กระเป๋าจากการสานเส้นพลาสติก

อำเภอเวียงหนองล่องเป็นอำเภอขนาดเล็ก ซึ่งแต่เดิมเป็น
กิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง และได้ยกฐานะเป็นอำเภอ
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2550 อำเภอเวียงหนองล่อง
ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัด

ตำบลหนองยวง มีหมู่บ้านทั้งหมด 5 หมู่บ้าน
1.บ้านเหล่าดู่
2.บ้านห้วยปันจ๊อย
3.บ้านหนองยวง
4.บ้านหัวห้วย
5.บ้านล้องเครือกวาว

โดยมีประชากร 3,781 คน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร เช่น ทำนา ปลูกผัก ทำสวนลำไย เป็นต้น 

การสานตะกร้าจากเส้นพลาสติก

กลุ่มจักรสารตะกร้าจากเส้นพลาสติก

บ้านหนองยวง

ความเป็นมาของการเกิดอาชีพ

การจัดการศึกษาอาชีพในปัจจุบันมีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นการพัฒนาประชากรของประเทศให้มีความรู้ความสามารถ และทักษะในการประกอบอาชีพ เป็นการแก้ปัญหาการว่างงานและส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่ เศรษฐกิจชุมชน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดยุทธศาสตร์ภายใต้กรอบเวลาที่จะพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ใน 5 กลุ่มอาชีพใหม่ ให้สามารถแข่งขันได้ใน 5 ภูมิภาคหลักโลก “รู้เขา รู้เรา เท่าทัน เพื่อแข่งขันได้ในเวทีโลก” ตลอดจนกำหนดภารกิจที่จะยกระดับการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถให้ประชาชนได้มีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง

โดยเน้นการบูรณาการให้สอดคล้องกับศักยภาพด้านต่างๆ มุ่งพัฒนาคนไทยให้ได้รับการศึกษา

เพื่อพัฒนาอาชีพและการมีงานทำอย่างมีคุณภาพทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ประชาชนมีรายได้มั่นคง และมีงานทำ อย่างยั่งยืน มีความสามารถเชิงการแข่งขันทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับสากล ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิตในรูปแบบใหม่ที่สร้างความมั่นคงให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ

ในสภาพปัจจุบันมนุษย์เราได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก 

เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นแต่ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้ไปอย่างรวดเร็ว และไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่มนุษย์จะต้องสร้างขึ้นหรือทดแทนโดยวิธีการต่างๆเพื่อการอยู่รอด

กระเป๋าและตะกร้าสานพลาสติก ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มแม่บ้าน
หนองยวงที่ได้นำทักษะการสานวัสดุที่มีความแข็ง เช่น วัสดุไม้ไผ่ หวาย ใบจาก ใบตอง ที่หาได้จากธรรมชาติให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระติบข้าว หวดนึ่งข้าว ตะกร้า กระบุง มาต่อยอดเพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนบ้านหนองยวง เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันทางการตลาดในปัจจุบัน โดย คุณกาญจนา ฟองฝั้น เป็นผู้จัดตั้งกลุ่มจักรสารตะกร้าจากเส้นพลาสติกบ้านหนองยวง ซึ่งเป็นอาชีพงานหัตถกรรม เพื่อสร้างรายได้ แก่ชุมชนบ้านหนองยวง


ด้วยเหตุนี้ทาง ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเวียงหนองล่อง โดย กศน.ตำบลหนองยวง จึงได้นำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และความจำเป็น ดังกล่าวสู่การปฏิบัติ
เพื่อการพัฒนาหลักสูตรอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมาย และประชาชนมีรายได้ และมีอาชีพเสริมจากการสานกระเป๋และตะกร้าจากเส้นพลาสติกเป็นภาชนะใช้สอย มีสีสันสวยงาม คงทน มีความน่าสนใจ เหมาะสำหรับนำไปใช้สอยและเป็นของฝาก ผู้ที่สนใจควรศึกษาหาความรู้และฝึกปฏิบัติจนเกิดความชำนาญ สามารถนำ ไปประกอบอาชีพให้กับตนเองได้


รูปภาพ คุณกาญจนา ฟองฝั้น

คุณกาญจนา ฟองฝั้น หรือ คุณอ้อม อาศัยอยู่
บ้านหนองยวง เลขที่ 73 หมู่ที่ 3 ตำบลหนองยวง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ปัจจุบันอายุ 50 ปี ประกอบอาชีพสานตะกร้าและกระเป๋าจากเส้นพลาสติก

แต่ก่อน คุณอ้อมได้ทำงานในโรงงานบริษัทเอกชน ต่อมาบริษัทได้ปิดตัวลง คุณอ้อมจึงได้เริ่มมาประกอบอาชีพที่หมู่บ้านของตนเอง ต่อมาคุณอ้อมได้ริเริ่มการสานตะกร้าและกระเป๋าจากเส้นพลาสติก เมื่อปี พ.ศ.2559 และกระแสตอบรับของตะกร้าและกระเป๋าจากเส้นพลาสติกดีมาก จึงได้จัดตั้งกลุ่มจักรสารตะกร้าจากเส้นพลาสติกบ้านหนองยวง

วัสดุ/อุปกรณ์ที่ใช้ในการสานกระเป๋าและตะกร้า

1. เส้นพลาสติกสีต่างๆ

2. สายวัด

3. กรรไกร

4. ลวดหนา

5. ท่อยางใส (ใช้ทำหูหิ้ว)

การสานตะกร้าจากเส้นพลาสติก

ขั้นตอนการผลิต

1. เลือกสายพลาสติก และสีสันที่ชอบ เพื่อให้เกิดลวดลายสวยงาม ได้พื้นสีดำ (สีสมมติ)  กับทำลายเป็นสีขาว  (สีสมมติ)

2. ตัดเส้นพลาสติก สีดำ (สีสมมติ)  ยาว 28 นิ้ว จำนวน 14 เส้น (วิธีตัดต้องให้เป็นปลายเฉียงๆ เพื่อง่ายต่อการสอดสานกัน  และจำนวนเส้นขึ้นอยู่กับขนาดของผลิตภัณฑ์ที่จักสาน)

3. เริ่มจากวางเส้นพลาสติก 7 เส้น  เรียงให้เสมอกัน เทคนิคคือเอาสมุดหนาๆ  มาทับไว้ไม่ให้เส้นพลาสติกเลื่อนไปมา และนำอีก 7 เส้นมาขัดกันเป็นกากบาท  ให้อยู่กึ่งกลาง และสลับขึ้นลงบนล่าง และจัดเส้นให้เท่ากัน

4. นำเส้นข้างใต้เส้นประมาณเส้นที่ 3 ที่อยู่ข้างใต้นำมาสอดและเป็นการล็อค ทั้ง 2 ฝั่งซ้าย ขวา  และทำการล็อคเช่นเดียวกัน ทั้งด้านบนและด้านล่าง

5. พับเส้นทุกเส้นตามรอยที่เป็นขอบของการสานเป็นการขึ้นรูปตะกร้า

6. เริ่มการตัดเส้นสีขาว (สีสมมติ) เพื่อนำขึ้นรอบทำลายของตะกร้าใช้ความยาว 18 นิ้ว จำนวน  11  เส้น (วิธีตัดต้องให้เป็นปลายเฉียงๆ เพื่อง่ายต่อการสอดสานกัน จำนวนเส้นขึ้นอยู่กับขนาดของผลิตภัณฑ์ที่จักสาน)

7. จากนั้นนำเส้นสีดำ (สีสมมติ) ที่ล็อคไว้ออกถอยออกมา เพื่อเป็นการเตรียมเริ่มสานขึ้นรูป

8. ทำการขึ้นเส้นสีขาว (สีสมมติ) มาขัดไปมายึดเกณฑ์จากตรงกลางของเส้นทั้งหมดก่อน สลับไปมาเป็นตารางไปเรื่อย ๆ

9. ชั้นที่ 2 ดันเส้นให้ชิด ก็สานสลับกันไปเป็นชั้นๆ โดยจะต้องมีการล็อคเส้นเพื่อไม่ให้เลื่อนไปมาเสมอ

10. พอสานไปจนใกล้ขอบก็ทำการเหน็บเส้นให้ไปทางเดียวกัน ทิ่มลงไปทางก้นตะกร้า เพื่อเตรียมเอาเส้นสีขาวมาทำขอบ

11. เริ่มทำขอบนำเส้นพลาสติกสีขาว (สีสมมติ) 2 เส้นประกบกัน แล้ววางทาบไปกับขอบตะกร้าดึงเส้นสีดำ (สีสมมติ) ที่ล็อคดึงกลับมา แล้วก็สานทับไปกับขอบเส้นสีขาว (สีสมมติ) แต่ต้องสลับลายสีไปด้วยเพื่อเป็นการสร้างขอบตะกร้าให้เกิดลวดลาย  ทำอย่างนี้ทุกเส้นรอบตะกร้า

12. ขั้นทำการเก็บชาย ตัดชายให้สั้นพอดีกับการซ่อนลายได้แล้วก็เหน็บเก็บเข้าไปด้านใน ทำทุกเส้นเพื่อความเรียบร้อย

13. การทำหู ตัดเส้นพลาสติก 2 เส้น แล้วนำมาตัดผ่าครึ่ง

14. เพื่อนำไปถัดสานขัดกันไปมานั้นไขว้เส้นพลาสติก 2 เส้นเข้าหากัน โดยจะเรียงเป็น 4 เส้น

การถัก คือ นำเส้นซ้ายสุด  มาไขว้อ้อมไปด้านหลังวกกลับของเส้นที่ 3 ต่อด้วยนำเส้นขวาสุด

นับถอยหลังไปไขว้ด้านหลังวกกลับเส้นที่ 3 เช่นกัน ทำสลับไปมาอย่างนี้จนสุดปลายพลาสติก

15. นำมาติดหูที่ตัวตะกร้าโดยการรวบเส้นของหูเข้าด้วยกัน แบ่งแยกเป็น 2 ข้าง แล้วร้อยเข้ากับตัวตะกร้า สานเป็นลวดลาย แล้วทำการเก็บปลายเส้นให้เรียบร้อย สำหรับเป็นหูหิ้วหรือแขวนก็ได้หรือนำมาสอดใส่ในสายยางพลาสติกแล้วนำไปติดหูที่ตัวตะกร้าแทนก็ได้

จากเส้นพลาติกที่ดูธรรมดา จึงนับว่าเป็นอาชีพหนึ่งในชุมชนบ้านหนองยวงที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองยวงและประชาชนที่สนใจในการสานกระเป๋าและตะกร้าจากเส้นพลาสติก สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ และที่สำคัญกลุ่มที่สนใจส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ การสานกระเป๋าและตะกร้าจากเส้นพลาสติกยังช่วยในการแก้ไขปัญหาโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุอีกด้วย เนื่องจากสานกระเป๋าและตะกร้าจากเส้นพลาสติกจะต้องใช้สมาธิและความจำ

กระเป๋าจากการสานเส้นพลาสติก

ข้อมูลการติดต่อ : นางกาญจนา ฟองฝั้น (คุณอ้อม)


โทรศัพท์ : 062 - 2764114


ที่อยู่ : 73 หมู่ที่ 3 ตำบลหนองยวง
อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน

ข้อมูลเนื้อหาโดย : นางกาญจนา ฟองฝั้น (โทรศัพท์ : 062 - 2764114)

เรียบเรียงเนื้อหาโดย : นายรัชชานนท์ เงินมีศรี ครู กศน.ตำบลหนองยวง

ภาพถ่าย : นายรัชชานนท์ เงินมีศรี ครู กศน.ตำบลหนองยวง