แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญา

ผ้าทอมือลายตาตั้ง

ตำบลนิคมพัฒนาแต่เดิมมีอาชีพหลักคือการทำการเกษตรกรรม ภายหลังชาวบ้านสามารถทำนาปีได้เพียงครั้งเดียวต่อปี เนื่องจากน้ำที่ใช้ในการทำการเกษตรไม่พียงพอต่อการทำนาปรัง หลังจากเสร็จจากการทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลักแล้ว จึงมีแนวคิดรวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งการทอผ้าพื้นเมืองขึ้นมา และทำให้เกิดการร่วมกลุ่มจัดตั้งเป็นกลุ่มผ้าทอมือขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2541 โดยกลุ่มสตรีหมู่บ้านชัยมงคล หมู่ที่ 2 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นเนื่องจากเป็นวิถีของคนในหมู่บ้าน การรวมกลุ่มนี้ทำให้สมาชิกในกลุ่มมีรายได้เพิ่มจากอาชีพหลักจึงทำให้ผ้าทอ กลายเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านตำบลนิคมพัฒนาสืบต่อมาโดยใช้กี่กระตุกในการทอ ใช้คนในการทอผ้าแต่ละผืน ซึ่งมีความโดดเด่นในเอกลักษณ์เรื่องลายของผ้าทอ “ลายตาตั้ง” ที่ไม่เหมือนกับที่อื่น โดยมีนางพรรณี อุปทอง เป็นประธานกลุ่มทอผ้าบ้านชัยมงคล และมีความสามารถในการทอผ้าลายตาตั้ง

จุดเด่นของภูมิปัญญา ผ้าทอลายตาตั้งเป็นการทอผ้าด้วยกี่กระตุก ใช้คนในการทอ จึงมีความละเอียด ลวดลายสวยงาม เป็นลายเอกลักษณ์ของกลุ่ม แต่เดิมกลุ่มทอผ้าบ้านชัยมงคล ทอผ้าและตัดเย็บเป็นผ้าถุง ผ้าขายม้าเพียงอย่างเดียว ทำให้การตลาดค่อนข้างมีจำกัด ต่อมาได้ต่อยอดพัฒนาศักยภาพกลุ่มโดยเรียนรู้เรื่องการตัดเย็บ แปรรูปผ้าทอเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อ กระเป๋า พวงกุญแจ โดยได้รับการสนับสนุนจาก กศน.อ.เมืองลำปาง ในปีงบประมาณ 2557 และ 2558 และขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านชัยมงคล

ลวดลายของผ้าทอลายตาตั้งนั้นมีลักษณะเป็นแนวตั้งตลอดทั้งผืน ส่วนสีสันจะเป็นสีทึบ ไม่สดใส ซึ่งพื้นสีของผ้าทอเป็นสีดำทำให้เมื่อนำไหมสีมาเพิ่มลวดลายทำให้ผ้าทอนั้นกลายเป็นสีทึบทั้งผืน ทางกลุ่มได้ประยุกต์โดยการนำผ้าทอลายตาตั้งมาปรับรูปแบบโดยการผสมผสานลวดลายและสีสันบนเสื้อ กางเกง และเครื่องประดับ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของหลายกลุ่มอายุ และเป็นแผนการทำงานของกลุ่มในอนาคต และในปี 2563 ได้รับรางวัลชมเชยการคัดเลือกผลิตภัณฑ์/สินค้ากศน.พรีเมียม ระดับจังหวัด ประจำปี 2563 ของสำนักงานกศน.จังหวัดลำปาง