ศึกชิงนาง

บทความ

เรื่อง “ศึกชิงนาง”

รูปํ ชีรติ มจฺจานํ นามโคตฺตํ น ชีรติ

รูปกายของสัตว์ย่อมร่วงโรยไป

แต่ชื่อและสกุลไม่เสื่อมสลาย

ายหนุ่มวัย 40 ต้น ๆ รูปร่างสันทัด ผิวขาวปนแดง หน้าตาคมสัน ทุกๆวันมักสาระวน คอยมองดูถังสีทาบ้านขนาดย่อมที่คนสามารถหิ้วไปมาได้จำนวนประมาณ 40 กว่าใบใต้ถุนบ้านแบบทรงล้านนาสมัยกลางยกพื้นสูงขนาดเกือบ 2.50 เมตร

ซึ่งคนสามารถเดินลอดใต้ถุนบ้านไปมาได้ เพื่อไม่ให้พวก มด ปลวก หรือแมลงต่างๆเข้ามาใกล้ ซึ่งข้างในบรรจุดินและขี้เลื่อยนำมาผสมกับรำข้าวอ่อนสูตรเฉพาะประมาณครึ่งถังและมีฝาบิดมิดชิดทุกใบ เขาใส่ใจทนุถนอมมันเป็นอย่างดี ทุก ๆ 7 วันเขาจะทำการเปิดฝารดน้ำดินในถังพอชุ่มไม่ให้เปียกหรือแห้งจนเกินไป เพื่อเฝ้าดูการเจริญเติบโตของสิ่งที่เขาเพาะบ่มไว้ภายในถัง มันเป็นความภาคภูมิใจที่เขาได้กระทำและจดจ่อ

รอคอยกับสิ่งที่กำลังจะผุดขึ้นมาจากดินในถังเร็ว ๆ วัน ซึ่งมันลุ้นยิ่งกว่าชาวบ้านนั่งลุ้นหวย และคนรวยนั่งลุ้นหุ้น นั่นหมายความว่าหากเขาทำมันสำเร็จก็พอที่จะมองเห็นรายได้หรือเม็ดเงินที่จะนำมาใช้จ่ายช่วยเหลือครอบครัวในแต่ละวันหรือช่วยเหลือตัวเองได้

ายทวี คอสั้น ชื่อเล่น วี เกิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2520 อายุ 43 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 74

หมู่ 10 ตำบลวังซ้าย อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เป็นบุตรชายคนโตของ นายธรรมและนางกิมเหล่น คอสั้น จำนวนพี่น้องทั้งหมด 3 คน ชีวิตเบื้องต้นของเขาดูเหมือนไม่มีปัญหาและอุปสรรคใดๆ เขาเกิดจากครอบครัว ลูกชาวนาที่อบอุ่นเหมือนคนชนบททั่วไป พ่อแม่ทำไร่ทำนา เสร็จจากนาก็หารับจ้างทั่วไป เขาและเพื่อน ๆของเขาชอบเข้าป่าล่าสัตว์ หาของป่ามาขายตามฤดูกาล เช่น เห็ด หน่อไม้ แมลง ด้วงกว่างชน มาขายตามสภาพเหมือนวัยรุ่นหนุ่มสาวชนบททั่วไป เขาเป็นคนขยันขันแข็ง มุมานะทำงานรับจ้างหาเงิน ประหยัด เก็บออม และรู้จักมองหาช่องทางทำมาหากิน จนสุดท้ายเขาสามารถเก็บเงินผ่อนรถหกล้อมา 1 คัน เขาและน้องสาวอีก 2 คน ได้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากชาวบ้านในละแวกนั้นหรืออำเภอใกล้ ๆแล้วส่งขายในตัวเมืองโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นตลาดรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรอันดับต้น ๆของประเทศไทย แต่..อนิจจาดังพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ไม่มีสิ่งใดๆในโลกที่จีรังยั้งยืน บางคนมืดมา มืดไปบางคนมืดมา สว่างไป บางคนสว่างมา มืดไป บางคนสว่างมา สว่างไป เป็นต้น วี ได้ประสบอุบัติเหตุจากการตกต้นไม้ในขณะที่เขากำลังปีนขึ้นไปเก็บลิ้นจี่ข้างบ้านซึ่งสูงประมาณเกือบ 5 เมตร เมื่อวันที่14 กุมภาพันธ์ 2551 ทำให้ร่างของเขาร่วงหล่นหลังกระแทกเข้าตอไม้ด้านล่างอย่างจัง และทำให้เขาหมดสติดับวูบไปทันที เขามารู้สึกตัวอีกทีที่โรงพยาบาลจังหวัดลำปาง ท่ามกลางสายตาพ่อแม่พี่น้องที่คอยเฝ้าอาการของเขาด้วยความเป็นห่วงเป็นใย ด้วยความเจ็บปวดไปหมดทั้งเนื้อตัว เขารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เป็นแรมเดือน แรมปี เงินทุกบาททุกสร้างหรือแม้แต่รถที่เขาผ่อนมาก็หมดไปกับการรักษาอาการของเขา และเขาเริ่มรู้สึกว่าตั้งแต่ช่วงเอวลงไปรู้สึกชาขยับขาไปมาไม่ได้ หมอพยายามให้เขาทำกายภาพบำบัดเพื่อรักษาอาการแต่จนแล้วจนรอด อาการก็ไม่ดีขึ้นเขาก็ยังรู้สึกว่าขาสองข้างอ่อนแรง จนหมดวินิจฉัยว่าเขาเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง สร้างความเสียใจให้กับเขาและพ่อแม่พีน้องเป็นอย่างยิ่ง เมื่อสิ้นเสาหลักของครอบครัวทำให้รายได้ต่างๆหดหายไป จากเสาหลักของครอบครัว กลายมาเป็นภาระของครอบครัว แต่ด้วยหัวใจที่เข้มแข็งของเขาทำให้เขาต้องลุกขึ้นสู้แม้สภาพร่างกายไม่อำนวย ด้วยสภาพร่างกายที่ต้องนั่งรถวิลแชร์จากนี้ไปตลอดชีวิต เขาพยายามหางานทำที่เหมาะกับสภาพร่างกายของตัวเอง เช่นรับสลากกินแบ่งรัฐบาลจำหน่าย รับเบี้ยยังชีพ คนพิการ แต่นั่นก็ไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว เขาจึงได้ทำการทดลองซื้อกว่าง จากเพื่อนบ้านสมัยก่อนนำมาทดลองชน ตัวไหนที่ชนดีก็จะโพสขายทางเฟรชบุ๊ค จากหลักสิบ กลายเป็นหลักร้อยสร้างรายได้ให้กับเขาพอสมควรในแต่ละปี แต่พอหมดฤดูเขาก็นำมาสต๊าฟเป็นของที่ระลึกจำหน่ายกับผู้ที่ชื่นชอบแมลงชนิดนี้ และเริ่มเรียนรู้ที่จะเพาะด้วงกว่างด้วยตัวเองลองผิดลองถูกมาหลายปีจนในที่สุดเมื่อเขาได้มีโอกาสเรียนกับ กศน.อำเภอวังเหนือ ได้ไปส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมายได้พาเขาไปศึกษาหาความรู้กับปราชญ์ชาวบ้านถึงวิธีการเลี้ยงด้วงกว่างที่ถูกต้องและการดูแลรักษาจนถึงการให้อาหารด้วงกว่างจนในที่สุดเขาก็สามารถเพาะเลี้ยงด้วงกว่างได้สำเร็จ และเขาก็สามารถบอกวิธีการเพาะเลี้ยงด้วงกว่างให้กับผู้ที่สนใจที่จะทำการเพาะเลี้ยงได้อีกด้วย ทุกวันนี้ วีสามารถเพาะด้วงกว่างขายสร้างรายได้ให้กับเขา ปีละหลายพันบาท ทำให้วีรู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ไม่เป็นภาระของครอบครัว และมีรายได้มาจุนเจือครอบครัวถึงมันจะไม่ได้มากมายเหมือนสมัยก่อนแต่มันก็ไม่ได้ทำให้เขาเดือดร้อนแต่ประการใด ตรงกันข้ามกับทำให้เขาภูมิใจและมีความสุขที่ได้ทำงาน อยู่กับพ่อ แม่ ไม่ต้องเป็นภาระของครอบครัว ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนวัยเด็กหรือผู้คนที่สนใจเข้ามาซื้อกว่างชนที่เขาได้เพาะเลี้ยงไว้และได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้จากการเป็นนักศึกษา กศน. และวีคนนั้นก็กลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข

ด้วงกว่าง (Dynastinae) กว่างโซ้ง กว่างแซม กว่างกิ กว่างอีลุ้ม หรือที่ชาวอีสานเรียก “แมงคาม” ภาคเหนือเรียกชื่อตามสี กว่างสีดำออกแดง เรียก กว่างรักน้ำใส หากมีสีดำสนิทเรียกว่า “กว่างรักน้ำปู๋”เป็นแมลงปีกแข็ง มี 6 ขา ตัวผู้มีเขายื่นไปข้างหน้าและโค้งเข้า ช่วงปลายเขาแยกเป็นสองแฉก ซึ่งมีเขา 2-3 เขา และ 5 เขา ทำหน้าที่เป็นอาวุธประจำตัวชิงความเป็นหนึ่งในการเลือกคู่ อันเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติ ช่วงนี้เองกลุ่มคนที่ชื่นชอบจะเริ่มเสาะแสวงหาด้วงกว่างที่มีเขางุ้มใหญ่ เอามาชนกระทั่งกลายเป็นเกมกีฬาประเพณีหลังด้วงกว่างตัวผู้หาคู่ที่ถูกใจได้แล้วจะใช้เวลาอยู่ด้วยกัน 2–4 เดือน ตัวผู้จะเริ่มตาย ส่วนตัวเมียเริ่มลงพื้นดินเพื่อวางไข่ จากนั้นจึงค่อยๆฝังกลบตัวเองและตายในที่สุด

วัฏจักรของด้วงกว่าง ช่วงที่ยังเป็นไข่และวัยอ่อนใช้เวลาอยู่ในดิน 1-2 เดือน จึงเริ่มกลายเป็นตัวหนอนหรือตัวด้วงสีขาว ตัวโต มีความยาวประมาณ 5-6 ซม. กินเศษใบไม้ผุ ตอไม้ หรือต้นไม้ที่ผุเป็นอาหาร แล้วจึงเริ่มเข้าสู่การเป็นดักแด้อีก 1 ปีหลังฝนตกลงมาทำให้ดินอ่อน ด้วงกว่างที่เจริญเติบโตเต็มที่จะดันดินออกมาสู่โลกภายนอก หาแหล่งอาหารใหม่ อาทิ ยางไม้ ผลไม้ ยอดพืชผัก ยอดหน่อไม้ ใบคราม ไม้มะกอก กล้วย และน้ำหวานจากอ้อย เมนูโปรดปรานพิเศษซึ่งคนที่เลี้ยงกว่างมีความเชื่อ หากเลี้ยงด้วยอ้อยด้วงกว่างจะแข็งแรง ต่อสู้เก่ง และมีความอึด.

การจับกว่าง

• ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม–ตุลาคม เป็นเวลาที่ชาวบ้านในสมัยก่อนมีเวลาว่าง เพราะข้าวที่ปลูกไว้กำลังตั้งท้อง เมื่อว่างจากการงาน ผู้ชายจะสนุกกับการเล่นชนกว่างกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ การหากว่างหาได้จากตามสุมทุมพุ่มไม้หรือป่าในเขตของหมู่บ้านที่มีต้นไม้เครือเถาขึ้นปกคลุม โดยเฉพาะในเวลาเช้าจะหาได้ง่ายกว่าเพราะกว่างยังไม่เข้าไปหลบอยู่ใต้

• อีกวิธีหนึ่งคือการตั้งกว่างหรือใช้กว่างล่อ โดยใช้กว่างที่มีขนาดเล็ก เช่น กว่างกิ กว่างแซม หรือจะใช้กว่างตัวเมียที่เรียกว่ากว่างแม่อีหลุ้มก็ได้ ผูกกว่างด้วยเชือกเส้นเล็กฟั่นจากฝ้ายโยงกับอ้อยที่ปอกครึ่งท่อน ใช้ไม้ขอเสียบส่วนบนหรือใช้กล้วยน้ำหว้าใส่ในตะกร้าเล็ก ๆ หรือในกะลา ผูกกว่างขนาดเล็กไว้เป็นกว่างล่ออยู่ข้างใน แล้วนำอ้อยหรือตะกร้าไปแขวนไว้กับกิ่งไม้ในตอนหัวค่ำ โดยหาทำเลที่เป็นชายป่าหรือในบริเวณที่ใกล้กับเนินดิน การแขวนไม่ให้สูงมาก ในตอนกลางคืน กว่างตัวล่อ จะบินมีเสียงดัง ดึงดูดให้กว่างที่บินเวลากลางคืนให้เข้ามาหาเพื่อติดกับโดยมีอ้อยที่เป็นอาหารที่ชอบหลอกล่ออยู่ ถ้าเป็นกว่างโซ้งก็นำไปเลี้ยงไว้เพื่อชนต่อไป ถ้าเป็นกว่างแซมก็เก็บไว้เป็นกว่างล่อ ถ้าเป็นกว่างตัวเมียที่เรียกว่ากว่างแม่อีหลุ้มก็เก็บใส่กระป๋องและใส่อ้อยข้างในเลี้ยงไว้เพื่อใช้ล่อให้กว่างตัวผู้ชนกัน

การเลี้ยงกว่าง

• เมื่อได้กว่างโซ้งที่ถูกใจมาแล้ว นักนิยมกว่างจะเลี้ยงดูกว่างอย่างดีโดยหาอ้อยที่หวานจัดมาปอกเปลือกให้ ส่วนที่ตัวกว่างก็ใช้ด้ายสีแดงมาฟั่นยาวประมาณหนึ่งคืบมาผูกที่ปลายเขาด้านบนเพื่อกันกว่างบินหนี ที่โคนลำอ้อยมีตะขอกันไม่ให้จิ้งจกเลียตีนกว่าง เพราะถ้าจิ้งจกเลียตีนกว่างแล้ว กว่างจะเกาะคอนได้ไม่มั่นคง นอกจากนี้ก็จะต้องหมั่นฝึกซ้อม การฝึกนี้จะใช้ไม้สี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ปลายแหลมเรียกกันว่า “ไม้ผั่นกว่าง” เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ ตื่นนอนตอนเช้าก็จะนำกว่างไปออกกำลังคือให้บินโดยใช้เชือกผูกจากเขากว่าง กว่างก็จะบินวนไปวนมา เมื่อเห็นว่าออกกำลังพอสมควรแล้ว จะนำกว่างไป “ชายน้ำเหมย” คือนำกว่างไปราดใบข้าวที่เปียกน้ำค้างในตอนเช้า หรือบ้างก็เคี้ยวอ้อยแล้วพ่นน้ำหวานใส่กว่าง ทำอย่างนี้ทุกวันกว่างจะแข็งแรง

ลักษณะของกว่าที่จะนำมาชน

• ลักษณะกว่างโซ่งที่ดีนั้นต้องมีหน้ากว้าง กางเขาออกได้เต็มที่เขาล่างจะยาวกว่าเขาบนนิดหน่อยถ้าเขาล่างยาวกว่าเขาบนก็จะเรียกว่า “กว่างเขาหวิด” ถือว่าหนีบไม่แรงไม่แน่นกว่างชนที่ดีนั้นส่วนหัวต้องสูง ท้ายทอยลาดลงเป็นสง่า แต่ถ้าท้ายทอยตรงโคนเขาบนเป็นปมไม่เรียบ ถือว่าเป็นกว่างไม่ดี กว่างที่ดีต้องเป็นกว่างที่ฉลาดสอนง่าย

• ก่อนที่จะนำกว่างมาชนกันนั้น จะต้องนำกว่างมาเทียบขนาดและสัดส่วนที่เรียกว่า เปรียบคู่ กันเสียก่อน เมื่อตกลงจะให้กว่างของตนชนกันจริง ๆ แล้ว เจ้าของกว่างจะต้องขอกว่างของฝ่ายตรงกันข้ามมาตรวจดูเสียก่อนว่าไม่มีกลโกง

• ในการชนกว่างแต่ละครั้งมักจะมีการวางเดิมพันกันเพื่อความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น กว่างที่ชนะก็ทำให้เจ้าของมีหน้ามีตา แต่ถ้ากว่างแพ้แล้วอยู่ที่เจ้าของว่าจะเลี้ยงต่อหรือปล่อยไปตามธรรมชาติ

ปล่อยกว่างคืนสู่ธรรมชาติ

• กว่างเมื่อได้เกิดออกจากดินมาเป็นเวลาประมาณ 3 เดือนแล้ว ก็ใกล้จะหมดอายุขัยแล้ว ตามธรรมเนียมที่เคยทำกันมา เมื่อออกพรรษาแล้วจะนำกว่างตัวเมียมาให้ตัวผู้ผสมพันธุ์ มีกว่างตัวเมียอยู่กี่ตัวก็จะเอามาให้ตัวผู้ผสมพันธุ์ทุกตัว แล้วนำทั้งกว่างตัวผู้และตัวเมียไปใส่ไว้ในตะกร้าที่มีกล้วยอ้อย นำไปแขวนไว้ตามชายคาบ้านหรือใต้ต้นไม้ ตกกลางคืนกว่างทั้งหลายก็จะผสมพันธุ์กันตามวิสัย แล้วกว่างตัวเมียจะบินไปสู่บริเวณที่เป็นเนินดินแล้วขุดลงไปไข่ไว้ในดิน หลังจากไข่แล้ว

กว่างตัวเมียก็จะฝังตัวตายอยู่ในที่นั้น ไข่ก็จะฟักออกเป็นตัวหนอนและเป็นกว่างในปีต่อไป

...วี กล่าวไม่จะเป็นคนหรือสัตว์สุดท้ายแล้วต่างก็ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตรอด กว่างต้องการชัยชนะในการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีและได้สืบพันธ์กับตัวเมียที่สมบูรณ์ที่สุดเพื่อลูกหลานที่แข็งแรงในอนาคต ส่วนคนต่อสู้เพื่อเอาชนะต่อโชคชะตา เพื่อครอบครัวและคนร่วมเดิน ชีวิตที่ยังคงดิ้นรนต่อไป ความพิการไม่เป็นอุปสรรคหากหัวใจสู้ แค่คุณบอกว่าชนะ เราก็ต้องชนะ...

ผู้ให้ข้อมูล นายทวี คอสั้น

ผู้เขียน/เรียบเรียง นายกตัญญู ปงลังกา ครูผู้สอนคนพิการ

ภาพถ่าย ทวี คอสั้น/กตัญญู ปงลังกา