ปราชญ์ชาวบ้าน

นางปพิชญา นวลบุญ

มีความสามารถด้านเกษตรกรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ที่อยู่ 105 ม.7 ตำบลอุใดเจริญ อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เบอร์โทรศัพท์ 085-0785412

ประวัติ นางปพิชญา นวลบุญ เกิดเมื่อวันที่ 9 กันยายน ๒๕๐๙ ณ บ้านทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา บิดา ชื่อนายจัด นวลบุญ มารดา ชื่อนางจิต บุญพรรณ โดยเป็นบุตรคนโต ในจำนวนพี่น้อง๕ คน จบการศึกษาระดับประถมศึกษา จาก กศน.อำเภอควนกาหลง ปัจจุบันศึกษาอยู่ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ณ กศน.ตำบลอุใดเจริญ อ.ควนกาหลง จ.สตูล สมรส กับนายปัญญา ทองแจ่มแจ้ง มีบุตรด้วยกัน ๓ คน

การประกอบอาชีพ นางปพิชญา นวลบุญ(พี่แดง)ประกอบอาชีพการทำสวนยางพาราเป็นอาชีพหลัก อาชีพเสริมได้แก่ การเลี้ยงวัว ต่อมามีการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่พื้นเมือง แต่มีปัญหาทางด้านการตลาดจึงหันมาเลี้ยงหมู แต่เลี้ยงได้ไม่นานก็ล้มเลิกเพราะไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำคลอดหมู ต่อมาประสบปัญหาเรื่องชีวิตครอบครัวทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงหันมาทำขนมขายและรับจ้างทั่วไป แต่ด้วยใจรักในอาชีพเกษตรกรและได้ซื้อที่ใหม่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การประกอบอาชีพเกษตรจึงหันมาทำเกษตรอย่างจริงจัง เริ่มต้นโดยการปลูกกล้วยในระหว่างร่องยางพาราที่ได้รับการสงเคราะห์ประมาณ๑,๐๐๐ กอ เมื่อกล้วยได้รับผลผลิตแต่ราคาค่อนข้างตกต่ำไม่มีแม่ค้ามารับซื้อ จึงโค่นทิ้งแล้วหันมาปลูกแตงกวา ถั่วฝักยาว สลับกับข้าวโพด และได้ปลูกเงาะในพื้นที่ข้างบ้านจำนวน ๑ ไร่ จากการจดบันทึกรายรับ รายจ่ายพบว่ารายได้จากการปลูกผลไม้สู้รายได้จากการปลูกพืชผักไม่ได้ จึงโค่นเงาะหันมาปลูกแตงกวาแทน ซึ่งพบว่ามีรายได้ และกำไรต่อปีมากกว่าผลไม้มาก โดยมีกำไรสุทธิจากการปลูกแตงกวานับแสนบาทต่อปีต่อไร่

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ หลังจากลูกแต่งงานแยกครอบครัว ได้หันมาปลูกพืชผสมผสานในพื้นที่ ๒ ไร่เศษ ที่เน้นเพื่อการบริโภคและใช้ในครัวเรือน และค่อยๆขยายกิจกรรมการผลิตขึ้น โดยเพิ่มชนิดพืชที่ปลูก กิจกรรมการเลี้ยงปลา การเลี้ยงหมู ฯลฯ ต่อมาได้รับการอบรมเกี่ยวกับการทำปุ๋ยอินทรีย์ จัดโดย ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอควนกาหลงในปี ๒๕๕๐ และได้นำความรู้มาใช้ถ่ายทอดให้เพื่อนบ้าน จนในปี ๒๕๕๒ สามารถจัดตั้งกลุ่มเป็นผลได้สำเร็จ โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่ม๓๐ เกษตรอินทรีย์ชีวภาพ” และต่อมาได้มีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ชื่อ “กลุ่มส่งเสริมการเกษตรบ้านผัง๑๑๙-๑๒๐”

รางวัลที่ได้รับ

พ.ศ.๒๕๕๕ รางวัลที่ ๑ “เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพไร่นาสวนผสม”

รางวัลที่ ๒ รางวัลคนดีศรีสตูล

พ.ศ.๒๕๕๖ รางวัลชมเชยโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนายั่งยืนประเภทราษฎร จากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

พ.ศ.๒๕๕๗ ประกาศนียบัตรและเข็มที่ระลึกผู้ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นในรอบปีของจังหวัด. . ชายแดนภาคใต้ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

รางวัลชมเชยจากการประกวดโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเภทราษฎร จากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

พ.ศ.๒๕๕๘ รางวัลชนะเลิศลำดับที่ ๑ จากการประกวดโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเภทราษฎร จากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

รางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ ๑ จากการประกวดโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเภทราษฎรนำไปใช้และขยายผลดีเด่นระดับชาติ จากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

พ.ศ.๒๕๕๙ รองรางวัลชนะเลิศที่ ๓ รางวัล Best of the year ๒๐๑๖ ของกองบัญชาการกองทัพไทย

รางวัลเกษตรกรดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๙ ของสำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล

รางวัลโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระดับภาค ภาคใต้ ประเภทที่๔ ประเภทราษฎรที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัยและใช้ได้ผลดีเด่น

นางประเทือง แดงแย้ม

มีความสามารถด้านสาขาบัญชีฟาร์ม

ที่อยู่ ๓๑/๑ ม.7 ตำบลอุใดเจริญ อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เบอร์โทรศัพท์ ๐๙๓ – ๗๑๖๕๑๗๗

ประวัติ นางประเทือง แดงแย้ม เกิดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๐๗ สมรสกับนายสุธี แดงแย้ม มีบคน เป็นชาย ๑ คน หญิง ๒ คน จบการศึกษาสูงสุดระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จาก กศน.อำเภอควนกาหลง อาชีพ การทำสวนยางพารา

ความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรค

ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๖ จัดทำบัญชีรับ-จ่าย ในครัวเรือน เป็นครั้งแรกอาจมีผิดบ้างถูกบ้าง แต่ก็ไม่ได้ละความพยายามที่จะทำต่อไป จากการสั่งสมประสบการณ์มาเป็นเวลานาน และได้รับการสอนและแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สตูลอย่างต่อเนื่อง จึงได้เริ่มทำบัญชีอย่างจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๔ ได้จัดทำบัญชีรับ-จ่าย ในครัวเรือนและต้นทุนการประกอบอาชีพ ซึ่งพบว่าการจัดทำบัญชีเป็นเรื่องที่ไม่ยากเลย ยิ่งทำบัญชีทำให้เจอความจริงเกี่ยวกับการจ่ายเงิน สามารถนำไปวางแผนการใช้เงินในชีวิตประจำวันให้เพียงพอเกิดการประหยัดและอดออม

ผลงานและความสำเร็จของผลงานด้านบัญชีฟาร์ม

เป็นวิทยากรสอนและแนะนำการจัดทำบัญชีรับ จ่าย ในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนการประกอบอาชีพ ให้เกษตรกรผู้สนใจ เยาวชน เพื่อนบ้านในชุมชน กลุ่มออมทรัพย์กองทุนหมู่บ้าน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี (ครูบัญชีอาสา) ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๓ ถึงปัจจุบัน

ความเป็นผู้นำและเสียสละเพื่อส่วนรวม

- เป็นครูบัญชีอาสา สอนการจัดทำบัญชีในโครงการเสริมสร้างภูมิปัญญาทางบัญชีแก่เกษตรกร

- เป็นผู้นำในการทำบัญชีและส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนรู้จักทำบัญชีรับ-จ่ายและบัญชีต้นทุนการประกอบอาชีพ

- อาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่นระดับ หมู่บ้าน /รพ.สต./ ตำบล/ อำเภอ

- อาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่นระดับจังหวัด สาขาการบริการใน ศสมช.

- ช่วยเหลือประสานงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตรวจสุขภาพประจำปีของประชาชนในหมู่บ้าน คนชรา และบุคคลทั่วไป

- เป็นเครือข่ายสภาผู้นำ นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูล

- อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน ศูนย์อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน

- สตรีดีเด่น เนื่องในวันสตรีสากล

ฯลฯ