ประวัติ

วัดรมณีย์ เป็นวัดเก่าแก่มากวัดหนึ่ง เดิมทีชาวบ้านทั่วไปเรียกวัดรมณีย์ว่า "วัดหลังพม่า" เพราะเหตุเนื่องจากพม่าได้ยกทัพบุกตีหัวเมืองต่างๆ เช่นเมืองตะกั่วทุ่ง เมืองถลาง เมืองตะกั่วป่า เป็นต้น และท้าวเทพกระษัตรีกับท้าวศรีสุนทรได้กอบกู้สู้รบกับทหารพม่าจนสำเร็จ ซึ่งตอนสู้รบทหารพม่าก็ยังยึดเมืองตะกั่วป่าอยู่ และตำบลรมณีย์ก็อยู่ติดกับเมืองตะกั่วป่าไปทางทิศตะวันออกติดเขตติดต่อกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีจึงเป็นที่มาของวัดรมณีย์ที่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดหลังพม่า"

วัดรมณีย์ได้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2475 สร้างโดยนักพรตเช่ง หรือเจ้าคณะอำเภอสมัยนั้นซึ่งได้สร้างศาลาธรรมศาลาฉันกุฏิหลังเล็กๆ อย่างละหลัง สถานที่สร้างวัดนั้นเป็นที่ดินของนายเรือน กับนางขาว ทองมาก มอบอุทิศให้สร้างวัดจำนวน 50 ไร่ เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วพอที่จะปฏิบัติธรรมของพระพุทธศาสนาได้แล้ว ท่านนักพรตเช่งก็ได้ไปนิมนต์หลวงพ่อฉิ้มมาเป็นเจ้าอาวาสวัดรมณีย์เป็นองค์แรก เมื่อ พ.ศ. 2475 หลวงพ่อฉิ้มเป็นเจ้าอาวาสได้ประมาณ 3 ปี ก็มรณภาพที่วัดรมณีย์แห่งนี้

จากนั้นชาวบ้านก็ได้นิมนต์หลวงพ่อเสมมาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ. 2477 หลวงพ่อเสมเป็นได้ประมาณ 4 ปี ก็มรณภาพที่วัดรมณีย์และได้ทำศพของท่านที่วัดรมณีย์

ต่อจากนั้นชาวบ้านได้นิมนต์หลวงพ่อแดงมาเป็นเจ้าอาวาสองค์ต่อไปเมื่อ พ.ศ. 2481 และได้เป็นเจ้าอาวาสประมาณ 3 ปี พ.ศ.2483 ไม่ทราบว่าท่ามรณภาพหรือย้ายไปอยู่ที่อื่น ไม่สามารถรู้รายละเอียดเท่าที่ควร และต่อจากนั้นวัดรมณีย์ได้ร้างเจ้าอาวาสไปประมาณ 10 ปี เห็นจะได้ ชาวบ้านจึงได้นิมนต์หลวงพ่อชมมาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ. 2493 และหลวงพ่อชม ไม่ทราบข้อมูลแน่ชัดว่าเป็นเจ้าอาวาสอยู่กี่ปี แต่วัดรมณีย์ ได้ร้างเจ้าอาวาสไปประมาณ 3 ปี จน พ. ศ. 2501 หลวงพ่อเชยได้มาเป็นเจ้าอาวาสอยู่ได้ราว 2 ปี พ.ศ. 2502 หลวงพ่อใบ (พระใบฎีกาศิริ) ได้มาเป็นเจ้าอาวาสเนื่องจากชาวบ้านที่ศรัทธาท่านใบ นิมนต์มาเป็นได้อยู่ 16 ปี ท่านมรณภาพซึ่งชาวบ้านพร้อมด้วยทุกคนทุกฝ่ายหลายแขนงมาร่วมทำการจัดงานพิธีศพของท่านอย่างสมเกียรติ ต่อจากนั้นเมื่อพ.ศ. 2517 - 2521 ก็มีพระมารักษาการแทนอยู่ 2 องค์คือหลวงพ่อวาสนา และหลวงพ่อชำนาญ ตามลำดับพ.ศ. 2521 ก็มีเจ้าอาวาสประจำอย่างถาวรมาจนถึงทุกวันนี้คือหลวงพ่อสุข (พระครูสุธรรมาภิราม) ซึ่งหลวงพ่อท่านได้รักษาคนเจ็บจากอุบัติเหตุขาหักแขนหักให้หายโดยไม่คิดค่าอะไรทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่ผู้ที่มีจิตศรัทธาที่จะทำบุญเพื่อพัฒนาวัดรมณีย์ที่ทุกท่านที่เจ็บป่วยมารักษาตัวให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

มีสิ่งของที่เป็นลักษณะเฉพาะที่สำคัญ คือ ระฆังทองชุบ สลักชื่อ วัดหลังพม่า สร้างปี พ.ศ. 2475