ประเพณีแห่กระจาดวันสารทเดือนสิบ

ประเพณีทำบุญวันสารทเดือนสิบ ถือเป็นงานบุญประเพณีที่สำคัญในภาคใต้ของไทยไม่ว่าลูกหลานหรือญาติพี่น้องของคนในครอบครัวจะไปทำงานอยู่แห่งหนตำบลใดของประเทศไทย มักจะต้องลางานหรือหยุดงานเดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อมากราบไหว้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และผู้ที่เคารพนับถือเพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณรวมทั้งจะได้ทำบุญให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และอยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาของคนในครอบครัว และมีการพบปะสังสรรค์ฉลองกันด้วย นับว่าเป็นช่วงที่ครอบครัวมีความอบอุ่นที่สุด ช่วงเวลาในการทำบุญ เรียกว่า "บุญหลังหรือบุญใหญ่” ตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ มีการสืบทอดกันมายาวนานหลายร้อยปี ซึ่งได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อที่มาจากศาสนาพราหมณ์โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ที่เข้ามาในภายหลัง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติ ที่ล่วงลับ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกเนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากนรกในทุกวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๐ เพื่อมายังโลกมนุษย์ในการมาขอรับส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง ที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หรือที่เรียกกันว่า "วันรับตายาย” หรือเป็นวันบุญแรก หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรก ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐"วันส่งตายาย”หรือเป็นวันบุญหลังหรือบุญใหญ่ ซึ่งวันนี้มีแห่กระจาดที่มีการบรรจุขนมเดือนสิบ อาหารแห้ง ของใช้ ผลไม้ และอื่น ๆ พร้อมภัตตาหาร(ปิ่นโต)ไปวัด เมื่อกระจาดถึงวัดแล้ว ก็จะร่วมกันประกอบพิธีทางด้านศาสนา ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ เสร็จแล้วจะร่วมกัน "ตั้งเปรต” เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยอาหารที่จะตั้งเปรตนั้นจะเป็นขนมเดือนสิบทั้ง ๕ หรือ ๖ อย่าง รวมถึงอาหารอื่น ๆ และผลไม้ที่บรรพชนชอบ ตั้งเปรตเสร็จแล้ว พระสงฆ์จะสวดบังสุกุล โดยจับสายสิญจน์ที่ผูกไว้กับหลาเปรต เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้น ผู้คนจะร่วมกัน "ชิงเปรต” ทั้งนี้นอกจากเพื่อความสนุกสนานแล้วยังมีความเชื่อว่า หากใครได้กินอาหารบนหลาเปรตจะได้รับกุศลแรง เป็นมงคลแก่ตนเองและครอบครัว หลังเสร็จสิ้นการชิงเปรตแล้วส่วนหนึ่งก็จะรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกันที่วัด หรือต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้านด้วยใจที่อิ่มบุญ ในช่วงเทศกาลประเพณีบุญสารทเดือนสิบนี้เอง อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ได้จัดงานประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี โดยกำหนดจัดงานก่อนวันทำบุญหลัง 2-3 วัน (๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐) จำนวน ๒ วัน ๒ คืน ณ สนามกีฬากลางหน้าที่ว่าการอำเภอกะปง และ บริเวณศาลาเอนกประสงค์เทศบาลตำบลท่านา เพื่อส่งเสริมและสืบสานเอกลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น ให้คงอยู่สืบไป เพื่อ เสริมสร้างความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนและความรักสามัคคีในหมู่คณะ สำหรับกิจกรรมในงาน ประกอบด้วย พิธีบวงสรวงพระนารายณ์พิธีสมโภชกระจาด การประกวดตกแต่งกระจาดและขบวนแห่ การประกวดธิดาวันสารท การประกวดร้องเพลงไทยลูกทุ่งและหนูน้อยแดนเซอร์การประกวดทำขนมเดือนสิบภาคนักเรียน และประชาชน การประกวดทำขนมกาละแม การแข่งขันชกมวยไทยการจัดนิทรรศการและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้านการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมของนักเรียนและกลุ่มแม่บ้าน เป็นต้น อัตลักษณ์ที่โดดเด่น กิจกรรมที่ถือเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นของประเพณีวันสารทเดือนสิบของอำเภอกะปง คือกิจกรรมการแห่กระจาด ถึงถือเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากวันสารทเดือนสิบของจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ ชาวบ้านทุกหมู่บ้านในอำเภอกะปงนำโดยผู้นำท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกตำบล รวมกันจัดทำกระจาด ประดับประดา ตกแต่งอย่างสวยงาม หลังจากเสร็จภารกิจในการทำงานของแต่ละครอบครัวในแต่ละวันแล้วชาวบ้านก็จะมารวมตัวกันที่ศาลาอนกประสงค์ของหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านเพื่อร่วมกันจัดทำกระจาด บ้างก็จัดทำกระจาด บ้างก็จัดทำอาหาร บ้างก็ร้องรำทำเพลง กันอย่างสนุกสนาน ซึ่งแสดงออกให้เห็นถึงความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชนนอกจากจะมีการประกวดการตกแต่งกระจาดแล้ว ยังมีการประกวดขบวนแห่ด้วย ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจ ประเพณีสารทเดือนสิบมีสาระสำคัญและคุณค่าทางสังคม จิตใจ และวิถีการดำเนินชีวิตของสังคม หลายประการคือ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษโดยรำลึกถึงคุณความดีของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ได้เลี้ยงดูลูกหลานและให้การศึกษาอบรมเป็นอย่างดี เพื่อตอบแทนบุญคุณดังกล่าวลูกหลานจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ เป็นการเปิดโอกาสได้รวมญาติที่อยู่ห่างไหล ได้มาพบปะซักถามสารทุกข์สุกดิบต่อกัน และได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน เป็นการสร้างความสนิทสนมกลมเกลียวในหมู่ญาติ สร้างความสบายใจที่ได้ทำบุญ เป็นการเก็บพืชผลทางการเกษตรของตนไปทำบุญถวายพระ เพราะชาวบ้านอำเภอกะปงจังหวัดพังงา มีอาชีพทางทางการเกษตร ในช่วงปลายเดือนสิบเป็นระยะที่พืชพันธุ์ต่างๆ กำลังออกผล จึงได้เก็บพืชผลไปทำบุญอันเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เป็นการเก็บเสบียงอาหาร มีทั้งพืชผัก อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูป จัดนำไปถวายในรูปสำรับ เพื่อที่ทางวัดจะได้เก็บรักษาไว้เป็นเสียงสำหรับพระภิกษุสงฆ์ในฤดูฝน ทั้งนี้เพราะในภาคใต้ฤดูฝนจะเริ่มขึ้นในปลายเดือนสิบ ซึ่งพระภิกษุสงฆ์จะบิณฑบาตด้วยความยากลำบากเป็นการจัดงานรื่นเริงสนุกสนานประจำปี งานรื่นเริงจัดขึ้นเพราะความสุขใจ ความอิ่มใจ ที่ได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ ญาติมิตรที่ล่วงลับ ซึ่งนับเป็นงานมหกรรมอันยิ่งใหญ่งานหนึ่งของอำเภอกะปง


ที่มาของข้อมูล:https://mgronline.com/south/detail/9550000125519