนางสมศรี ชอบกิจ ครูโรงเรียนควนโดนวิทยา สามารถแสดงได้ นายทอง มาลินี เป็นวิทยากรโรงเรียนนี้อยู่ประมาณ ๖-๗ ปีจนอายุมากขึ้น นางสมศรี ชอบกิจ จึงรับช่วงเป็นวิทยากรแทนและได้นำศิลปะการแสดงดาระนี้ไปเป็นหลักสูตรวิชาเลือกของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา นอกจากนั้นยังถ่ายทอดให้กับชาวบ้านในละแวกนั้นที่สนใจ จนสามารถรับงานแสดงได้ ทั้งประเภทประชาชนทั่วไปและนักเรียน โดยนายทอง มาลินี ยังคงเป็นผู้ตีรำมะนาให้กับคณะนี้ในการแสดงทุกครั้ง

ขนบ ความเชื่อเกี่ยวกับการแสดง

ในสมัยก่อนมีความเชื่อทางไสยศาสตร์ ก่อนการแสดงจะมีการเสกแป้งลงเสน่ห์ เพื่อผูกมัดใจคนดู ปัจจุบันไม่มีพิธีกรรมนี้ เนื่องจากขัดกับหลักศาสนาอิสลาม

เครื่องดนตรีที่ใช้กับการแสดงดาระ

เครื่องดนตรีของดาระคณะหนึ่ง จะมีเพียงอย่างเดียวคือ รำมะนา จากการสัมภาษณ์ นายทอง มาลินี ทราบว่า รำมะนานี้ เป็นเครื่องดนตรีที่ชาวมาเลเซีย นำติดตัวมาเมื่อเข้ามาค้าขาย และนำดาระมาเล่นในอำเภอควนโดน หลังจากดาระแพร่หลายในแถบนี้แล้ว จึงได้มีผู้ประดิษฐ์รำมะนาขึ้นมาใช้เอง โดยทำจากไม้เนื้อแข็งที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ไม้ละมุด ไม้กระท้อน ไม้ขนุน ไม้ตะเคียน โดยนำไม้ทั้งท่อนมาขุดเจาะและเหลาให้เป็นรูปร่างของรำมะนา แล้วขึงด้วยหนังแพะแห้ง การทำหนังแพะแห้งนั้น มีขั้นตอนการทำคือ นำหนังแพะมาแช่น้ำผสมข่า เพื่อจำกัดกลิ่นเหม็นแล้วหมักไว้ประมาณ ๑ วัน จากนั้นนำมาตากแดดให้แห้งสนิทแล้วจึงนำมาขึง ใช้หวายซีกร้อยตรึง หรือใช้วิธีตอกสลักที่เรียกว่า แซดะ ก็ได้ เวลาเล่นจะมีขดหวายไว้สำหรับแบ่งเสียงรำมะนา เป็นการเทียบเสียงให้ชัดเจนและสมบูรณ์พร้อมเล่น

ปัจจุบันไม่มีการทำรำมะนาใช้เองแล้ว ส่วนใหญ่จะซื้อมาใช้จากภายในประเทศหรือซื้อมาจากประเทศมาเลเซียเนื่องจากอำเภอควนโดนมีชายแดนติดต่อกัน

ดาระคณะปัจจุบัน ใช้รำมะนาเพียง ๒ ใบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๓ นิ้ว สูง ๙ นิ้ว มีขนาดต่างกันเล็กน้อย


เก็บข้อมูล ณ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙

โดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล