ประวัติวัดพระพุทธมงคล

"พระพุทธมงคล" หรือ "พระเจ้าตนหลวง" เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองแพร่ ที่พี่น้องชาวเมืองแพร่ให้ความเลื่อมใสศรัทธากันดี ประดิษฐานอยู่ที่วัดร้างหรือวัดตอหมากหลวงนิมิต หมู่ที่ 8 บ้านตอนิมิต ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่

ตำนานกล่าวถึงพระพุทธมงคลว่า สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.1200 โดยพระโสณเถระ พระอุตรเถระ และพระรัตนเถระ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้า ประดิษฐานไว้บนยอดพระเมาลีตอนกลาง

จากตำนานที่เล่าสืบกันมาว่า มีต้นหมากหลวงขนาดใหญ่ต้นหนึ่ง อยู่ใกล้ปากถ้ำ หน้าวัดพุทธมงคลหรือหน้าวัดพระเจ้าตนหลวง หน้าวัดร้างในปัจจุบัน อาจเป็นพันธุ์หมากหลวงเดียวกันกับต้นหมากหลวงในตำนานวัดพระธาตุช่อแฮ

เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมา ต้นหมากหลวงนั้นได้ตายลง เหลือแต่ตอแห้งแข็ง ไม่ผุกร่อน เหมือนต้นหมากทั่วไป ในเวลาค่ำคืนก็ปรากฏเป็นลูกแสงไฟพวยพุ่งออกมาจากตอของต้นหมากหลวงนั้น เป็นแสงไฟที่มีความสวยงามมาก ชาวบ้านในหมู่ละแวกนั้น ต่างร่ำลือโจษจันกันว่าเป็นตอนิมิต และเป็นที่มาของหมู่บ้านว่า "บ้านตอนิมิต"

ในกาลต่อมา ชาวบ้านได้รวมจิตศรัทธาร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นเป็นที่ตั้งของพระพุทธมงคลหรือพระเจ้าตนหลวง และมีชื่อเรียกกันในครั้งนั้นว่า วัดตอหมากหลวงนิมิต

วันเวลาล่วงเลยผ่านไปหลายร้อยปี วัดตอหมากหลวงนิมิต กลายสภาพเป็นวัดร้างไป อาจจะมาจากสาเหตุ บรรพชิตผู้มาอาศัยปฏิบัติธรรมพากันลาสิกขาบท สถานที่ตั้งมีทำเลไม่เหมาะสม เป็นที่ราบลุ่มในฤดูฝนทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ขาดผู้นำที่ดีในการทำนุบำรุงรักษา และชาวบ้านเกิดความแตกสามัคคี ทำให้วัดหมากหลวงตอนิมิตกลายเป็นวัดร้างไป พระ พุทธมงคลก็เกิดการผุกร่อน ชาวบ้านหนีไปสร้างวัดใหม่ที่วัดตอนิมิต

จนมาถึงปี พ.ศ.2507 พระครูบาเจ้าอินถา สุขวัฑฒโก แห่งวัดหลวงเจริญธรรม จ.เชียงใหม่ ได้นำชาวบ้านปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปและบริเวณวัดร้างแห่งนี้ แล้วได้ตั้งชื่อพระพุทธรูปว่า "พระพุทธมงคล" พระพุทธรูปองค์เดิมเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แบบสุโขทัย ตรงพระเมาลี บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพักตร์ของพระพุทธรูปมีลักษณะเป็นแบบอินเดีย ศิลปะแบบคันธารราษฎร์ มีแห่งเดียวในจังหวัดแพร่ มีขนาดหน้าตักกว้างประ มาณ 4 เมตร สูงประมาณ 8 เมตร ในบริเวณวัดพระพุทธมงคลหรือพระ เจ้าตนหลวง บริเวณด้านขวามือมีศาลเจ้าพ่อพญาคำลือ ว่ากันว่า ดวงวิญญาณของท่าน วนเวียนอยู่ในบริเวณวัดร้างแห่งนี้ ต่อมาได้เข้าฝันชาวบ้านบอกว่าตนเป็นเจ้าพ่อพญาคำลือให้ความปกปักรักษาชาวบ้านหมู่บ้านมาเป็นเวลานานแล้ว

ตำนานศาลเจ้าพ่อพญาคำลือ

จากนั้นมีการบนบานศาลเจ้าพ่อพญาคำลือเพื่อให้สมปรารถนา

ตำนานศาลเจ้าพ่อพญาคำลือ มีพรรคพวกอยู่ 4 ท่าน คือ เจ้าพ่อเสือดำ เจ้าพ่อสล่า เจ้าพ่อคำเริง และเจ้าพ่อบุญเรือง ตามคำบอกเล่าของพ่อละม้าย พรมมา ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านว่า เดิมเจ้าพ่อคำลืออยู่ทางทิศเหนือของแคว้นล้านนา คงเป็นถิ่นแคว้นสิบสองปันนา ชอบท่องเที่ยวก็มาอาศัยบริเวณที่พระพุทธมงคลตั้งอยู่

ปัจจุบัน องค์พระพุทธมงคล หรือ พระเจ้าตนหลวง ประดิษฐานอยู่ศาลาที่เปิดโล่งทั้ง 3 ด้าน ภายในบริเวณวัดร้าง มีต้นไม‰ขนาดใหญ่ขนาด 5 คนโอบ อยู่ด้านซ้ายของพระพุทธมงคล ขณะนี้ พระครูวิจิตรนวการโกศล (ครูบาสมจิตร) วัดสะแล่ง ต.ห้วยอ้อ อ.ลอง จ.แพร่ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดแพร่ ได้นำชาวบ้านเพื่อจัดสร้างพระเจดีย์ขึ้นไว้ด้านหลังศาลาที่ประดิษฐานพระ พุทธมงคลหรือพระเจ้าตนหลวง ยังขาดปัจจัยในการก่อสร้างอยู่อีกจำนวนมาก ผู้ที่มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคได้

สำหรับคำนมัสการพระพุทธมงคล มีดังนี้ ขึ้นนะโม 3 จบแล้ว กล่าวว่า "อะหัง วันทามิธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะโย" (3 จบ) เป็นเสร็จพิธี

พระพุทธมงคล

พระพุทธมงคล

ป้ายวัด

ต้นเรือง

ศาลเจ้าพ่อคำลือ

ศาลเจ้าพ่อคำลือ