การทำตุงล้านนา

ตุงล้านนา ซึ่งคำว่า ตุง เป็นภาษาถิ่นประจำภาคเหนือ แปลว่าธงที่ใช้สำหรับแขวนแบบหนึ่งในศิลปะล้านนา สามารถพบเห็นได้ในภาคเหนือของประเทศไทย โดยคนทางภาคเหนือ จะนำตุงมาใช้เป็นเครื่องประดับ หรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทั้งทางศาสนา ประเพณี งานเทศกาล หรืองานเฉลิมฉลองต่างๆ วัตถุที่นำมาทำตุงในล้านนามีหลากหลายรูปแบบ ลักษณะที่แผ่นวัตถุทำจากผ้า กระดาษ ไม้ โลหะ ทองเหลือง หรือใบลาน โดยนำไม้ส่วนปลายแขวนห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา ตามคติความเชื่อของคนล้านนาเกี่ยวกับตุงที่ทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ใช้ในงานพิธีทางศาสนา ทั้งในงานมงคลและอวมงคล โดยมีขนาดรูปทรงและรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง ตามความเชื่อพิธีกรรม ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น อย่างไรก็ดีคนล้านนามีความเชื่อว่า การถวายหรือทานตุงนั้นจะได้รับผลบุญและอานิสงค์ เพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขเป็นอย่างมาก หรือบางตำรามีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า เมื่อตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์หรือเมื่อตกนรกชายตุงจะแกว่งฉุดวิญญาณขึ้นมาจากนรกให้ขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ 

 กล่าวโดยสรุปชาวล้านนาหรือคนภาคเหนือส่วนส่วนใหญ่นิยมนำตุงใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทั้งทางศาสนา ประเพณี งานเทศกาล หรือเฉลิมฉลองต่างๆ และยังมีตุงที่ไม่ได้กล่าวถึง เช่น ตุงผ้า หรือตุงทอ และตุงช่อ หรือตุงจ้อ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีแนวโน้มการใช้ตุงที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากมักนิยมใช้ตุงประดับตามสถานที่จัดงานเพื่อความสวยงาม โดยไม่ได้รู้ถึงความหมาย และวัตถุประสงค์ของการนำตุงมาใช้อย่างแท้จริง สาเหตุหลักที่สำคัญอีกประการก็คือเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวล้านนา จากเดิมในอดีตบรรพบุรุษของชาวล้านนาได้ประดิษฐ์ตุงล้านนา เพื่อไว้ใช้ในงานหรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง จึงเป็นการแสดงออกถึงการอนุรักษ์ศิลปะ ภูมิปัญญาของชาวล้านนาตามคติความเชื่อเกี่ยวกับการนำตุงมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ทั้งนี้ผู้เขียนจึงอยากเห็นถึงการอนุรักษ์ รูปแบบคติความเชื่อ วัฒนธรรมเกี่ยวกับนำตุงล้านามาใช้เพื่อสืบทอดต่อรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคตให้เท่าทันกับยุคสมัยใหม่ สมกับคำว่า "ตุงล้านนากับวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวล้านนาไทย” 

กลุ่มผู้สูงอายุ บ้านปงแม่ลอบ ต.ทาแม่ลอบ อ.แม่ทา จ.ลำพูน ได้มีการฝึกทำและจัดจำหน่ายผางประทีป เป็นประจำทุกปีเพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลต่างๆ สนใจต่อได้ที่ : คุณศรีพรรณ ยะดอย รองประธานกลุ่มผู้สูงอายุ โทรศัพท์ : 065-4923766

อ้างอิง https://www.finearts.go.th/chiangmailibrary/view/26813-%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89---%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B2

ผู้เรียบเรียงและรวบรวมข้อมูล : นายนรินทร์ ศิลปเสริฐ ครู กศน.ตำบลทาแม่ลอบ