กลุ่มจักสานแม่บ้านปากพู่

รายละเอียด ผลงาน ความรู้ ความสามารถของภูมิปัญญา

ต้นใบร่มข้าว เป็นพืชยืนต้นที่มีเฉพาะถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อำเภอกะปง เพราะเป็นพื้นที่ป่าดิบชื้น เชิงเขา หุบเขา เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นใบร่มข้าวเป็นอย่างยิ่ง ส่วนใบร่มข้าวมีลักษณะเรียวยาว มีใบติดกันกับกิ่งเป็นวง ใบด้านหนึ่งเป็นขนนุ่ม ส่วนอีกด้านจะสากมือ ยิ่งถ้าเป็นใบแห้งจะมีความทนทานต่อความชื้น มีความยืดหยุ่นสูง จึงเหมาะแก่การนำมาทำหมวก

เมื่อก่อนนั้นสามารถหาใบร่มข้าวได้ง่ายดายตามเชิงเขาในหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันเมื่อคนมากขึ้น มีการทำหมวกใบร่มข้าวมากขึ้น พื้นที่ในการปลูกต้นใบร่มข้าวกลับลดลง เพราะมีการขยายพื้นที่เพื่อทำการเกษตรชนิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นยางพารา หรือปาล์ม ชาวบ้านปากพู่จึงต้องหาเมล็ดมาปลูกทดแทนไว้ในแปลงเพาะของชุมชน ที่มีพื้นที่ 5 ไร่ และยังมีการปลูกไว้ในครัวเรือนของชาวบ้านแทบทุกหลัง

“ต้นใบร่มข้าว ขยายพันธุ์ยาก ใช้เวลานาน จะปลูกด้วยเมล็ด ใช้เวลา 2-3 ปี ก็จะเก็บใบได้ เวลาเก็บก็จะตัดจากยอดทั้งช่อ พอตัดแล้ว มันจะงอกยอดใหม่ขึ้นมา ทำให้ต้นหนึ่งสามารถเก็บใบได้หลายครั้ง คือมีใบเยอะเต็มต้น ส่วนใบที่เหมาะจะทำหมวกจะต้องไม่แก่เกินไป เพราะจะทำให้มีรอยด่างดำ และไม่อ่อนเกินไป เพราะใบมีขนาดเล็ก”

เมื่อภูมิปัญญาไทย มาผนวกกันเข้ากับเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจีน จึงก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สามารถแสดงอัตลักษณ์ของชุมชนขึ้น หลายบ้านเริ่มทำหมวกใบร่มข้าวไว้ใช้เอง และเริ่มมีการทำขายบ้าง หมวกใบร่มข้าวจึงกลายมาเป็นอาชีพเสริม ที่สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านปากพู่ร่วมใจขึ้นมา

“ภูมิปัญญาการทำหมวกใบร่มข้าว สืบต่อกันมาเรื่อย ๆ ชาวบ้านก็ยังคงทำหมวกใบร่มข้าวไว้ใช้เอง ใส่ไปสวน หรือทำไว้ขายเล็ก ๆ น้อย ๆ เราอยากเก็บรักษาภูมิปัญญาอันนี้เอาไว้ จึงตัดสินจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านขึ้นมา ตั้งแต่พ.ศ. 2540 เพราะเราพร้อมทั้งบุคลากรและวัตถุดิบ ซึ่งเรามีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาจากที่อื่น”

นอกจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าผ่านหมวก ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำให้คนในชุมชนได้ร่วมมือกันสร้างรายได้แล้ว ขั้นตอนและวิธีการทำหมวกก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงความประณีตของชาวบ้านอีกด้วย เพราะแต่ละขั้นตอนกว่าจะได้หมวกมาสักใบนั้นไม่ใช่ง่าย ๆ เริ่มจากการเตรียมอุปกรณ์ทั้งหมด คือใบร่มข้าว ต้องลอกแกนใบด้านหลังออกเสียก่อน นำไปตากแดด แล้วนำมาเก็บไว้ในถุงดำ เพื่อยืดอายุใบร่มข้าว โดยใบที่แห้งดีจะสามารถเก็บไว้ได้นาน 2-3 ปี หรืออาจจะนานถึง 5 ปี ต่อมาจึงเตรียมเหลาไม้ไผ่ และหวาย ซึ่งก็ต้องเหลาให้ไร้เสี้ยนจริง ๆ ลูบแล้วไม่บาดมือ ขั้นตอนในการเหลานี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะชาวบ้านต้องนั่งเหลาด้วยมือทีละเส้นงานนี้จึงรีบร้อนไม่ได้ ใครอยากได้หมวกสวยๆต้องใจเย็น ๆ

วัตถุดิบ

1. ไม่ไผ่

2.หวาย

3. วานิช TOA

อุปกรณ์ ->

1. มีดคัดเตอร์

2.พู่กัน

3.เลื่อย

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. การเตรียมใบร่มข้าว

- นำใบร่มข้าวมาตากแดดจนแห้ง ใช้เวลาประมาณ 3 วัน จนใบร่มข้าวเปลี่ยนเป็นสีจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาล

- นำใบร่มข้าวที่แห้งแล้วมาลอกเยื่อใบด้านล่างออกโดยแช่น้ำประมาณ 15 นาที ก่อนลอกเยื่อใบ

2. การเตรียมขอบหมวก

- นำไม้ไผ่ ขนาดกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร หนาประมาณ 0.5เซนติเมตร นำมาขดเป็นวงแล้วมัดด้วยเส้นหวาย ให้แน่น

3. การเตรียมเส้นตอก

- นำไม่ไผ่มาผ่าเป็นซี่บางๆ ขนาด กว้าง 0.5 ประมาณ 0.5 เซนติเมตร หนาประมาณ 3 มิลลิเมตร มาเหลาเป็นเส้นแบนด้วยมีดคัดเตอร์

- นำเส้นตอกไปตากแดดให้แห้งเพื่อป้องกันเชื้อรา

4. การสานขึ้นรูป

- นำเส้นตอกมาสานขึ้นรูปโดยเริ่มจากขอบหมวกขึ้นมาเรื่อยๆด้วยลายขัด เป็นรูปหมวกทรงเปี้ยว โดย 1 ใบมีการสานขึ้นรูปหมวก 2 ชั้น เมื่อได้โครงหมวกชั้นนอกแล้ว นำใบร่มข้าวที่ผ่านการลอกเยื่อชั้นในไว้แล้วมาบุลงในหมวกตามแนวรัศมี ของหมวก หลังจากนั้น นำโครงหมวกชั้นในมาสวมทับ จะได้หมวกสาน 2 ชั้น มีใบร่มข้าวอยู่ด้านใน

- ปิดยอดหมวกด้วยใบร่มข้าวพับครึ่งแล้วนำมาหุ้มยอดหมวก แล้วสานทับด้วยเส้นหวายเพื่อยึดยอดหมวกไว้กับใบร่มข้าว

- นำหมวกใบร่มข้าวที่สานได้ไปตากแดดให้แห้งเพื่อป้องกันเชื้อรา ขึ้นตามซี่ไม้ไผ่

เมื่ออุปกรณ์ครบ จึงเริ่มสานโครงหมวกด้วยตอกไม้ไผ่ ขั้นตอนนี้ก็เช่นกัน ใช่ว่าจะทำลวก ๆ ได้ เพราะหมวก 1 ใบ จะใช้โครงไม้ไผ่ 2 อันมาซ้อนกัน และทั้ง 2 อันก็จะต้องเท่ากัน หากไม่มีสมาธิอาจสานออกมาไม่เท่ากัน หรือหากสานผิด ก็ต้องรื้อ แล้วสานใหม่ทันที เสียเวลากันไปอีกเป็นวัน ๆ

หลังจากได้โครงหมวกทั้งด้านบน และด้านล่างแล้ว ก็นำใบร่มข้าวที่ตากแห้งไปแช่น้ำ ให้ใบกลับมาอ่อนนุ่มเหมือนเดิม แล้วนำมาเรียงลงไปด้านในของหมวก ซึ่งหมวกใบขนาดมาตรฐานจะใช้ใบร่มข้าวจำนวน 35 ใบ แล้วนำโครงหมวกอีกอันมาซ้อนทับและร้อยด้วยหวาย จากนั้นตกแต่งยอดหมวกและรายละเอียดอื่น ๆ ก็จะได้หมวกใบร่มข้าวไว้สวมใส่ หรือจะเอาไปทำโคมไฟ หรือของตกแต่งบ้านเก๋ ๆ ก็ได้ แต่นี่เป็นเพียงวิธีการทำแบบคร่าว ๆ หยาบ ๆ นะคะ เพราะของจริง กว่าชาวบ้านจะทำได้แต่ละใบ เห็นแล้วเมื่อยหลัง ปวดตาแทนมาก เพราะแต่ละชิ้นส่วนผ่านกระบวนการทำด้วยมือที่พิถีพิถันเป็นอย่างมาก สมกับที่เป็นสินค้าแฮนด์เมด ขึ้นชื่อ หนึ่งเดียวของ กะปง

“หมวกร่มข้าวเป็นความภาคภูมิใจของคนบ้าน ปากพู่ เป็นสินค้าที่เป็นของคนในชุมชนจริง ๆ จากใบไม้ที่ไม่มีคุณค่าอะไรเลย โตอยู่ในป่า แต่บรรพบุรุษเราได้ทำให้กลายเป็นของมีค่า สร้างคุณค่า จากภูมิปัญญา จนกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อ เราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์วิถีชีวิตอันนี้เอาไว้ และจะสืบทอดให้กับลูกหลานได้ภาคภูมิใจต่อไป”

กลุ่มจักสานแม่บ้านปากพู่

59/3 ม.3 ต.ท่านา อ.กะปง จ.พังงา 82170

โทร. 08 7281 2474, 08 1272 5325


นางบุญสม มีเกิด

ประธานกลุ่มจักสานบ้านปากพู่

ที่มาของข้อมูล :https://www.google.com/search