การทำผางประทีป

ผางประทีป ผางประทีส หรือผางผะตีด เป็นภาชนะดินเผาขนาดเล็ก คล้ายอ่าง ปากกว้างประมาณ 2-3 นิ้ว ใช้สำหรับใส่น้ำมันหรือขี้ผึ้งสำหรับจุดไฟหรือจุดประทีปของทางภาคเหนือ มีลักษณะคล้ายกับตะเกียงหรือตะคัน ใช้จุดวางประดับไว้ตามวัดวาอารามหรือศาสนสถานในวันสำคัญทางศาสนาหรือเทศกาลสำคัญ

วิธีการทำผางประทีป จะเริ่มทำ กันในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม โดยเริ่มจากการนำดินเหนียวที่มีการหมักเรียบร้อยมาปั้นขึ้นรูปเป็นตัวผางประทีป จากนั้นจึงผึ่งลมทิ้งไว้ให้พอหมาดแล้วจึงนำไปเผา การเผานั้นจะใช้ฟางข้าวเป็นเชื้อเพลิงตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้าน จะมีการทำสะสมเก็บไว้จนใกล้ถึงช่วงประเพณียี่เป็งหรือลอยกระทง ก็จะใส่ไส้เทียนแล้วหล่อขี้ผึ้งลงไป แล้วผึ่งในที่ร่มให้แห้งก่อนที่จะนำไปใช้หรือนำไปจำหน่าย ในส่วนของไส้เทียนนั้น ใช้ฝ้ายสีขาวชุบกับขี้ผึ้งเหลวผสมน้ำมันมะพร้าว จากนั้นผึ่งฝ้ายที่แช่เรียบร้อยจนแห้ง แต่ห้ามตากแดดเพราะจะทำให้ขี้ผึ้งละลาย แล้วจึงฟั่นฝ้ายให้เป็นสามแฉกแบบตีนกาให้ขนาดพอดีกับผางประทีป ใส่ไส้ตีนกาวางลงตรงกลางถ้วยโดยให้ฝ้ายสามแฉกเป็นฐาน ส่วนแกนฝ้ายตั้งขึ้น จากนั้นต้มขี้ผึ้งในหม้อต้มน้ำ หรือในปีบขนาดใหญ่หรือกระทะหากทำเป็นจำนวนมากจนเหลวเป็นน้ำเทียน แล้วจึงหยอดเทียนเหลวลงในผางประทีป

ผางประทีปเป็นเครื่องสักการะบูชาในพระพุทธศาสนา ในช่วงประเพณียี่เป็ง ชาวล้านนานิยมจุดผางประทีปเป็นพุทธบูชาสืบเนื่องจากตำนานพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) พระศรีอริยะเมตไตร พระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ได้ถือกำเนิดจากแม่กาเผือก วันหนึ่งขณะที่แม่กาออกไปหาอาหารได้เกิดพายุทำให้ไข่ทั้งห้าฟองของแม่กาเผือกถูกพัดตกจากรังไหลไปตามแม่น้ำ โดยมีแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์เก็บไปเลี้ยง เมื่อไข่ทั้งห้าฟองฟักออกมาเป็นมนุษย์เป็นเพศชาย จากนั้นทั้งห้าได้บวชเป็นฤๅษี เมื่อฤๅษีทั้งห้าได้พบกันจึงไต่ถามถึงมารดาของแต่ละองค์ แต่ละองค์ก็ตอบว่า แม่ไก่เก็บมาเลี้ยง แม่นาคเก็บมาเลี้ยง แม่เต่าเก็บมาเลี้ยง แม่โคเก็บมาเลี้ยง และแม่ราชสีห์เก็บมาเลี้ยง ฤๅษีทั้งห้าองค์จึงสงสัยว่า แม่ที่แท้จริงของตนเป็นใคร จึงพากันอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ ด้วยแรงอธิษฐานจึงทำให้พกาพรหมผู้เป็นแม่แปลงกายเป็นกาเผือกบินลงมาเล่าเรื่องในอดีตให้ฤๅษีทั้งห้าฟัง และบอกว่าหากคิดถึงแม่ ให้นำด้ายดิบมาฟั่นเป็นตีนกาจุดเป็นประทีปบูชาในวันยี่เป็ง ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายประทีปตีนกา จึงทำให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์

นอกจากนี้ผางประทีบยังใช้จุดบูชาเพื่อตอบแทนผู้มีพระคุณ เพื่อสักการะต่อสิ่งต่างๆ ที่ได้ใช้ประโยชน์เช่น ประตูบ้าน บ่อน้ำ ยุ้งข้าว เตาไฟ บันได้ ฯลฯ และยังเป็นการบูชาแสงสว่างโดยเชื่อว่าจะทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีแสงสว่างนำทางชีวิตให้โชติช่วงชัชวาลอีกด้วย

กลุ่มผู้สูงอายุ บ้านปงแม่ลอบ ต.ทาแม่ลอบ อ.แม่ทา จ.ลำพูน ได้มีการฝึกทำและจัดจำหน่ายผางประทีป เป็นประจำทุกปีเพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลต่างๆ สนใจต่อได้ที่ : คุณศรีพรรณ ยะดอย รองประธานกลุ่มผู้สูงอายุ โทรศัพท์ : 065-4923766

อ้างอิง https://www.sac.or.th/databases/traditional-objects/th/equipment-detail.php?ob_id=213

ผู้เรียบเรียงและรวบรวมข้อมูล : นายนรินทร์ ศิลปเสริฐ ครู กศน.ตำบลทาแม่ลอบ