เรื่องที่ 1 ความเป็นมาของประวัติศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ
สมัยสุโขทัย
สมัยสุโขทัย
ตั้งเมืองในเขตพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ปรากฏ แนวคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นกำแพงเมืองทั้ง 4 ด้าน ขนาดกำแพงเมืองด้านทิศเหนือและทิศใต้ ยาวประมาณ 1,800 เมตร ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก กว้างประมาณ 1,600 เมตร พื้นที่ประมาณ 1,810 ไร่ เมืองสุโขทัยตั้งอยู่ที่ลาดเชิงเขา มีเขาประทักษ์อยู่ทางทิศใต้และทิศตะวันตก ทำหน้าที่เป็นหลังคารับน้ำก่อนจะไหลลงสู่ที่ลาดลงมาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนขอบเขตของพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านทิศเหนือบริเวณนี้จะปรากฏภูเขาเล็ก ๆ โผล่ขึ้นมา ไม่สูงมากนัก เป็นพื้นที่ราบกว้างสม่ำเสมอต่อเนื่องไปตลอด จนถึงด้านทิศใต้ของพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อยู่ทางภาคกลางของประเทศไทย ด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุโขทัย และต่อเนื่องไปสู่พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำยมที่อยู่ห่างออกไปราว 12 กิโลเมตร ด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของเมือง เป็นที่ลุ่มต่ำกว่าเมืองได้ใช้เป็นที่ทำไร่ ทำสวน และทำนา จึงมีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นมากกว่าด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ เป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา มีคลองแม่ลำพัน ซึ่งเกิดจากภูเขาในเขตเมืองลำปางไหลมารวมกับลำน้ำยมที่ท่าธานี ผ่านแนวกำแพงเบื้องตะวันออก
แม้ว่าลำน้ำยมจะเป็นลำน้ำที่มีความสำคัญต่อเมืองสุโขทัยและเมืองอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง น่าจะเลือกเป็นที่ตั้งของเมือง แต่ผู้ที่สร้างชุมชนสมัยสุโขทัยก็ไม่ได้เลือกเช่นนั้น เพราะเหตุผลว่า พื้นที่ลาดของภูเขาที่มีความสูงพอดีกับขอบอ่างที่เป็นที่ลุ่มแบบรูปพัดเชิงเขา ได้ชัยภูมิที่เหมาะกว่าการที่จะไปตั้งเมืองอยู่ในอ่างที่เป็นที่ลุ่มต่ำทำให้น้ำท่วมถึงตลอดเวลา จนเป็นทะเลหลวง
ในการเลือกที่ตั้งเมืองที่ห่างไกลจากลำน้ำเช่นนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้เส้นทางคมนาคมจากเมืองไปสู่เส้นทางสัญจรใหญ่ เพราะทางด้านตะวันออก ของชุมชนมีลำน้ำลำพันไหลเลียบมาตามไหล่ตะพักของเขาประทักษ์ไปลงสู่ลำน้ำยม ที่สามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมได้ดี และยังมีสายน้ำอื่นที่ไหลลงมาจากเทือกเขาต่าง ๆ ทางด้านทิศตะวันตก ผ่านที่ราบซึ่งใช้เป็นที่การเกษตรไปสู่ลำน้ำยม ทั้งยังสามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรและขนส่งไปสู่ลำน้ำใหญ่ได้เช่นกัน
จากการเลือกที่ตั้งของเมืองสุโขทัยบนชั้นเชิงลาดของภูเขาที่มีฐานตัวเมืองเป็นดินภูเขาที่มีความแข็งและร่วนมาก ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้เพาะปลูกได้ เป็นเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้แหล่งน้ำใต้ดินในบริเวณเมืองต่ำกว่า 5 เมตรจากผิวดิน นอกจากจะได้รับพัฒนาการนำน้ำมาใช้ด้วยวิธีอื่น ได้แก่ การสร้างสรีดภงส์ (สรีดภงส์ อ่านว่า สะ-หรีด-พง เป็นคำนาม แปลว่า เขื่อน หรือ อ่างเก็บน้ำ-ทำนบ) และฝายกั้นน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรกรรม ส่วนพื้นที่สร้างเมืองหรือชุมชนเหมาะแก่การตั้งชุมชน เพราะเมืองสุโขทัยได้แยกเอาพื้นที่ทำนา ทำไร่ ออกไปอยู่ในส่วนอื่น จากที่ตั้งของเมืองซึ่งใช้เป็นศูนย์กลางของการปกครองและที่อยู่อาศัยตลอดจนการประกอบกิจกรรมทางด้านการศาสนาและค้าขาย
ในสมัยสุโขทัยมีการเลือกทำเลที่ตั้งบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย การเลือกภูมิประเทศ จะอยู่ใกล้ลำน้ำ สะท้อนให้เห็นว่าคนสุโขทัยมีแนวคิดเป็นอย่างเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงภูมิรู้ความในเรื่องระบบชลประทานแบบเหมืองฝายซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันน้ำท่วม กั้นเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร รวมทั้งเป็นแนวป้องกันภัยสงครามที่คุ้นเคยสืบต่อกันมานาน จึงเกิดเป็นภูมิปัญญาในการบริหารจัดการสร้างบ้านแปงเมืองสมัยโบราณ จะตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของชาวบ้านชาวเมือง แต่ขึ้นอยู่กับว่าแหล่งน้ำนั้นเป็นแหล่งน้ำแบบใด
แหล่งน้ำนิ่ง เช่น หนอง บึง ทะเลสาบ สระน้ำ หรือตระพัง (ตระพัง หมายถึง แอ่ง บ่อ หนอง กระพัง ตระพัง หรือสะพัง เรียกบ่อที่เกิดขึ้นเอง หรือสระน้ำที่ขุดลงไปในพื้นดิน) บาราย คือ สระน้ำที่มีคันดินล้อมรอบ
แหล่งน้ำไหล หรืออ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้น ประเภทลำน้ำหรือแม่น้ำ
สมัยโบราณการเลือกพื้นที่ตั้งเมืองอยู่ ณ บริเวณใดนั้น จะต้องพิจารณาจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่เป็นหลัก ประกอบด้วย สภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ การเป็นชัยภูมิที่ดีในทางทหารและที่สำคัญ บ้านเมืองต้องมีความปลอดภัยจากน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และไม่ขาดแคลนน้ำใช้อุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง การเลือกหาพื้นที่ตั้งเมืองให้ตรงตามลักษณะดังกล่าว จะต้องอาศัยภูมิความรู้ทางภูมิศาสตร์และความเข้าใจที่ละเอียดทางด้านระบบสังคมสมัยโบราณ จะเชื่อมโยงเป็นระบบด้วยการจัดความสัมพันธ์ระหว่าง คน กับ ธรรมชาติและอำนาจเหนือธรรมชาติ เพราะการสร้างบ้านแปงเมืองถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคง ของมนุษย์ ทั้งด้านอำนาจการเมือง การปกครอง การค้าขายแลกเปลี่ยน และการทำมาหากิน หากจะย้ายไปสร้างเมืองใหม่ที่ใดอีกก็เป็นไปด้วยเหตุภัยสงคราม หรือภัยธรรมชาติครั้งรุนแรงจนเมืองพังทลายเสียหายมากเท่านั้น
ส่วนการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่เมืองสุโขทัยโบราณนั้น มักจะพบอยู่บริเวณลำน้ำเล็ก ๆ และมีพื้นที่รับน้ำที่เป็นหนอง บึง และเลี้ยงชีพด้วยการเกษตรเป็นหลัก ดังนั้นจึงมี 2 ปัจจัย ในการเลือกตั้งถิ่นฐาน คือ
1. แหล่งน้ำ คือ ปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการทำเกษตร โดยอาณาบริเวณสมัยสุโขทัยมีลำน้ำขนาดใหญ่ผ่านถึง 3 สาย คือ ลำน้ำปิง ลำน้ำยม ลำน้ำน่าน โดยลำน้ำทั้ง 3 สาย นี้ไหลลงไปรวมกันที่เมืองนครสวรรค์ ช่วยให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ต่อการเกษตร แต่ในฤดูแล้งจะมีปัญหาเพราะน้ำน้อย ส่วนในหน้าน้ำหลากจะไหลล้นตลิ่งในปริมาณสูง ทำให้สองฟากของแม่น้ำที่เหมาะแก่การเกษตรกรรมไม่สามารถเพาะปลูกได้
2. สภาพพื้นที่ดิน คือ ปัจจัยสำคัญรองลงมาจากสภาพพื้นที่น้ำ การตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณบนพื้นที่รับน้ำ เช่น ลำน้ำเล็ก ๆ หรือหนอง บึง ธรรมชาติตามฤดูกาลก่อให้เกิดพื้นที่ 3 ลักษณะ คือ พื้นที่ที่อยู่ระหว่างเขาลงมาตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ พื้นที่บริเวณลุ่มน้ำใกล้เคียงกัน และพื้นที่ราบลุ่มน้ำ เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการทำการเกษตรมากที่สุด พื้นที่นี้ครอบคลุมบริเวณเมืองพิษณุโลก
สมัยสุโขทัยบ้านเมืองมีความร่มเย็น อุดมสมบูรณ์ด้วยมีพื้นที่ในการทำการเกษตรและมีผลผลิตเพียงพอในการเลี้ยงประชาชนที่มีจำนวนไม่มากนัก มีระบบชลประทานแบบเหมือง ฝาย คันดิน ทำนบ เขื่อน นำน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร เพื่อใช้อุปโภคบริโภค สำหรับชาวบ้านชาวเมือง คือ
1. สรีดภงส์1 (ทำนบพระร่วง 1) (สรีดภงส์ อ่านว่า สะ-หรีด-พง เป็นคำนาม แปลว่า เขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำทำนบ) สรีดภงส์ตั้งอยู่ห่างตัวเมืองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ พบแนวคันดินเชื่อมต่อระหว่างเขากิ่วอ้ายมาและเขาพระบาทใหญ่ มีการขุดดินจากด้านใน เพื่อนำมาปรับถมเป็นคันดินกั้นน้ำรับน้ำจากเทือกเขาประทักษ์ เขาค่าย เขาเจดีย์งาม ที่เป็นพื้นที่หลังคารับน้ำไหลลงมาเป็นลำธาร หรือโซกต่าง ๆ เช่น โซกพระร่วงลองพระขรรค์ โซกเรือตามอญ โซกอ้ายก่าย โซกน้ำดิบชะนาง โซกชมพู่ โซกพม่าฝนหอก
2. สรีดภงส์2 (ทำนบกั้นน้ำโคกมน) ตั้งอยู่ที่บ้านมนต์คีรี ห่างจากกำแพงเมือง ด้านทิศใต้ไปตามแนวคันดินกั้นน้ำ ประมาณ 7.6 กิโลเมตร จะไปบรรจบคันดินที่กันน้ำโคกมนที่กั้นเขานายา ตรงกลางทำนบเจาะขาดเป็นช่องระบาย กว้างประมาณ 3 - 4 เมตร เพื่อระบายน้ำเป็นแนวโค้งโดยกั้นทางทิศตะวันออกเขานายาและเขากุดยายชีคันดินหายไปตรงบริเวณเหมืองยายอึ่ง
3. เหมืองยายอึ่ง เป็นลำธารขนาดใหญ่ รับน้ำจากลำธารเล็ก ๆ 12 สาย ที่ไหลมาจากเทือกเขาโป่งสะเดา เขาคุยบุนนาคและเขาอีลม น้ำจากเหมืองยายอึ่งจะไหลเลียบลำธาร เขาอ้อมออกไปในที่ราบลุ่มผ่านหน้าผาเขาแดง ซึ่งจากเขาแดงจะมีลำธารอีกสาย คือ น้ำโคก หรือ บ่อน้ำผุด
4. ท่อปู่พระญาร่วง รับน้ำจากแม่น้ำปิง เข้ามาเลี้ยงทุ่งนา อำเภอพรานกระต่าย (จังหวัดกำแพงเพชร) และอำเภอคีรีมาศ อำเภอกงไกรลาศ (จังหวัดสุโขทัย)
5. น้ำโคก ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่กล่าวว่า “เบื้องหัวนอน มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี น้ำโคกหรือบ่อน้ำผุด ตั้งอยู่ถัดลงมาทางทิศใต้ของเหมืองยายอึ่ง เป็นแหล่งน้ำที่ไหลมาจากใต้ดิน ทำให้เกิดลำธารไหลไปรวมกับเหมืองยายอึ่ง ก่อนไหลไปรวมกัน ที่สรีดภงส์ 2 (ทำนบกั้นน้ำโคกมน) เมื่อปริมาณน้ำมีมากเกินไป ทางหนึ่งจะระบายออกที่ปากท่อ กลางทำนบอีกทางหนึ่งจะไหลออกไปตามเหมืองยายอึ่ง ไปบรรจบกับทำนบกั้นน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตรกรรมตามชุมชนริมถนนพระร่วง
6. ทรากน้ำตกที่เกิดจากเทือกเขาประทักษ์ ที่สำคัญมี 2 แห่ง คือ
6.1 โซกเป็ด (ธารน้ำ) เป็นแหล่งต้นน้ำที่มีน้ำซึมผ่านทรายชื้นเปียกไปตาม แนวลำธาร ทรายที่อยู่พื้นลำธารมีสีดำอมน้ำตาลคล้ายขี้เป็ด อยู่ทั่วไป อาจเกี่ยวกับที่มาของชื่อแหล่งโดยชาวบ้านอาจเคยเรียกว่า โซกขี้เป็ด แล้วกร่อนเหลือเพียง "โซกเป็ด" น้ำจากโซกเป็ดนี้ จะไหลไปสู่ ทำนบกั้นน้ำ แล้วระบายไหลออกไปรวมกับคลองยาง
6.2 โซกขี้เหล็ก (ธารน้ำ) ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของโซกเป็ด น้้ำจากโซกขี้เหล็กจะไหลไปหาทำนบกั้นน้ำ และไหลไปรวมกับเหมืองยายอึ่งต่อไป
ในส่วนการทดน้ำมาใช้ในและนอกเมืองเก่าสุโขทัย จะมีสระเก็บน้ำ ประมาณ 175 สระ มีทั้งแบบขุดลงไปในดิน และกรุผนังด้วยอิฐหรือศิลาแลง บ่อที่ลึกที่สุดอยู่บริเวณด้านหลังอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีคลองส่งน้ำจากบริเวณเมืองชั้นในทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ส่งน้ำจากตระพังตระกวน (บ่อน้ำ) ข้ามมายังตระพังสอ (บ่อน้ำ) โดยคูเมืองและกำแพงเมืองสุโขทัยวางตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคันดินเป็นกำแพง 3 ชั้น และคูน้ำ 3 ชั้น ทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันข้าศึกและเป็นคันบังคับน้ำมาใช้ประโยชน์ โดยเป็นน้ำที่ไหลมาจากคลองเสาหอด้านทิศตะวันตกมายังบริเวณคูเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งคงมีท่อเชื่อมสู่คูเมืองชั้นใน