หมาน้อย

หมาน้อย” อาหารพื้นบ้านอีสาน อ.สนม จ.สุรินทร์

“หมาน้อย” เป็นอาหารพื้นบ้านทางภาคอีสาน แถบภาคเหนือตอนบนเรียก “แอ่งแต๊ะ” วัตถุดิบที่ใช้ คือ ใบหมาน้อย หรือใบแอ่งแต๊ะ มีคุณสมบัติการเปลี่ยนรูปจากของเหลวเป็นวุ้นแต่ไม่ถึงกับแข็งเหมือนวุ้นทั่วไป แต่จะเป็นวุ้นแบบเด้งดึ๋งดั๋งไปมาเมื่อใช้ช้อนตักลงไปที่หมาน้อย หมาน้อย เป็นพืชที่จัดอยู่ในประเภทสมุนไพร ชนิดยาเย็น ช่วยดับกระหายได้เป็นอย่างดี

ชื่อสมุนไพร เครือหมาน้อย

ชื่ออื่นๆ กรุงเขมา (กลาง นครศรีธรรมราช) หมอน้อย (อุบลราชธานี)ก้นปิด (ตะวันตกเฉียงใต้) ขงเขมา พระพาย (ภาคกลาง) เปล้าเลือด (แม่ฮ่องสอน) สีฟัน (เพชรบุรี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cissampelos pareira L. var. hirsuta (Buch. ex DC.) Forman.

ชื่อพ้อง Cissampelos poilanei Gagnep.

ชื่อวงศ์ Menispermaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้เถาเลื้อย เนื้อไม้แข็ง มีขนนุ่มสั้นปกคลุมหนาแน่นตามเถา กิ่ง ช่อดอก และใบ ไม่มีมือเกาะ มีรากสะสมอาหารใต้ดิน ใบเป็นใบเดี่ยว มีหลายรูป เช่น รูปหัวใจ รูปกลม รูปไต หรือรูปไข่กว้าง ก้นใบปิด ออกแบบสลับ กว้าง 4.5-12 เซนติเมตร ยาว 4.5-11 เซนติเมตร ปลายใบส่วนมากมนหรือเรียวแหลม โคนใบกลมตัด หรือเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ เนื้อบางคล้ายกระดาษ มีขนนุ่มสั้นกระจาย ทั้งหลังใบ และท้องใบ ใบเมื่อยังอ่อนจะมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน และตามขอบใบ แต่จะร่วงไปเมื่อใบแก่ เส้นใบออกจากโคนใบรูปฝ่ามือ ก้านใบยาว 2-9 เซนติเมตร ขนนุ่มสั้น หรือเกือบเกลี้ยง ติดที่โคนใบห่างจากขอบใบขึ้นมา 1-18 มิลลิเมตร ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งหนาม ดอกออกเป็นช่อกระจุกสีขาว ขนาดเล็กประมาณ 0.2-0.5 มิลลิเมตร ดอกแยกเพศ และอยู่ต่างต้นกัน เรียงแบบช่อเชิงหลั่น มีขนาดเล็ก แต่ละช่อกระจุกมีก้านช่อดอกยาว 2-4 เซนติเมตร มีขนนุ่มสั้น ออกกระจุกเดี่ยวๆหรือ 2-3 กระจุกในหนึ่งช่อ ช่อดอกเพศผู้ ออกตามง่ามใบ ก้านช่อกระจุกแตกแขนง ยืดยาว ประกอบด้วยกระจุกดอกอยู่ตามง่ามใบประดับ ใบประดับรูปกลม และขยายใหญ่ขึ้น ดอกเพศผู้ สีเขียวหรือสีเหลือง มีก้านดอกย่อยยาว 1-2 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 1.25-1.5 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนยาวห่าง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนประปราย เกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน อับเรณูยาว 0.75 มิลลิเมตร ช่อดอกเพศเมีย เป็นช่อคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ทรงแคบ ยาวถึง 18 เซนติเมตร ประกอบด้วยช่อดอกที่เป็นกระจุกติดแบบคล้ายเป็นช่อกระจะ แต่ละกระจุกอยู่ในง่ามของใบประดับ ใบประดับรูปกลม เมื่อขยายใหญ่ขึ้นยาวถึง 1.5 เซนติเมตร มีขนประปรายหรือขนยาวนุ่ม ดอกเพศเมีย มีก้านดอกย่อยยาว 1-1.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 1 กลีบ รูปไข่กลับกว้าง ยาว 1.5 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 1 กลีบ รูปไข่กลับกว้าง ยาว 0.75 มิลลิเมตร โคนสอบแคบไม่มีเกสรเพศผู้ปลอม เกสรเพศเมียมี 1 อัน ขนาดประมาณ 0.5 มิลลิเมตร มีขนยาวห่าง ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 3 พู กางออก ผลสด มีก้านอวบใหญ่ ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร สีส้ม ผลทรงกลมรีอยู่ตรงปลาย เมื่อสุกสีน้ำตาลแดง เมล็ดโค้งงอรูปพระจันทร์ครึ่งซีก ผิวขรุขระ มีรอยแผลเป็นของก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ด้านข้าง มีขนสั้นนุ่ม ผนังผลชั้นในรูปไข่กลับ ยาว 5 มิลลิเมตร ด้านบนมีสันขวาง 9-11 สัน เรียงเป็น 2 แถว ชัดเจน ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดหรือเหง้า พบในป่าดิบ ป่าผลัดใบ และป่าไผ่ ตามริมแม่น้ำลำธาร ออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงธันวาคม เถาและใบคั้นเอาน้ำเมื่อผสมกับเครื่องปรุงอาหาร จะมีลักษณะเป็นวุ้น รับประทานเป็นอาหาร

ภาพ/เนื้อเรื่อง โดย www.google.com

วิดีโอ www.youtube.com