ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า

การเลี้ยงผี ปู่ ย่า ตา ยาย
ผีปู่ ย่า ตา ยาย หมายถึงผีประจำตระกูล หรือที่เรียกกันว่าผีบรรพบุรุษ กล่าวคือถ้า ปู่ ย่า ตา ยาย ล่วงลับไปแล้วพวกลูกหลานก็จะสร้างหอไว้ทางเบื้องทิศหัวนอน หรือในสถานที่ที่เห็นว่าสมควร บนหอจะมีหิ้งวางเครื่องบูชา เช่น พานดอกไม้ ธูปเทียน น้ำต้น(คนโท) วางเอาไว้ ในปัจจุบันคำว่า “ผีปู่ ย่า ตา ยาย ” กร่อมลงมาเหลือเพียงคำว่า “ผีปู่ย่า” ซึ่งเพื่อเป็นการสะดวกในการเรียกจะได้ไม่ยาวเกินไป

การนับถือผีปู่ ย่า ตา ยาย ก็มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า เวลาพ่อ แม่ ตายลงไป ในสมัยก่อนลูกหลานไม่ได้กินได้ทานอุทิศส่วนกุศลให้ดังเช่นสมัยนี้ สาเหตุเพราะว่าอาจจะไม่มีวัดหรือไม่ก็อยู่ห่างไกลวัดก็อาจเป้นได้ ลูกหลานมีความรักเอ็นดูห่วงใยพ่อแม่ จึงสร้างศาลสูงเพียงตาขึ้น แล้วมีดอกไม้ ธูปเทียน อาหาร หวานคาว ลูกส้มของหวาน บวงสรวงอัญเชิญดวงวิญญาณของพ่อแม่ให้มาอยู่ในศาล เพื่อพิทักษ์รักษาลูกหลานตลอดจนเครือญาติจะต้องถือผีปู่ ย่า ตา ยาย อันเดียวกัน แล้วก็ห้ามแต่งงานในวงศ์ที่ถือผีอันเดียวกัน

ผีปู่ ย่า ตา ยาย จะอยู่กับลูกหญิงตลอดไปโดยมากจะอยู่กับผู้หญิงคนหัวปี และจะต้องทำศาลให้ถ้าลูกคนหัวปีตายหรือหนีไปอยู่ที่อื่น ก็จะอยู่กับลูกหญิงคนถัดไปในเครือญาติที่เป็นปึกแผ่น การเลี้ยงผีปู่ ย่า ตา ยาย ในสมัยก่อนนั้น จะมีการส่งอาหารให้ทุกมื้อเมื่อมีการกินอาหาร ต่อมาเห็นว่าเป็นการลำบากต่อลูกหลานซึ่งจะต้องทำมาหากิน ขอส่งวันละครั้ง เดือนละครั้ง จนต่อมาในปัจจุบันเป็นปีละครั้ง

ประโยชน์ของการเลี้ยงผี ปู่ ย่า ตา ยาย
1. เป็นที่พึ่งทางใจ เพราะตามธรรมเนียมแล้วคนทางเหนือชอบนับถือยกย่องญาติผู้ใหญ่มาก ในเมื่อญาติผู้ใหญ่ล่วงไปแล้วก็สร้างศาลเอาไว้เป็นตัวแทน เมื่อตนประสบปัญหาก็ไปกราบไหว้บอกกล่าวให้ช่วยเหลือ
2. เป็นการรวมญาติที่อยู่ห่างไกลกันได้มาพบปะซักถามสารทุกข์สุขดิบต่อกัน
3. เป็นการแนะนำผู้ที่มาเป็นเขยให้รู้จักญาติพี่น้องของฝ่ายหญิง

ข้อห้ามของผี ปู่ ย่า
ในส่วนดีเฉพาะลูกผู้หญิง ผีปู่ ย่า วางข้อห้ามไว้ดังนี้คือ
ถ้าผู้ชายล่วงเกินจับมือถือแขนไม่ว่าในที่ลับหรือที่แจ้ง พอใจหรือไม่พอใจ จะต้องเสียผี
ห้ามหวีผมในเวลากลางคืน และห้ามส่องกระจกดูหน้าในเวลากลางคืน
ห้ามชายหนึ่งชายใด ที่มิใช่วงศ์ญาติถือผีเดียวกันเข้าไปเกินธรณีประตูห้องนอน ถ้าเข้าไปถือว่าผิดผี
คู่ผัวเมีย เกิดทะเลาะวิวาทหย่าร้างกันไปกลับมาคืนดีกันใหม่ จะต้องผิดผีเสียผี
ในวงศ์ญาติเดียวกันถ้าทะเลาะวิวาทกันก็จะผิดผี
ผู้หญิงถ้ามีชายอื่นใดมาทำให้ท้องจะต้องผิดผี แม้จะหาตัวชายผู้ทำไม่ได้ คนท้องจะต้องเป็นคนเสียผีเอง

พิธีการเลี้ยงผีปู่ ย่า นี้จะทำกันในเฉพาะวงศ์ญาติที่ใกล้เคียงกันเท่านั้น ที่อยู่ห่างออกไปต่างบ้านต่างเมืองก็ไม่มีโอกาสมาร่วมด้วย ด้วยสาเหตุนี้เองที่ทำให้บางคนทอดทิ้งไปเลย แต่ถ้าหากเป็นเทศกาลตรุษสงกรานต์บางคนที่ยังไม่ทอดทิ้งก็อาจจะมาร่วมด้วย ที่ใช้คำว่าอาจจะก็เนื่องจากบางคนอยู่ไกลเกินไปไม่สามารถจะมาร่วมได้ การเลี้ยงผีในวันสงกรานต์หรือปีใหม่แบบพื้นเมืองนี้เขาถือว่าเป็นการมา “ดำหัว” ผีปู่ ย่า ด้วย ซึ่งผู้ที่มาได้จะนำเอาเครื่องเซ่นสังเวย เช่น มะพร้าว กล้วย อ้อย มาร่วมกันและช่วยกันออกเงินค่าหัวหมูอีกด้วย พร้อมกันนั้นก็จะมีการดำหัว ญาติผู้ใหญ่ไปด้วย

การนับถือผีปู่ ย่า ดังกล่าวนี้ ปัจจุบันมิได้หมายถึงว่าจะนับถือกันทุกคน หรือทุกครอบครัว ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธอย่างแท้จริงโดยไม่มีการถือผี เขาก็จะไม่นับถือ ตามบ้านนอกก็เช่นเดียวกัน แต่ก็ยังมีการถือผีกันเป็นส่วนใหญ่ และส่วนมากก็จะเป็นการนับถือศาสนาพุทธปนกันกับไสยศาสตร์ เพราะพิธีกรรมทาง ไสยศาสตร์มักจะมีศาสนาพุทธเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ยากที่จะแยกได้