ผ้าทอปกาเกอะญอ หรือ กะเหรี่ยง ( บ้านเพชรนิยม )

ชาวกะเหรี่ยงเรียกตนเองว่า“ปกาเกอญอ”ซึ่งแปลว่า“คน”เป็นชนเผ่าที่มีจำนวน มากที่สุดในประเทศไทย กะเหรี่ยงทอผ้าจนเป็นวัฒนธรรมประจำเผ่า ชาวกะเหรี่ยงบ้านเพชรนิยมยังคงอนุรักษ์การแต่งกายแบบดั้งเดิมด้วยเสื้อผ้าเผ่ากะเหรี่ยง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านเพชรนิยม (แบบกี่เอว) ของชาวกะเหรี่ยงบ้านเพชรนิยมได้สืบทอดกันมาแต่อดีต เนื่องจากการดำเนินชีวิตของชาวกะเหรี่ยงที่เคร่งครัดในเรื่องประเพณีวัฒนธรรม พิธีกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านเรือนหรือการแต่งกายที่ผู้หญิงกะเหรี่ยงเกือบทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจะต้องทอผ้าเป็น

เพราะถือสาในเรื่องชู้สาว การไปไหนต่อไหนเป็นข้อห้ามและการถูกเนื้อต้องตัวกันเป็นความผิด จึงมีการแต่งกายของผู้หญิงกะเหรี่ยงที่แยกแยะชัดเจนคือ สาวโสดจะสวมชุดทรงกระสอบสีขาว ยาวเกือบกรอมเท้า ทอเองด้วยมือโดยเครื่องทอแบบง่ายๆ ตามประเพณี หญิงแต่งงานแล้วสวมเสื้อครึ่ง ตัวแค่เอวสีดำ ประดับประดาด้วยลูกเดือยหรือฝ้ายสีและ สวมผ้าซิ่นยาวกรอมเท้าสีแดง ผู้ชายสวมเสื้อสีแดงและสวมกางเกงแบบคนไทยภาคเหนือซึ่งเรียกว่า "เตี่ยวสะดอ"

เมื่อแต่งงานมีลูกจะต้องทอผ้าไว้ให้ลูกเป็นผ้าสีขาว เมื่อครบเก้าเดือนคลอดลูกก็จะทอผ้าได้หลายผืน นำผ้ามาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าให้ลูกใส่อย่างง่าย ๆ ผ้าที่ทอใช้ในชีวิตประจำวันจะเป็นเสื้อกะเหรี่ยง ซิ่น ย่าม ผ้าโพก ผ้าห่ม หรือผ้าชนิดอื่น ๆ จะเน้นความสวยงามและความหนาของเนื้อผ้า เพราะว่าหมู่บ้านติด ภูเขา และมีป่าไม้มาก มีอากาศหนาวเย็น จึงต้องใส่เสื้อผ้าหนา เพื่อความอบอุ่นแก่ร่างกาย

ต่อมาความเจริญมีมากขึ้น การแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงก็เริ่มเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม แต่ก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีการแต่งกายไว้บ้าง จะมีการแต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงประจำท้องถิ่น ในงานประเพณีต่าง ๆ เช่น ประเพณีกินข้าวใหม่ งานบวช งานแต่งงาน และงานสำคัญอื่น ๆ

บ้านเพชรนิยมได้ชื่อว่าเป็นแหล่งทอผ้ากะเหรี่ยงในตำบลสักงาม ที่มีการอนุรักษ์วิธีการทอผ้า ลวดลายผ้า ผลิตภัณฑ์ผ้าทอกะเหรี่ยง และผู้ที่สนใจผ้าทอกะเหรี่ยงจะต้องมาหาซื้อผ้าทอกะเหรี่ยงที่บ้านเพชรนิยมอยู่เสมอ และสามารถมองเห็นพัฒนาการของการทอผ้าที่มีการสืบทอดจากอดีต ยังคงรักษาภูมิปัญญาการทอได้จนถึงปัจจุบัน