เรียนรูู้วิถีลำปาง

ตามเส้นทางวัฒนธรรมเมืองเก่า

จากเส้นทางในชุมชน นมัสการพระคู่บ้านและสัมผัสเส้นทางวัฒนธรรมเมืองเก่า ที่เป็นสมบัติล้ำค่า และได้สืบทอดในชุมชนจากคนรุ่นหนึ่งมายังคนอีกรุ่นหนึ่ง จากประตู้ต้นผึ้งท่านางลอย ลัดเลาะตามริมกำแพงเมืองเก่า ชุมชนพระแก้วหัวข่วง ชุมชนท่ามะโอ ชุมชนศรีล้อมแสงเมืองมา และย้อนรอยอดีตความภาคภูมิใจสถาปัตยกรรมยุโรปแบบคลาสสิค สมัยกรีกผสมสถาปัตยกรรมไทย บ้านป่องนัก ที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมณฑลพายัพ แลเป็นที่ทรงประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือ ในปีพ.ศ.2501

สถานที่ท่องเที่ยวตามเส้นทางนี้ เราพบวัดเก่าแก่ที่มีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนทั้งในลำปางและต่างจังหวัด วัดประตูต้นผึ้ง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2380 นับถึงปีปัจจุบัน มีอายุประมาณ 178 ปี สันนิษฐานว่าสร้างในสมัย เจ้าน้อยขัตติยะ บุตรเจ้าคำโสม โดยชื่อวัดมาจากชื่อเข้าเวียงเหนือ (ประตูต้นผึ้ง) มีพระณรงค์ ปภากโร เป็นเจ้าอาวาส วัดประตูต้นผึ้งเป็นวัดที่ชาวลำปาง และนักท่องเที่ยวรู้จักอย่างมากมาย ในวันสำคัญทางศาสนาหรือไม่ใช่วันสำคัญทางศาสนา ก็จะมีทั้งประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างมากราบไหว้บูชา พร้อมทำบุญถวายสังฆทานอย่างสม่ำเสมอ ตามความเชื่อว่าเมื่อมาขอพรแล้วจะสมปารถนา นอกจากนี้ ทางวัดประตูต้นผึ้งมีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เป็นโรคต่าง ๆ ที่รักษาอย่างไรก็ไม่หายขาดสักที่ จึงได้มาปรึกษาพระอาจารย์ ส่วนใหญ่เป็นเป็นผู้ป่วยโรคหัด โรคงูสวัด ผู้มารักษาที่นี้ต่างก็อาการดีขึ้น

วิหารวัดประตูต้นผึ้ง มีภาพดวงดาวบนท้องฟ้าปรากฏบนดาวเพดานอย่างน่าชื่นชม มีวัสดุสีทอง บนเพดานมีภาษาพม่ากำกับอยู่ และนักวิชาการโครงการล้านนาคดีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตีความเอาไว้ว่า ภาพจักรวาลในวิหารแห่งนี้สอดคล้องกับคัมภีร์ใบลาน ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการถ่ายทอดในเชิงทำนายทายทักตามราศี ในการเรียงลำดับดาวฤกษ์ทั้ง 27 กลุ่มบนท้องฟ้าบนเพดานวิหาร เขียนว่า “ลักขณฤกษ์ เลิศ 27 ตัว 12รวายสี” ที่เรียงจากด้านทิศตะวันออกของวิหาร เวียนมาทางขวามือไปจนถึงทิศตะวันตก

วัดนางเหลียว เป็นสัญลักษณ์ของนางสุชาดา ได้เหลียวหันมามอง พระแก้วดอนเต้าอย่างอาลัยอาวรณ์ก่อนถูกประหารชีวิต หรือเส้นทางลงไปสู่แม่น้ำวังชาวบ้านเรียกว่านางลอย

ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปและเจดีย์ทรงระฆัง ห้องจัดแสดงโบราณวัตถุ แสดงของโบราณที่ใช้เกี่ยวกับ ประเพณีต่าง ๆ อาทิ แม่พิมพ์พระ กล่องใส่คัมภีร์ ลายรดน้ำ สัตภัณฑ์ สุ่มดอก เสลี่ยง

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม เป็นวัดที่เก่าแก่และสวยงาม มีอายุนับพันปี เคยเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตั้งแต่ปี พ.ศ.1979 เป็นเวลานานถึง 32 ปี เหตุที่วัดพระแก้วดอนเต้าได้ชื่อว่า วัดพระแก้วดอนเต้า มีตํานานกล่าวว่า นางสุชาดา ได้พบแก้วมรกตในแตงโม (ภาษาเหนือเรียกว่าหมากเต้า) และนำมา ถวายเจ้าอาวาส เพื่อแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ซึ่งก็คือ พระแก้วดอนเต้า ต่อมาถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุ ลําปางหลวง จนถึงปัจจุบัน ปูชนียสถานที่สําคัญในวัดพระแก้วดอนเต้า ได้แก่ พระเจดีย์องค์ใหญ่ บรรจุพระเกศาธาตุ ของพระพุทธเจ้า มณฑปศิลปะพม่า ลักษณะงดงาม ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ วิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ที่มีอายุเก่าพอ ๆ กับวัดนี้ นอกจากนี้ยังมี วิหารหลวงและพิพิธภัณฑสถานแห่งล้านนา

วัดศรีล้อม มีต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ ต้นใหญ่อยู่กลางวัดและมีผ้าสีพันรอบๆ พร้อมทั้งไม้ค้ำต้นโพธิ์ไว้ตามประเพณี เป็นที่เคารพนับถือของคนลำปาง นอกจากนั้นมีศาลเพียงตา รูปปั้นพญายักษ์ และมณฑปครอบรอย อาวุธโบราณ

มณฑปครอบรอยพระพุทธบาทจำลอง อยู่ด้านหน้า ต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ แสดงความเป็นเมืองไก่ขาวตามตำนานลำปางเมืองไก่

ห้องเทิดพระเกียรติ

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

บ้านป่องนัก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2468 เพื่อเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมณฑลพายัพ แลเป็นที่ทรงประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือ ในปีพ.ศ.2501 ตัวบ้านสร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมยุโรปแบบคลาสสิค สมัยกรีกผสมสถาปัตยกรรมไทย มีลักษณะเป็น อาคารไม้ 2 ชั้นยกพื้นเตี้ย มีหน้ามุขแบบ 5 เหลี่ยม จำนวน 5 มุข มีช่องลมลายฉลุที่เรียกว่าขนมปังขิง (gingerbread) หน้าต่าง เป็นบานเกล็ดไม้อยู่รายล้อมรอบบ้าน มีจำนวนมากถึง 250 บาน และมีช่องหน้าต่างกว่า 469 ช่อง มีบันไดจำนวน 2 บันได ได้แก่ บันไดด้านหน้าสำหรับเจ้านาย ส่วนบันไดด้านหลัง สำหรับข้าราชบริพาร

ปัจจุบันบ้านป่องนักเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์มณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี ชั้นล่าง จัดเป็นที่แสดงอาวุธยุทโยปกรณ์บางส่วนที่ใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชั้นบน จำลองห้องต่างๆ อาทิ ห้องโถงที่ประทับแรมครั้งเสด็จ ห้องทรงงาน จัดให้เป็นห้องเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องจัดแสดงเกี่ยวกับภาพเขียนสีประตูผา และแสดงภาพถ่ายโบราณอีกมากมาย เช่น ภาพการแต่งกายของหญิงชาวล้านนาเมื่อปี พ.ศ.2445 เป็นต้น

เส้นทางวัฒนธรรมเมืองเก่า เป็นการถ่ายทอดสภาพสังคมและวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันและจะก้าวต่อไปในอนาคต