ตานก๋วยสลาก

งานประเพณีตานก๋วยสลาก

           “ตานก๋วยสลาก”  ของภาคเหนือก็คือ  “ทำบุญสลากภัต”ของภาคกลางนั่นเองครับ  คำว่า  “ตาน”  ก็คือ  “การทำบุญ”  ส่วนคำว่า  “ก๋วย”  ก็คือ  “ตะกร้า”  ซึ่งใช้บรรจุสิ่งของต่าง ๆ ที่จะถวายพระ  โดยสรุปแล้ว  “ตานก๋วยสลาก”  ก็คือ  “การทำบุญถวายพระด้วยการใช้ตะกร้าบรรจุสิ่งของ  และใช้ใบสลากเป็นสื่อ”  ซึ่งจะจัดเป็นประจำทุก ๆ ปี  ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ  เดือน 12  (ภาคเหนือ) ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ  เดือน 10  (ภาคกลาง)

 สำหรับสิ่งของต่าง ๆ ที่นำไปถวายพระนั้น  จะถูกบรรจุลงใน  “ก๋วย”  ซึ่งจะมีทั้งข้าวสาร  อาหารแห้ง  พริก  หอม  กระเทียม  เกลือ  หมาก  เมี่ยง  บุหรี่  ไม้ขีดไฟ  เครื่องกินเครื่องใช้ต่าง ๆ  เรียกว่าสารพัดที่จะบรรจุลงไปให้มากที่สุดที่จะมากได้   และสิ่งสุดท้ายที่จะขาดไม่ได้ก็คือ  “ยอด”  หรือ  “ธนบัตร”  ซึ่งจะใช้ไม้หนีบแล้วปักลงบน  “ก๋วย”  สุดแท้แต่  “ศรัทธา”  ไม่จำกัดจำนวน  แต่ส่วนมากจะเป็น  “ใบบาท”  หรือ  “ใบห้า”  หรือ  “ใบสิบ”  หรือไม่ก็เป็น  “ใบยี่สิบ”  มากกว่า  ส่วน  “ใบร้อย”  ก็มีเหมือนกันแต่ไม่มากนัก  แต่ถ้าเป็นปัจจุบันคงจะมี  “ใบห้าสิบ”  หรือ  “ใบห้าร้อย”  หรือไม่ก็  “ใบพัน”  เพิ่มขึ้นมาอีกก็เป็นได้  ซึ่งถ้าพระรูปไหนได้รับ  “เส้นสลาก”  หรือ  “ใบสลาก”  ที่มี “ยอด”  สูง ๆ เช่นนี้   ก็จะถือว่าได้โชคสองชั้นหรือได้บุญสองชั้นกันทีเดียวครับ

          หลังจากที่ชาวบ้านได้นำเอาของถวายพระหรือ  “ก๋วยสลาก”  ดังกล่าวข้างต้นไปถึงวัดที่มีการนัดหมายกันเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว  (สำหรับที่จังหวัดลำพูนจะจัดงาน  “ตานก๋วยสลาก”  กันที่บริเวณวัดพระธาตุ “หริภุญชัย”  หรือ  “วัดหลวง”  ซึ่งเป็นคำเรียกชื่อวัดที่ติดปากของชาวลำพูนทุก ๆ คน)เจ้าของ  “ก๋วยสลาก”  จะต้องนำเอา  “เส้นสลาก”  หรือ  “ใบสลาก”  ที่ได้จัดทำขึ้น  ซึ่งอาจจะทำด้วยกระดาษหรือใบลานก็ได้  แล้วเขียนหรือจารึกชื่อของเจ้าของ  “ก๋วยสลาก”  ลงไป   พร้อมกับระบุลงไปว่าจะอุทิศส่วนกุศลไปให้ใคร  ญาติพี่น้องคนไหน  (ที่ล่วงลับไปแล้ว)  และไม่ลืมระบุลงไปว่า  “ก๋วยสลาก”  ของ  “เส้นสลาก”  หรือ  “ใบสลาก”  ใบนี้  เจ้าของนั่งอยู่ที่ไหนบริเวณใดของวัดด้วย  เพื่อความสะดวกของพระรูปที่ได้รับ “เส้นสลาก”  หรือ  “ใบสลาก”  ใบนั้นจะได้ไปรับถวายทานได้ถูกต้อง  เมื่อเสร็จแล้วจึงนำเอา  “เส้นสลาก”  หรือ  “ใบสลาก”  ดังกล่าวข้างต้น  ไปมอบให้กับ  “คณะกรรมการ”  ของทางวัดซึ่งเป็นฆราวาสทั้งหมดและจะนั่งคอยต้อนรับอยู่ในพระวิหารหลวง

           เมื่อถึงเวลาพอสมควรหลังจากที่ได้รับ  “เส้นสลาก”  หรือ  “ใบสลาก”  จากเจ้าของ  “ก๋วยสลาก”  ที่มาร่วมงานบุญด้วยกันทุก ๆ คนจนครบถ้วนแล้ว  “คณะกรรมการ”  ก็จะคลุกเคล้า  “เส้นสลาก”  หรือ  “ใบสลาก”  ที่กองพะเนินเทินทึกเหล่านั้นให้เข้ากัน แล้วนับแยกเพื่อเตรียมถวายแก่พระภิกษุสามเณรที่มาร่วมรับถวายทานในงาน  “ตานก๋วยสลาก”  ไปตามสัดส่วนโดยถ้วนทั่วกันทุกรูปทุกนาม

           พระภิกษุสามเณรเมื่อได้รับถวาย  “เส้นสลาก”  หรือ  “ใบสลาก”  ท่านก็จะอ่านข้อความที่ระบุไว้แล้วนำ  “เส้นสลาก”  หรือ  “ใบสลาก”  ใบนั้นไปรับถวายทาน  “ก๋วยสลาก”  จากเจ้าของ  พร้อมกับให้ศีลให้พรตามประเพณีด้วย

           “งานประเพณีตานก๋วยสลาก”  เป็นงานบุญงานกุศลที่สนุกสนานมากทีเดียว  โดยเฉพาะเมื่อตอนพระภิกษุสามเณรกำลังตามหา  “ก๋วย”  ตามที่ระบุใน  “เส้นสลาก”  หรือ  “ใบสลาก”  ที่ได้รับถวายมาว่าเป็นของใครและนั่งอยู่ที่ไหนบริเวณใดของวัด

 ท่ามกลางเสียงอึกทึกอึงอลของฝูงชนที่จอแจจนแทบไม่รู้ว่าใครเป็นใครที่กำลังเดินเบียดกันไปมา จะได้ยินเสียงร้องตะโกนถาม-ตอบกันเสียงดังโหวกเหวกโวยวาย รู้สึกหนวกหูจนเกือบฟังไม่ได้ศัพท์  ซึ่งจะชุลมุนวุ่นวายกันพอสมควรทีเดียว  แต่ทุก ๆ คนที่มาร่วมงานบุญ  “ตานก๋วยสลาก”  ก็อิ่มเอิบใจ  พอใจ  และสุขใจ  ที่ได้นำ  “ก๋วยสลาก”  ของตนมาร่วมถวายทาน  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทุก ๆ คน  “ทำบุญ”  ด้วยความเต็มอกเต็มใจนั่นเอง

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ : เทศบาลตำบลทาสบเส้า  , https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/800003

เนื้อหา : เทศบาลตำบลทาสบเส้า  , https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/800003

เรียบเรียงข้อมูล : นายยุทธชัย แสงบุญเรือง ครู กศน.ตำบลทาสบเส้า

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด : 22 สิงหาคม 2566

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ lpn.amt_nfedc@nfe.go.th หรือโทร 053-976-291