วัฒนธรรมประเพณี

บุญบั้งไฟรวมใจชาวหินดาต

ตำบลหินดาต อำเภอปางศิลาทองได้มีพี่น้องชาวไทยอีสานมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในหลายหมู่บ้าน จึงได้มีการจัดประเพณีบุญบั้งไฟขึ้น และในเมื่อมีขบวนแห่บั้งไฟแล้ว ก็จัดให้มีการแข่งขันบั้งไฟ จุดบั้งไฟ ท่ามกลางพี่น้องชาวไทยอีสานมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ณ ที่จัดงานของในปีนั้น ๆ ขบวนบั้งไฟที่ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านได้ร่วมจิตพร้อมใจกันประดับตบแต่ง กันตามศิลปวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของท้องถิ่นอย่างสวยงาม นอกจากนี้เสียงปีเสียงแคนเซิ้งรำกันไปตามถนนเข้าสู่ลานพิธีเปิดกันอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนระอุ ซึ่งทุกคนก็ไม่ท้อถอยต่างทำหน้าที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย สามัคคีพร้อมเพรียง กันไปจนถึงจุดหมาย


ประวัติความเป็นมาของบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีหนึ่งของภาคอีสานของไทย โดยมีตำนานมาจากนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องพระยาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่ ซึ่งในนิทานพื้นบ้านดังกล่าวได้กล่าวถึง การที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชา พระยาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่ง ชาวบ้านมีความเชื่อว่า พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านใดไม่จัดทำการจัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้านได้ ช่วงเวลาของประเพณีบุญบั้งไฟคือเดือนหกหรือพฤษภาคมของทุกปีชาวบ้านเชื่อว่า หากทำให้พระยาแถน โปรดปราน มนุษย์ก็จะมีความสุข


ดังนั้นจึงมีพิธีบูชาพระยาแถน คือการจุดบั้งไฟก็อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แสดงความเคารพหรือส่งสัญญาณความภักดีไปยังพระยาแถน ชาวอีสานจำนวนมากเชื่อว่าการจุดบั้งไฟเป็นการขอฝนจากพญาแถน ให้พญาแถนบันดาลฝนลงมาตกยังโลกมนุษย์ นิยมจัดใน เดือนหก ของทุกปี โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ ในการขอฝน ชาวบ้านในภาคอีสาน ถือว่าบุญบั้งไฟ เป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญมาก เพราะเชื่อว่าหากหมู่บ้านใด ไม่จัดงานบั้งไฟ ก็อาจเกิดภัยพิบัติ โรคภัย ไข้เจ็บ ทุพภิกขภัย แก่ชุมชนได้