ข้าวซ้อมมือ

"ความเป็นมา" กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวซ้อมมือทาแม่ลอบ เริ่มจากการรวมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร โดยการส่งเสริมของสำนักงานเกษตรอำเภอแม่ทา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 โดยการนำภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมของชุมชนมาพัฒนาต่อยอดในการทำข้าวซ้อมมือ เพื่อผลิตและจำหน่ายในชุมชน โดยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในชุมชนมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ มีการแบ่งเวรสมาชิกกลุ่ม มาทำการผลผลิตร่วมกัน เกิดกิจกรรมร่วมกัน ในการสร้างอาชีพ และรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชน

"ข้าวซ้อมมือ" คือ ข้าวที่ผ่านการกะเทาะเอาเปลือกออกด้วยครกกระเดื่องแบบโบราณ (ครกมอง) หรือสากไม้ตำในครก แล้วใช้กระด้งในการร่อนแกลบออก ซึ่งปัจจุบันมีเพียงชาวชนบทที่ตำข้าวเพื่อรับประทานกันในครอบครัว มีประโยชน์ต่อร่างกายมา เมล็ดข้าวมีสีน้ำตาล อุดมด้วยเส้นใยอาหารและคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าข้าวขาว ซึ่งในสมัยก่อน ชาวบ้านนิยมตำรับประทานกันเอง จึงเรียกกันว่า "ข้าวซ้อมมือ" นั่นเอง

"กระบวนการผลิตข้าวปลอดภัย" กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวซ้อมมือทาแม่ลอบ ได้มุ่งเน้นการผลิตข้าวของสมาชิกให้ได้คุณภาพมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การเตรียมดิน การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว และการแปรรูป ภายใต้มาตรฐานการผลิตข้าว GAP

"การผลิตข้าวตามมาตรฐาน GAP" คือ การปฏิบัติเพื่อป้องกัน หรือ ลดความเสี่ยงของอันตรายที่เกิดขึ้นระหว่างการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเหมาะสมต่อการบริโภค โดยคำนึงถึง 4 ประเด็นหลัก

- คุณภาพผลิตผล

- ความปลอดภัย "อาหาร"

- สุขภาพ ความปลอดภัย และสวัสดิภาพ ผู้ปฏิบัติงาน

- สิ่งแวดล้อม

โดยมีเกณฑ์กำหนดเพื่อควบคุมการผลิต ดังนี้

1. แหล่งน้ำ

น้ำที่ใช้ปลูกต้องได้จากแหล่งที่ไม่มีสภาพแวดล้อม ซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนวัตถุอันตราย

2. พื้นที่ปลูก

ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีวัตถุอันตรายที่จะทำให้เกิดการตกค้างหรือปนเปื้อนในข้าว

3. การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร

ให้ใช้ตามคำแนะนำในฉลากที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ห้ามใช้วัตถุอันตรายที่ระบุในทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ห้ามใช้

4. การจัดการคุณภาพในกระบวนการผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว

ข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวและนวดแล้ว มีข้าวพันธุ์อื่นปนได้ไม่เกิน 5% และมีข้าวเมล็ดแดงปนได้ไม่เกิน 2% การเลือกเมล็กพันธุ์ที่มีคุณภาพตรงตามพันธุ์ และมาจากแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่เชื่อถือได้ มีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชและข้าววัชพืชอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีการที่เหมาะสมตามคำแนะนำ

5. การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

อุปกรณ์ เครื่องมือ และภาชนะบรรจุที่ใช้ รวมถึงวิธีการเก็บเกี่ยว ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพของผลิตผล และไม่ทำให้เกิดการปนของข้าวพันธุ์อื่น

6. การขนย้าย การเก็บรักษา และการรวบรวมข้าวเปลือก

อุปกรณ์ ภาชนะบรรจุ และพาหนะที่ใช้ในการขนย้าย และการเก็บรักษา ต้องสะอาด สามารถป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพของข้าวเปลือก และป้องกันการปนเปื้อนจากอันตรายและสิ่งแปลกปลอมที่มีผลต่อความปลอดภัยในการบริโภค รวมทั้งไม่ทำให้เกิดการปนของข้าวพันธุ์อื่น

7. การบันทึกข้อมูล

ต้องมีการบันทึกข้อมูลเพื่อให้สามารถตราจประเมิน และตามสอบได้

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม / ราคา

- ข้าวเหนียวดำซ้อมมือ ถุงละ 1 กก. ราคา 60 บาท

- ข้าวกล้องหอมนิลเจ้า ถุงละ 1 กก. ราคา 65 บาท

- ข้าวกล้องหอมมะลิ 105 ถุงละ 1 กก. ราคา 60 บาท


ผู้เรียบเรียงและรวบรวมข้อมูล : นายนรินทร์ ศิลปเสริฐ ครู กศน.ตำบลทาแม่ลอบ