การไหว้ศาลเจ้าน้ำตกเพชร หรือเจ้าพ่อฝายต้นน้ำ

หมู่บ้านเพชรจะขอ ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า หมู่บ้านทีจะขอ หมู่บ้านเล็กๆที่ตั้งอยู่มาเป็นเวลานานกว่า 100 ปี ถูกโอบล้อมด้วยขุนเขาท่ามกลางธรรมชาติที่เงียบสงบและสวยงาม เป็นหมู่บ้านของพี่น้องชนเผ่าชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ที่มาตั้งถิ่นฐานและทำมาหากินในพื้นที่เป็นกลุ่มแรก อดีตหมู่บ้านแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของตำบลโป่งน้ำร้อน กิ่งอำเภอคลองลาน ก่อนที่จะมีชาวบ้านจากพื้นที่ใกล้เคียงอพยพเข้ามาอยู่ จนได้แยกพื้นที่จากตำบลโป่งน้ำร้อน มาเป็นหมู่บ้านเพชรนิยม ตำบลสักงาม ในปี พ.ศ. 2523 ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองขลุง และป่าคลองสวนหมาก อยู่ทางทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติคลองลาน

การดำรงชีวิตของผู้คนผูกพันธ์กับวิถีธรรมชาติ จากความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและป่าไม้ในหมู่บ้านทำให้ด้านอาหารท้องถิ่นของหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเป็นอาหารตามฤดูกาลจากป่าธรรมชาติของหมู่บ้านที่จัดสลับหมุนเวียนกันเจริญเติบโตให้เก็บนำมาประกอบอาหาร หมู่บ้านเพชรนิยมตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำเกษตร ทั้งในด้านภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศที่เย็นสบาย ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตกร และเลี้ยงสัตว์

ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านมีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงจัดให้มีประเพณีไหว้เทพารักษ์ของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งจะเป็นการทำบายศรี รวมไปถึงการเซ่นไหว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆภายในหมู่บ้านที่ชาวบ้านเคารพนับถือ

การไหว้ศาลเจ้าน้ำตกเพชรจะขอ หรือ เจ้าพ่อฝายต้นน้ำ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ฝายกั้นน้ำเป็นทำนบกั้นน้ำ เพื่อเข้าไร่ เข้านาของชาวบ้านหมู่บ้านเพชรนิยม บริเวณฝายต้นน้ำมีการสร้างศาลเจ้าพ่อขึ้นมา เพื่อให้ดูแลฝายต้นน้ำ เดิมเรียกว่าเจ้าพ่อป่าไม้ คนทำไร่ชื่อ ตาแหลม เป็นคนรุ่นแรกๆ ที่เริ่มต้นจัดพิธีไหว้ศาลเจ้าพ่อ มีวัตถุประสงค์เพื่อขอน้ำและให้ผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านดี พิธีไหว้ศาลเจ้าพ่อจะจัดขึ้นในเดือน 6 ไม่เกินเดือน 7 ไม่ตรงกับวันพุทธและวันเสีย(วันไม่ดี) ขั้นตอนการจัดพิธีไหว้ศาลเจ้าพ่อจะเริ่มจากการทำบุญโดยการนำพระภิกษุสงฆ์มาทำพิธี หลังจากนั้นจะเลี้ยงเจ้าพ่อด้วยหมูดิบชำแหละ ผู้ซึ่งจะเป็นสื่อบอกเจ้าพ่อถึงพิธีการเลี้ยงนี้ ก็คือ ชาวบ้านปกาเกอะญอ