สืบสานประเพณีท้องถิ่นศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทอง




สืบสานประเพณีท้องถิ่นศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทอง เป็นประเพณีของชาวอำเภอพรานกระต่ายเป็นการจัดงานเพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษของชาวอำเภอพรานกระต่าย โดยการจัดงานนั้นอาศัยความร่วมมือของชาวบ้าน และหน่วยงานในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้งานบรรลุล่วงไปได้ด้วยดี บรรยากาศภายในงานจะเต็มไปด้วยการดำเนินชีวิตในอดีต รวมถึงการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของอำเภอพรานกระต่าย และยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ใึึึห้ร่วมสนุกกันอีกมากมาย ทั้งด้านการละเล่นพื้นบ้าน ตลอดไปจนถึงความเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอพรานกระต่าย เพื่อให้งานดำเนินไปได้อย่างราบรื่นจึงมีสถานที่อำนวยความสะดวกให้แก่ ผู้ที่เข้าร่วมในงานได้สะดวกสบายยิ่งขึ้นจึงมีการจัดงานแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงภายในงานได้อย่างครบถ้วน

ประเพณีไทยในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก คือ จารีตประเพณีหรือกฎศีลธรรม ขนบประเพณีหรือสถาบัน และธรรมเนียมประเพณี โดยมีรายละเอียดของแต่ละประเภทดังนี้

จารีตประเพณี หรือกฎศีลธรรม หมายถึง สิ่งซึ่งสังคมใดสังคมหนึ่งยึดถือและปฏิบัติสืบกันมาอย่างต่อเนื่องและมั่นคง เป็นเรื่องของความผิดถูก มีเรื่องของศีลธรรมเข้ามาร่วมด้วย ดังนั้นสมาชิกในสังคมผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าเป็นผิดเป็นชั่วจะต้องถูกตำหนิหรือได้รับการลงโทษจากคนในสังคมนั้น เช่น ลูกหลานต้องเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อท่านแก่เฒ่า เป็นต้น

ขนบประเพณี หรือสถาบัน หมายถึง ระเบียบแบบแผนที่สังคมได้กำหนดไว้แล้วปฏิบัติสืบต่อกันมา ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทางตรง ได้แก่ ประเพณีที่มีการกำหนดเป็นระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติอย่างชัดแจ้งว่าบุคคลต้องปฏิบัติอย่างไร เช่น สถาบันโรงเรียน ทางอ้อม ได้แก่ ประเพณีที่รู้กันโดยทั่วๆไป โดยไม่ได้วางระเบียบไว้แน่นอน แต่ปฏิบัติไปตามคำบอกเล่าหรือสังคมปฏิบัติ เช่น ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด การตาย การแต่งงาน ซึ่งเป็นประเพณีเกี่ยวกับชีวิต หรือประเพณีเกี่ยวกับเทศกาล ตรุษ สารท การขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น

ธรรมเนียมประเพณี หมายถึง ประเพณีเกี่ยวกับเรื่องธรรมดาสามัญที่ทุกคนควรทำ มีความผิดถูกเหมือนจารีตประเพณี เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ทุกคนปฏิบัติกันทั่วไปจนเกิดความเคยชินและไม่รู้สึกเป็นภาระหน้าที่เพราะเป็นสิ่งที่มีมานาน เช่น การแต่งกาย การพูด การรับประทานอาหาร การเป็นแขกไปเยี่ยมผู้อื่น เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วประเพณียังสามารถแบ่งย่อยได้อีก 4 ประเภท คือ

ก. ประเพณีที่เกี่ยวกับชีวิตหรือประเพณีครอบครัว ได้แก่ ประเพณีการเกิด ประเพณีการบวช ประเพณีการแต่งงาน ประเพณีงานศพ

ข. ประเพณีท้องถิ่นของชุมชนหรือประเพณีส่วนรวมตามเทศกาล ประเพณีการชักพระ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีงานบุญบั้งไฟ ประเพณีการรับประทานอาหาร

ค. ประเพณีท้องถิ่น ได้แก่ ประเพณีที่เกี่ยวกับอาชีพ เช่น ภาคใต้ ได้แก่ การลงขันลงหิน การทำขันและเครื่องลงยา การทำผ้าบาติก การทำโสร่งปาเต๊ะ ประเพณีการแต่งกาย ประเพณีการแต่งกาย ประเพณีการละเล่นในงานนักขัตฤกษ์ เช่น การละเล่นหนังตะลุง มโนราห์ เป็นต้น

ง. ประเพณีราชการ คือประเพณีที่ทางราชการเป็นผู้กำหนดขึ้น จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ รัฐพิธีและพระราชพิธี

ดังนั้น จากการจำแนกหรือแบ่งแยกประเภทของประเพณีตามแบบแผนแล้วนั้น งานสืบสานประเพณีเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทองจีงอยู่ในประเภทขนบประเพณีหรือสถาบัน ประเภทประเพณีท้องถิ่น เนื่องจากประเพณีดังกล่าวเป็นประเพณีที่ดำเนินการสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน นอกจากนั้นแล้วยังเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นเฉพาะในท้องถิ่นพรานกระต่ายอีกด้วย