จ้อย ซอ

การจ๊อย

ทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์ย่อมมีมรดกทางวรรณกรรมเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ดังเช่นเรื่อง "จ๊อย" ของชาวล้านนา ผู้คนปัจจุบัน ได้นำเอาจ๊อยมาใช้ในชีวิตประจำวันแบบผิดเพี้ยน เผลอๆเอาจ๊อยไปเปิดงานมงคล ถ้าผมเป็นประธานผมคงต้องเปิดแน้บ ดังภาษาล้านนาเขาว่า หล้นจ๋นก้นมนแกว๊ด นั่นเอง

ที่มาของคำว่าจ๊อย ซึ่งเป็นวรรณกรรมโบร่ำโบราณของชาวล้านนา เรื่องที่มาเป็นตำนานจากชาวลัวะ ดังนั้นจึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านล้านนาสันนิษฐานกันว่า คำว่า จ๊อย เป็นภาษาของชาวลัวะ

ตำนานเรื่องจ๊อยเริ่มมีว่า " ในสมัยก่อนชาวลัวะอยู่กันเป็นเมืองเล็กๆ แต่ละเมืองก็เป็นอิสระแก่กัน อย่างไรก็ตามมีเมืองของชาวลัวะเมืองหนึ่งชื่อเมือง " ต๋าทอก " มีพญาแมนต๋าทอกเป็นเจ้าเมือง

ครั้งหนึ่งมีกองทักฮ่อมารุกรานเมืองต๋าทอก พญาแมนต๋าทอกนำกองทัพออกรบ กองทัพฮ่อได้ฆ่าพญาแมนต๋าทอกสิ้นพระชนม์ในสนามรบ พวกทหารลัวะจึงช่วยพันป้องกันเอาพระศพพญาแมนต๋าทอกกลับเมือง แต่ฮีตฮอย(จารีต)ของชาวลวัห้ามนำศพผีตายโหงกลับเข้าบ้านเมือง ทหารจึงนำศพพญาแมนต๋าทอกไว้นอกเมืองแล้วส่งคนไปกราบทูลพระนางอุทุมพะก๋าย มเหสีของพญาแมนต๋าทอก

ครั้งพระนางอุทุมพะก๋ายทรงทราบเรื่องการสวรรคตของสวามีจึงรีบออกมาดูพระศพ พร้อมกับร้องไห้โหยหวนว่า " ผัวของข้าเหย มาต๋ายตอ้ดละ หนีจากตั๋วข้านี้ไป ต่อแต่นี้ข้าจักอยู่กับไผ ก๋ำเวรใดมาเป๋นดั่งอี้........"

เสียงไห้โหยหวนของพระนางอุทุมพะก๋ายทำให้ผู้คนที่ได้ยินเกิดอารมณ์โศกเศร้าตามพร้อมๆกับมีทำนองที่ฟังแล้วม่วนงันยิ่งนักทั้งยังมีคำคล้องจองไพเราะเพราะพริ้งดีแท้ ผู้คนจึงจดจำทำนองไพเราะโศกเศร้านั้นนำมาเป็นทำนองของคำประพันธ์ที่เรียกันว่า คร่าว(อ่านว่าค่าว)และเรียกทำนองนั้นว่า ทำนองวิงวอนหนโลกคือคำพรรณาของชาวโลก(คนสมัยก่อนแบ่งความเป็นอยู่เป็น 2 ส่วน คือส่วนโลกคือ ชีวิตชาวบ้านทั่วไป และหนธรรม คือชีวิตของพระสงฆ์)

หลังจากนั้นมาหากใครมีเรื่องโศกเศร้า เหงาหงอย ใจไฝ่ลอยหาคนรัก คิดถึงผู้อยู่ไกล เสียใจกับการสูญเสียคนรัก ผู้นับถือ ญาติผู้ใหญ่ จำจากลา นิราศร้างห่างไกลกัน ก็จะพร่ำพรรณาเป็นคำคล้องจองและนำทำนองคำวิงวอนหนโลกใส่ในเนื้อหา เกิดเป็นคำประพันธ์ที่งดงาม ประเภทกล่าวถึงความสูญเสียห่างไกล จำใจจาก

เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปการเรียกว่าวิงวอนหนโลกมันยืดยาว ผู้คนนิยมนำคำว่า จ๊อย หมายถึงโศกเศร้ามาเรียกขานแทนคำว่าวิงวอนหนโลก คำประพันธ์นี้จึงนิยมเรียกกันว่า " จ๊อย "จนปัจจุบัน

จะจ๊อยกันเมื่อใด? การจ๊อยในล้านนานิยมจ๊อยแทรกในการเล่นเพลงซอพื้นเมือง โดยเฉพาะตอนที่ช่างซอจะจากบ้านเมืองเข้าป่า หรือที่เรียกกันว่า เข้าป่าเก็บนก ช่างซอจะจ๊อยร่ำลาบ้านเมือง ญาติๆ

ส่วนในชีวิตประจำวัน พวกหนุ่มสาว จะนิยมจ๊อยตอนที่คิดถึงกัน เช่นสาวคิดถึงตั๋วพ่อ(อ่านตั๋วป้อ)คือชายหนุ่มคนรักในยามค่ำคืน มองคนรักหาเมื่อใดก็ไม้เห็นมาเหมือนก่อนๆ จึงจ๊อยขึ้นว่า คืนฟ้าหนาว

ใจ๋สาวง่อมล้ำเผียบเหมือนเถื่อนถ้ำดงดำสิงขร ดาวเดือนเคลื่อนคล้อย น้ำย้อยตี๋นก๋อน ซบหัวลงนอนกอดหมอนฮ่ำไห้

บางครั้งชายหนุ่มเดินไปเที่ยวสาวยามค่ำคืน ก็นิยมจ๊อยส่งเสียงให้สาวๆเห็นใจขณะที่เดินผ่านบ้านสาวๆ สาวเหยสาวข้าหนาวใจ๋ล้ำ อยากได้ตั๋วเจ้ามาแอม ผ่อเกาะก๋างน้ำหันอ้อก้กแขมยังมีคู่แอมเป๋นก๋อเป๋นเหง้า...

บางครั้งผู้คนล้านนามักกล่าวถึงอาการของคนคล้ายบ้าว่า "จ๊อยๆซอๆ "หมายถึงจ๊อยคืออารมณ์ที่โศกเศร้าส่วนซอเป็นอารมณ์ที่ดีแจ่มใส นั่นคืออาการของคนเดี๋ยวร้ายเดี๋ยวดี เสียสติ

สรุปแล้วจำว่า "จ๊อย"เป็นคำประพันธ์คนล้านนาที่บ่งบอกถึงความโศกเศร้า กึ๊ดเติง ร่ำเปิงหา ยามนิราศร้างห่างไกลของรักในบางหมู่บ้านจะนิยมจ๊อยร่ำหาอาลัยในงานศพ งานอวมงคล

การซอ

การซอพื้นเมือง มีลักษณะเป็นเพลงโต้ตอบระหว่างชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง เรียกว่า คู่ถ้อง มีดนตรีประกอบได้แก่ ปี่ ซึ่งมีเป็นชุดเรียก ปี่ชุม ทำด้วยไม้ไผ่ลำเดียวตัดเป็นท่อนๆให้ได้ ๔ ขนาดตามลำดับ ประกอบด้วย

ปี่เค้า (ปี่แม่) เป็นปี่ขนาดใหญ่ สำหรับทำเสียงคลอเพื่อให้เกิดผสมกลมกลืนกัน

ปี่กลาง เป็นปี่เสียงกลางสำหรับสร้างทำนองเพลง

ปี่ก้อย เป็นปี่เสียงเล็กที่เป็นเสียงนำ

ปี่ตัด เป็นปี่ที่มีขนาดเล็กที่สุด ใช้แทรกทำนองหรือแทรกเสียงเพื่อให้เกิดความไพเราะยิ่งขึ้น

นอกจากนี้อาจจะมีซึงและสะล้อด้วยก็ได้

ทำนองที่ใช้ประกอบการซอ

แบ่งเป็นประเภทซอที่ไม่มีคำร้องประกอบมีหลายทำนอง เช่น ปราสาทไหว ล่องแม่ปิง ฤาษีหลงถ้ำลาวเดินดง แหย่งหลวงพม่า กุหลาบเชียงใหม่ สาวไหม ล่องน่าน และประเภทที่มีการขับร้องประกอบทำนอง เช่นเพลงตั้งเชียงใหม่ ละม้ายเชียงแสน จะบุ๊(จาวปุ) อื่อ เงี๊ยว พระลอ (หรือลองน่าน) และพม่า (ทำนองพิเศษที่มีทำนองแตกต่างจากพม่าที่บรรเลงโดยไม่มีคำร้องประกอบ)

โอกาสที่เล่น

ใช้ประกอบพิธีกรรม เช่น การซอในพิธีไหว้ครูซอ การซอในพิธีเข้าพรรษา การซอขึ้นบ้านใหม่ การซอมัดมือแต่งงาน การซอในงานบวชลูกแก้ว (นาค) และการซอในงานปอยต่างๆ

คุณค่าของซอ

เนื้อหาของซอเป็นเรื่องราวทั้งที่เกี่ยวกับพิธีกรรม และเรื่องราวในชีวิตประจำวัน หากได้ศึกษาวิเคราะห์อย่างรอบด้านก็จะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับภาษาล้านนา ค่านิยม ความเชื่อ ฯลฯ ของสังคมล้านนาได้กว้างขวางยิ่งขึ้น