สูงวัยใจประดิษฐ์

คุณค่าของการมีชีวิต คือการได้ทำสิ่งดี ๆ ที่ตัวเองชอบแม้สิ่งนั้นจะเป็นเพียงสิ่งเล็ก ๆในสายตาของผู้อื่น แต่ถ้ามันเกิดจากความรัก ความพอใจ และทำให้เรามีความสุขสิ่งนั้นก็จะทรงคุณค่าในตัวของมันเอง งานประดิษฐ์เป็นงานส่งเสริมการใช้มือและสมองให้สัมพันธ์กัน โดยมุ่งเน้นและสนับสนุนให้เกิดการทดลองค้นคว้าตลอดจนหาประสบการณ์ใหม่ๆด้วยวิธีการที่หลากหลายตามความถนัดของแต่ละคนโดยสามารถจำแนกตามลักษณะการนำไปใช้งานได้ 3 ประเภท คืองานประดิษฐ์ประเภทของเล่น งานประดิษฐ์ประเภทของใช้ และงานประดิษฐ์ประเภทของตกแต่ง

คุณตาลพ ทูลเดช วัย 82 ปี

ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่รักและชื่นชอบการประดิษฐ์จนกลายมาเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการประกอบอาชีพผลิตภัณฑ์ จากเศษไม้และลูกไม้ ปัจจุบันคุณตาอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 190 หมู่ 10 ตำบลทุ่งฮั้ว อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เดิมตอนที่คุณตายังเป็นหนุ่มก็มีอาชีพเกษตรกรทำไร่ ทำสวน ทั่วไป จนเมื่อได้เข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ด้วยอายุที่มากขึ้นบุตรหลานก็ให้คุณตาได้พักไม่ต้องไปทำไร่ทำสวอีก เมื่ออยู่บ้านว่าง ๆ คุณตาก็เริ่มงานจักสานไม้ไผ่ ทำตะกร้า ทำเข่งจนเวลาผ่านไปก็ไม่ได้ทำอีก

จุดเริ่มต้นของภูมิปัญญาท้องถิ่นผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากเศษไม้และลูกไม้เกิดจากการที่ได้มีโอกาสได้เข้าไปหลบสายฝนที่กระหน่ำลงมาอย่างไม่ขาดสายในบ้านหลังหนึ่ง ขณะที่เดินทางไปทำธุระในตัวอำเภอและกำลังจะเดินทางกลับบ้านได้เห็นแมลงปอที่ประดิษฐ์จากไม้ไผ่ที่เจ้าของบ้านนำมาตกแต่งบ้าน มันเป็นแมลงปอที่สามารถนำไปเกาะที่วัตถุไหนก็ได้ เช่น นิ้วมือ ขอบโต๊ะ ปากกาและกิ่งไม้ ทำให้คุณตาเกิดความสนใจและสงสัยขั้นตอนในการประดิษฐ์ว่าทำไมแมลงปอตัวนั้นถึงเกาะที่นิ้วได้โดยที่ไม่ร่วงหล่นลงไป เมื่อเกิดความสนใจและสงสัยจึงได้ขอตัวอย่างแมลงมาที่บ้านและทำให้รู้ว่าที่มันสามารถเกาะได้ทุกที่ เพราะเกิดจากการสร้างสมดุลของปีกแมลงปอทั้งสองข้างที่ต้องมีขนาดและน้ำหนักที่เท่ากัน เมื่อเกิดความสนใจจึงมีความตั้งใจลงมือประดิษฐ์โดยมีขั้นตอนการทำแมลงปอไม้ไผ่ ดังนี้

1. เหลาไม้ไผ่ให้ได้รูป แบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนตัวและปีก 2. ส่วนลำตัวให้เหลาส่วนหัวให้ได้สัดส่วน และเหลาส่วนลำตัวยาว ไปถึงหางแมลงปอ 3. เหลาไม้ไผ่เป็นรูปปีกแมลงปอ ข้างละสองปีก โดยที่ให้ปีกบนยาวกว่าปีกล่างเล็กน้อย 4. เจาะรูที่ส่วนลำตัวของแมลงปอ เพื่อเสียบปีกที่เหลาไว้เข้ากับลำตัว จากนั้นทาด้วยกาวเพื่อความคงทน 5. ใช้สีทา ตกแต่งบนลำตัวและปีกของแมลงปอให้สวยงาม

ดที่ยากที่สุดของการประดิษฐ์คือการติดปีกเข้ากับลำตัวของแมลงปอให้ได้สมดุลด้วยความที่เป็นคนที่มีฝีมือดีและช่างสังเกต ผลปรากฏว่าคุณตาลพ ทำออกมาได้เป็นอย่างดี สวยงาม และนำไปเกาะที่วัตถุไหนก็ได้ จนมีพ่อค้าคนกลางที่ขายสินค้าโอทอปมาสนใจในฝีมือและได้ติดต่อรับซื้อผลิตภัณฑ์และสั่งผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้เป็นจำนวนมากแมลงปอไม้ไผ่นี้สามารถใช้เป็นของเล่นที่ช่วยเสริมสร้างทักษะให้เด็กเป็นคนช่างสังเกตและเกิดความสงสัยใคร่รู้ว่าแมลงปอนั้นเกาะที่นิ้วได้อย่างไร หรือจะเป็นของตกแต่งบ้านก็ได้ คุณตาจึงได้เริ่มจากการไปซื้อไม้ไผ่มาในราคา ลำละ 20 บาท ไม้ไผ่ 1 ลำ สามารถนำมาประดิษฐ์เป็นแมลงปอได้ถึง 300-400 ตัว โดยจำหน่ายราคาส่งให้กับพ่อค้า ในราคาตัวละ 10 บาท โดยสรุปได้ว่าไม้ไผ่ 1 ลำ สามารถสร้างมูลค่าได้ถึง 4,000 บาท กลายเป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่คุณตา นอกจากจะทำผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นตัวแมลงปอแล้วยังได้มีการเพิ่มมูลค่า โดยการทำฐานให้แมลงปอเกาะ โดยนำกะลามะพร้าวมาตัดเพื่อทำเป็นฐานตั้งพื้น และนำไม้มาพันด้วยลวดแล้วทาสี เจาะรูตรงฐานนำไม้มาตั้งขึ้นมาจากฐานให้เป็นเหมือนกิ่งไม้ที่ให้แมลงปอเกาะ โดยนำไปส่งจำหน่าย ในราคาชุดละ 20 บาท ความที่เป็นคนมีฝีมือจึงทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาได้รับผลตอบรับเป็น อย่างดีจนมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่บ้านและด้วยความที่คุณตาเป็นคนใฝ่รู้และ ช่างสังเกต จึงพบว่าในท้องถิ่นมีวัตถุดิบที่สามารถนำมาประดิษฐ์ เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าได้ เช่น กะลามะพร้าวที่เป็นวัสดุแรก ที่คุณตาเริ่มนำมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งกะลามะพร้าวได้นำมาจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด ความสำคัญของกะลาในสมัยก่อนนั้นมีน้อยเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ด้วยปกติกะลามะพร้าวมักจะถูกนำไปทำเป็นของใช้ประเภท กระบวยตักน้ำ ภาชนะใส่อาหาร ทัพพีหรือแม้แต่ช้อน จนในปัจจุบันเกิดมีค่าขึ้นมาในสายตาของนักประดิษฐ์ มีการจัดการแปรรูปกะลาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มคุณค่าได้อย่างหลากหลาย ด้วยความที่ไม่ค่อยเห็นใครนำกะลามะพร้าวมาประดิษฐ์เป็นสัตว์เท่าไหร่ และด้วยกะลามะพร้าวมีรูปทรงต่าง ๆ เมื่อผสานกับจินตนาการออกมาจึงสามารถทำเป็นสัตว์ได้หลายชนิด ซึ่งแต่เดิมในอดีตนั้นผู้ใหญ่จะทำสัตว์กะลาให้ เด็กเล่นในช่วงที่มีการทำขนมตามประเพณีต่าง ๆ เนื่องจากขนมไทย ส่วนใหญ่จะใช้มะพร้าวเป็นส่วนประกอบกะลามะพร้าวที่เหลือจึงนำมาดัดแปลงเป็น ของเล่นให้แก่เด็ก ๆ

สัตว์ตัวแรกที่คุณตาเริ่มทำคือ ไก่ เริ่มจากนำกะลามะพร้าวมาทำเป็นส่วนของตัวไก่ ในการทำนั้นต้องนำกะลาลูกแก่มาแกะ เปลือกออกควรจะใช้มะพร้าวที่แห้งและไม่มีน้ำข้างในเพื่อที่ง่ายในการนำเอาเนื้อข้างในออกไม่ใช้มะพร้าวดิบเพราะจะทำให้เกิดเชื้อราไม่แข็งแรง ทนทานและสีสันไม่สวยงาม ส่วนหัวทำมาจากลูกตาลแห้งและใช้เศษกะลามะพร้าวมาทำเป็นเท้าโดยใช้กาวร้อนเป็นตัวเชื่อมส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ติดตาโดยนำตาพลาสติกมาติด

ตัวที่ 2 คือผึ้ง วิธีทำโดยการนำกะลามะพร้าวแบบไม่ต้องผ่าจำนวน 2 ลูก มาเชื่อมติดกันด้วยกาวร้อนผสม ขี้เลื่อยเพื่อทำเป็นตัวผึ้ง นำลูกตาลแห้งมายึดติดกับส่วนลำตัว ที่ทำไว้ก่อนหน้า เพื่อเป็นส่วนหัวแล้วใช้เชือกป่านพันลวดมาทำเป็นหนวดผึ้ง โดยขาทำมาจากจั่นมะพร้าว ส่วนปีกทำมาจากกาบหมากเมื่อประกอบรูปร่างแล้ว ก็ลงสีดำเหลืองให้เหมือนตัวผึ้ง จำหน่ายในราคาตัวละ 100 บาท

จะเห็นได้ว่าจากที่ใช้แค่กะลามะพร้าวก็เริ่มนำเศษไม้และลูกไม้ชนิดอื่นมาเป็นส่วนประกอบในการประดิษฐ์ เช่น ลูกตาล ส่วนต่าง ๆ ของต้นมะพร้าว ลูกมะค่าโมง ลูกพระเจ้าห้าพระองค์ กาบหมาก ลูกโพทะเล และลูกสะบ้า ซึ่งสามารถนำประดิษฐ์เป็นสัตว์ชนิดต่าง ๆ ตามจินตนาการ เช่น ไก่ นก สุนัข วัว ควาย หมู มด และผึ้ง เป็นการนำวัสดุที่คนอื่นทิ้งและมองข้ามมาสร้างสรรค์ประดิษฐ์เป็นสัตว์โดยมีการขัดเปลือกกะลามะพร้าวให้ดูสวยงามเป็นความรู้ความสามารถที่นำเศษไม้และลูกไม้มาประดิษฐ์สร้างสรรค์เป็นรูปสัตว์ต่างๆได้โดยที่ไม่ได้ไปศึกษาเล่าเรียนจากที่ไหนแต่อาศัยความสามารถพิเศษ ความสนใจฝึกฝนเอาเองและบางครั้งไปพบเห็นคนอื่นเขาทำอะไรก็จะสังเกตและ จดจำมาฝึกปฏิบัติที่บ้านจนเกิดความชำนาญเป็นผู้สูงวัย ใจประดิษฐ์อย่างแท้จริง

ผลิตภัณฑ์จากเศษไม้และลูกไม้ของคุณตาลพ ทูลเดช

มีเอกลักษณ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตชาวบ้าน ตลอดจนวัฒนธรรมที่ดีงามของการเรียนรู้มีลักษณะโดดเด่นที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ สามารถพัฒนาและเพิ่มคุณค่าของวัสดุในท้องถิ่นและไม่ ทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นวิถีทางสังคมได้อย่างลงตัวทั้งนี้ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากกศน.อำเภอวังเหนือและพัฒนาชุมชนอำเภอวังเหนือ

รางวัลและผลงานที่สร้างความภูมิใจ

-ได้เป็นสินค้า OTOP ผลิตภัณฑ์จากเศษไม้ลูกไม้บ้านป่าบง-ฮ่องไฮ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง

ผู้ให้ข้อมูล นายลพ ทูลเดช

เรียบเรียงเนื้อหา นางสาวเพ็ญนิภา ตานาคา

ภาพถ่าย นางสาวเพ็ญนิภา ตานาคา

ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.youtube.com/watch?v=Ly0B86Umtcg