เพลง หมายถึง ถ้อยคำที่นักประพันธ์เรียงร้อยหรือเรียบเรียงขึ้น ซึ่งประกอบด้วย เนื้อร้อง ทำนอง จังหวะทำให้เกิดความไพเราะสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้ฟัง มีคุณค่าด้านวรรณศิลป์ทั้งด้านการ

เลือกสรรคำที่ใช้ในการแต่ง การเรียบเรียงประโยค และการใช้โวหาร เพลงนั้นอาจให้ข้อคิดแก่ผู้ฟังในการดำเนินชีวิตด้วยสำเนียงขับร้อง ทำนองดนตรี กระบวนวิธีรำระบำ โดยเพลงสร้างสรรค์จากเครื่องดนตรีหรือการขับร้อง


อาจารย์บงกช อนันตะ (2564) เล่าว่า “เพลงลำปางเขลางค์ถิ่นไทยงาม” เป็นครั้งแรกที่มีการประพันธ์เพลงชื่นชมเมืองลำปางเป็นภาษาถิ่นและเขียนขึ้นและขับร้องโดยคนพื้นถิ่นลำปางอย่างแท้จริง รวมทั้งผู้ขับร้องก็มิได้เป็นศิลปินหรือนักร้องอาชีพแต่อย่างใด
ผู้แต่งคำร้องสามารถขับร้องเพลงด้วยตนเองด้วยสำเนียงคนพื้นเมืองลำปางที่เกิดช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สองได้อย่างไพเราะเหมาะสมส่วนผู้เรียบเรียงเสียงดนตรีพื้นเมืองประกอบก็เป็นชาวลำปางที่เกิด ในช่วงสมัยยุคพัฒนาบ้านเมืองรุ่นแรก มีความรู้ความเข้าใจเพลงที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีพื้นเมืองคือ สะล้อ ซอ ซึง ปี่ และ พิณเปี้ยะเป็นอย่างดี ส่วนผู้ที่คิดท่าฟ้อนประกอบเพลงแม้จะเป็นคนรุ่นใหม่เจน วาย แต่มีความรู้ด้านการฟ้อนรำ เป็นอย่างดี และเป็นชาวลำปางโดยกำเนิด เพลงลำปางเขลางค์ถิ่นไทยงามจึงเป็นเพลงของคนลำปาง 3 ยุค และเป็นผลงานของคนลำปางอย่างแท้จริง

คำร้องในเพลงที่เขียนขึ้นเป็นภาษาถิ่นลำปางโดยคนลำปางมีความหมายใกล้เคียงเนื้อร้องเพลงเดิมที่เขียนขึ้นโดยชาวจีนเมื่อร้อยปีที่ผ่านมาเป็นภาษาจีน กล่าวคือ ชื่นชมแผ่นดินถิ่นฐาน บ้านเมือง ภูมิประเทศและผู้คนในแผ่นดินสวยงามที่ได้พบเห็น คำร้องภาษาจีนชื่นชมแผ่นดินและชาวไทในแคว้นยูนนาน ส่วนคำร้องภาษาพื้นเมืองลำปางชื่นชมชาวไทยเหนือและแผ่นดินเมืองลำปางเพลงที่พัฒนาขึ้นมาใหม่จึงมีความอ่อนหวานด้วยเสียงเครื่องดนตรีพื้นเมืองคือ สะล้อ ซอ ซึง และพิณเปี้ยะ มีความไพเราะทัดเทียมกันกับเพลงต้นฉบับที่บรรเลงด้วยขลุ่ยน้ำเต้า

ได้มีการค้นพบว่า เพลงลำปางเขลางค์ถิ่นไทยงามที่ขับร้องเป็นภาษาไทยพื้นถิ่นเหนือและใช้ทำนองเพลงเดิมที่ผู้แต่งทำนองได้ประพันธ์ไว้นับเป็นเวลาร้อยปีเศษนั้น นอกจากยังมีการขับร้องเพลงเป็นภาษาจีนแล้ว ยังได้มีการขับร้องเพลงนี้เป็นภาษาไทมาว ซึ่งเป็นชาติพันธ์หนึ่งของชาวไทพื้นถิ่นในยูนนาน มีความหมายของเนื้อเพลงตรงตามภาษาจีนที่นายทหารจีนเคยประพันธ์ไว้คือชมความงามของผู้คน และแผ่นดินถิ่นฐานบ้านเมืองเช่นเดียวกันกับเพลงลำปางเขลางค์ถิ่นไทยงาม ภาษาไทมาวที่ใช้ขับร้องมีความใกล้เคียงกับภาษาไทยถิ่นเหนือมาก สามารถเข้าใจกันได้หลายข้อความ เพลงลำปางเขลางค์ถิ่นไทยงามจึงนับเป็นผลงานเพลงที่สามารถใช้เป็นสื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับพี่น้องเผ่าไทชาติพันธุ์ต่างๆซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในแคว้นยูนนานและทางตอนใต้ของประเทศจีน

การเรียบเรียงเสียงดนตรีประกอบเพลงขึ้นมาใหม่โดยใช้เครื่องดนตรีท้องถิ่นไทยเหนือเช่น สะล้อ ซอ ซึง ปี่และพิณเปี้ยะ และยังคงใช้ทำนองเดิมที่ได้รับการถ่ายทอดมา แต่บรรเลงช้าลงกว่าขลุ่ยน้ำเต้าทำให้เพลงมีความเหมาะสมในการนำไปใช้ฟ้อนรำตามแบบศิลปะไทยถิ่นเหนือ มีท่วงจังหวะลงตัวในการฟ้อนเมืองทำให้ครูฟ้อนชาวลำปางได้ประดิษฐ์ท่าฟ้อนขึ้นประกอบเพลงเป็นจำนวนมากและได้เผยแพร่เพลงและท่าฟ้อนให้เป็นที่แพร่หลายจนเป็นที่รู้จัก จึงถือว่าเพลงลำปางเขลางค์ถิ่นไทยงามได้ก่อให้เกิดผลงานด้านนาฏศิลป์พื้นเมืองขึ้นในท้องถิ่นเมืองลำปางอีกทางหนึ่ง

จังหวัดลำปางนำเพลงไปประกอบการฟ้อนพิธีเปิดมิวเซียมลำปาง -สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.ลำปาง นำไปประกอบการฟ้อนเปิดงานราตรีสีชมพู 23 ตุลาคม 2561 และต้อนรับผู้มาร่วมงานเดินวิ่งลำปางเส้นทางรักษ์ –ชมรมไท้เก๊กลำปางนำไปประกอบการฟ้อนเปิดงานรดน้ำดำหัวชมรมไท้เก๊กลำปางวันที่ 22 เมษายน 2562 พ.ศ. 2563 ได้รับการสนับสนุนจากการศึกษานอกโรงเรียนเมืองลำปาง ให้ทำโครงการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง หลักสูตรฟ้อนประกอบเพลงลำปางเขลางค์ถิ่นไทยงาม รุ่นที่1 กรกฎาคม 2563 มีผู้เข้ารับการอบรม 24 คน รุ่นที่2 มีนาคม2564 มีผู้เข้ารับการอบรม 21คน คือการตั้งชมรมขับร้องและฟ้อนรำประกอบเพลงลำปางเขลางค์ถิ่นไทยงามซึ่งตั้งได้สำเร็จแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 มีสมาชิก30คน มีประธานและคณะกรรมการชมรมแล้วเรียบร้อยมีการพบปะกันวันเสาร์ที่ 3 ของเดือนที่ศาลาประชาคมตั้งแต่ เวลา 09.00-11.00 น. และได้รับความสนใจจากจังหวัดให้เข้าแสดงในงานพิธีและได้สนับสนุนให้มีการฟ้อนประกอบเพลงและวางแผนนำเพลงและฟ้อนไปเผยแพร่ให้เป็นที่ปรากฎในท้องถิ่นอื่นในประเทศไทยรวมทั้งในแผ่นดินของพี่น้องชาติพันธ์เผ่าไทยที่มีอยู่ทั่วไปในจีนและประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะที่เมืองรุ่ยลี่ในยูนนานที่ใช้เพลงนี้เป็นเพลงประจำเมือง ในสิบสองปันนา พัฒนาต่อยอดจากการสนับสนุนของท้องถิ่น เช่นการประกวดการขับร้องเพลงนี้ ในโรงเรียนเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ภาษาถิ่นในกลุ่มเยาวชน มีการประกวดการฟ้อนในรูปแบบต่างๆที่แล้วแต่แม่ครูฟ้อนจะคิดกัน หรือมีการแข่งขันการเล่นดนตรีพื้นเมืองบรรเลงเพลงนี้ในรูปแบบต่างๆ แล้วแต่ครูดนตรี โดยรักษาทำนองและเนื้อเพลงไว้


เพลงลำปางเขลางค์ถิ่นไทยงามประพันธ์ขึ้นมาเพื่อทำให้คนที่รับฟังมีความไพเราะ ผ่อนคลาย และยังเป็นการอนุรักษ์ภาษาไทยถิ่นให้คงอยู่คู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป นอกจากบทเพลงแล้ว ท่ารำเพลงลำปาง

เขลางค์ถิ่นไทยงามยังมีความงดงาม อ่อนช้อย เข้ากับเพลงได้เป็นอย่างดี ส่วนตัวได้ฟังเพลงนี้และได้เห็นท่ารำแล้วมีความประทับใจมาก อย่างให้ทุกคนได้ฟังและได้ชมกันค่ะ

เพลงลำปางเขลางค์ถิ่นไทยงาม

เมืองเขลางค์เฮานี้มีจื่องามนามคึว่าลำปาง

ไผก่อปิ๊กมาแอ่ว ผ่อแยงแล้วบอกม่วนต๋าแลม่วนใจ๋

วังนทีรินหลั่งมาบ่หยุดบ่หย้าง กาดฮิมวังมีสัพพะ

เซาะหาครัวกิ๋นหย้อง

นั่งรถม้าปาแอ่วเวียงจุ๊หนจุ๊แห่ง ต๋าวันแลงมาย่างเล่นน้ำปุ๊เย็นข่วงเมือง

หมู่เฮาสุขอกใจ๋ตี้ได้มาอยู่ลำปาง บ้านเฮานี้คนดีมีใจ๋งาม มีศีลมีธรรม ขอเจิญเปิ้นมาผ่อแยง น้อยเต๊อะหนา (ฮัม)

ลำปางเขลางค์ถิ่นไทยงาม...ลำปาง...

คำแปลเพลงลำปางเขลางค์ถิ่นไทยงาม เมืองเขลางค์ของพวกเรานี้ มีชื่อสวยงามและยิ่งใหญ่ว่าลำปาง ใครๆต่างกลับมาเที่ยวชม ได้ประสบพบแล้วต่างกล่าวขวัญว่าเพลิดเพลินตาเพลินใจยิ่งนัก แม่น้ำวัง ไหลรินอยู่ไม่ขาดสาย ตลาดริมแม่น้ำมีสรรพสิ่งวางขายทั้งข้าวของอุปโภคและบริโภค รถมาประจำเมืองพาท่องเที่ยวทั่วทุกแห่งหน เมื่อยามเย็นเราต่างพากันมาเดินเล่นบริเวณลานน้ำพุกลางเมืองพวกเราต่างสุขกายสุขใจที่ได้มาอยู่ที่ลำปาง ผู้คนที่บ้านเมืองเราล้วนเป็นคนดีมีศีลธรรมจรรยา จึงใคร่ขอเชิญท่านมาเที่ยวชมบ้านเมืองของเราสักหน่อยนิด ลำปางเขลางค์ถิ่นฐานอันงดงามของเมืองไทย