ประเพณีเข้าพรรษา
ประเพณีเข้าพรรษา
ประเพณีนี้คงเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่ว่า สมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้กันดังปัจจุบัน เมื่อพระสงฆ์จำพรรษารวมกันมากๆ ก็จำต้องปฏิบัติกิจวัตรเช่น การทำวัตรสวดมนต์เช้ามืดและตอนพลบค่ำ การศึกษาพระปริยัติธรรมกิจกรรมเหล่านี้ ล้วนต้องการแสงสว่าง โดยเฉพาะแสงสว่างจากเทียนที่พระสงฆ์จุดบูชาพระรัตนตรัย และเพื่อต้องการใช้แสงสว่างโดยตรง ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชน จึงนิยมหล่อเทียนต้นใหญ่ กะว่าจะจุดได้ตลอดเวลา ๓ เดือน ไปถวายพระภิกษุในวัดใกล้ๆ บ้านเป็นพุทธบูชา เทียนดังกล่าวเรียกว่า เทียนจำนำพรรษา
ก่อนจะนำเทียนไปถวายนี้ ชาวบ้านมักจัดเป็นขบวนแห่แหนกันไปอย่างเอิกเกริกสนุกสนาน เรียกว่าประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษา ดังขอสรุปเนื้อหาจากหนังสือนางนพมาศ ดังนี้
"เมื่อถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ทั้งทหารบกและทหารเรือ ก็จัดขบวนแห่เทียนจำนำพรรษา ทั้งใส่คานหาบไปและลงเรือประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำประดับธงทิว ตีกลอง เป่าแตรสังข์ แห่ไป ครั้นถึงพระอารามแล้วก็ยกต้นเทียนนั้นเข้าไปถวายในพระอุโบสถหอพระธรรม และพระวิหาร จุดตามให้สว่างไสวในที่นั้นๆ ตลอด ๓ เดือน ดังนี้ทุกพระอาราม"
ในวัดราษฎร์ทั้งหลาย ก็มีพิธีทำนองนี้ทั่วพระราชอาณาจักร ปัจจุบันประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษานี้ ยังถือปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป บางจังหวัด เช่น อุบลราชธานี ถือให้เป็นประเพณีเด่นประจำจังหวัดตน ได้จัดประดับตกแต่งต้นเทียนใหญ่ๆ มีการประกวดแข่งขันแล้วแห่แหน ไปถวายตามวัดต่าง ๆ